“มธ.”เผยผลสำรวจเอสเอ็มอี คาดการณ์ศก.ปีหน้าโต 3.79% ห่วงปัจจัยการเมือง-ความต่อเนื่องนโยบายรัฐบาล(ชมคลิป)

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ คณะทำงานฝ่ายสัมมนา และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกี่ยวกับทิศทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 643 ราย ในระหว่างวันที่ 15-25 ธันวาคม 2561 ซึ่งพบว่า ในด้านการลงทุน เอสเอ็มอีส่วนใหญ่หรือคิดเป็น 52% ปรับแผนการลงทุนต่ำกว่าที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปี สอดคล้องกับด้านสภาพคล่องที่ยังมีความเสี่ยง โดยเฉลี่ยเอสเอ็มอีระดับกลาง มีเงินหมุนเวียนเฉลี่ย 54 วัน ขณะที่เอสเอ็มอีระดับเล็กมีเงินหมุนเวียนเฉลี่ย 35 วัน ส่วนด้านรายได้ กำไร หนี้สินและต้นทุนคิดเป็น 44% 45% 65% และ 53% ตามลำดับ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้เมื่อต้นปี

“อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ขยายตัวได้ในระดับ 4% หรืออาจจะเพิ่มเป็น 5% มาจากการเติบโตของบริษัทใหญ่ๆ กว่า 50,000 บริษัท แต่ยังมีเอสเอ็มอีอีกประมาณเกือบ 3 ล้านราย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีการจ้างงานนอกระบบที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของจีดีพีน้อยกว่า รวมถึงการกระจายตัวของเศรษฐกิจรากหญ้า และกำลังซื้อพื้นฐานที่ยังไม่ฟื้น โดยจะเห็นว่าเอสเอ็มอีจำนวน 1 ใน 3 มีกำไรลดลง ขณะที่กำไรภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 2% น้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีกำไรประมาณ 8-12%” นายเกียรติอนันต์กล่าว

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า ส่วนแผนการลงทุนและทำธุรกิจในปี 2562 เอสเอ็มอีมองเรื่องการลงทุนต่ำกว่าแผนที่วางไว้ ขณะทเดียวกันในด้านสภาพคล่อง รายได้ กำไร หนี้สินและต้นทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ เนื่องจากมองว่าภาพปีหน้าจะใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตามเอสเอ็มอีกังวลเรื่องการจ้างงานมากที่สุด โดยอยู่ในระดับติดลบ 0.78% เนื่องจากการลดการจ้างงานเป็นการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 40-70% ของต้นทุนธุรกิจ

“สำหรับดัชนีวัดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อธุรกิจ เอสเอ็มอีกังวลเรื่องปัจจัยการเมืองมากที่สุด ความเสี่ยงอยู่ในระดับสีแดง หรืออยู่ในระดับ 81.4% เนื่องจากกังวลเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย การช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันหากหลังการเลือกตั้งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นจะทำอย่างไร ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่การเมืองเปลี่ยน เศรษฐกิจจะได้รับกระทบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบก่อน เนื่องจากสภาพคล่องหรือการหมุนเวียนเงินน้อย รองลงมาเป็นเศรษฐกิจไทย 78.2% เศรษฐกิจโลก 67.3% การขาดแคลนบุคลากร 64.3% และการแข่งขันที่สูงขึ้น 62.8% รองลงมาในระดับปานกลางเป็นเรื่องต้นทุนค่าแรง ความต้องการของตลาดที่ลดลง อัตราแลกเปลี่ยน การขาดแคลนแหล่งเงินทุน การขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนทิศทางการปรับตัวของเอสเอ็มอี สิ่งที่เอสเอ็มอีให้ความสำคัญส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการทำตลาดออนไลน์ การปรับโครงสร้างธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่ในด้านการสร้างแบรนด์ การปรับโมเดลธุรกิจใหม่ การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น จะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ แต่เอสเอ็มอีให้สำคัญน้อยกว่า เพราะฉะนั้นในระยะยาวจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง” นายเกียรติอนันต์กล่าว

Advertisement

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า และในด้านอุปสรรคการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นในปี 2562 พบว่าเอสเอ็มอีขาดเป้าหมายที่ชัดเจน คิดเป็น 84.2% ไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ 82.1% ไม่ทราบว่าจะได้รับประโยชน์ด้านใด 77.3% หรือโดยรวมกว่า 80% เอสเอ็มอีไทยยังไม่มีเป้าหมายว่าจะปรับตัวอย่างไร ขณะที่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็ดีใช้เวลาปรับตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะเอสเอ็มอียังมีการดำเนินธุรกิจแบบระยะสั้นหรือคิดแบบพ่อค้า ซื้อมาขายไป จะต้องปรับแนวคิดการทำธุรกิจหรือมายด์เซ็ทให้เป็นแบบนักธุรกิจ โดยการวางแผนธุรกิจระยะยาว

“อย่างไรก็ตามนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) อาจจะไม่ใช่กลไกที่ทำให้เม็ดเงินลงไปถึงเอสเอ็มอีมากนัก โดยประเมินว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรคนจน จากการซื้อสินค้าจำเป็นหรือชำระหนี้ก็ดี จะมีเงินลงไปถึงร้านค้าเอสเอ็มอีแค่ 30% ขณะที่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตหรือศูนย์การค้ามากกว่า ทั้งนี้เอสเอ็มอีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปัหน้าจะขยายตัว 3.79% น้อยกว่าคาดการณ์เศรษฐกิจ”นายเกียรติอนันต์กล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image