ศอตช.ระบุ “อุทยานราชภักดิ์”ไม่ทุจริต ไม่มีค่าหัวคิว มีแต่ค่าที่ปรึกษา ไม่ขัดระเบียบ

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศอตช. พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสตง. และนายยงยุทธ์ มะลิทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ร่วมกันแถลงผลสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว

ศอตช.เผยโครงการอุทยานราชภักดิ์ ไม่พบทุจริต ไม่มีค่าหัวคิว มีแต่ค่าที่ปรึกษา ไม่ขัดระเบียบ บิ๊กต๊อก ระบุ บิ๊กโด่งเข้าใจผิด คำว่า”ค่าหัวคิว”

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 23 มี.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายยงยุทธ์ มะลิทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงผลสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการสรุปผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เรื่องการหักค่าหัวคิว 2.การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และ 3.การใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งใน 3 ประเด็นหลักก็จะมีประเด็นปลีกย่อย ซึ่งครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลัก ตนเคยพูดเรื่องการหักค่าหัวคิวก่อนหน้านั้น แต่ก็ยังก็ยังไม่รู้ว่าการหักค่าหัวคิวเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร

นายประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องการหักค่าหัวคิว เพราะเรื่องนี้มีการพูดกันต่อเนื่องมานานแล้ว ป.ป.ท. จึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานพร้อมทั้งสอบปากคำจากภาครัฐและภาคเอกชน เท่าที่ได้เอกสารหลักฐานทั้งหมดสรุปได้ว่า มีการจ่ายเงินจริงทั้งสองฝ่ายคือภาคเอกชนและเอกชน ซึ่งเป็นการให้ค่าตอบแทนการชักนำผลงานมาให้ เมื่อป.ป.ท.ดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกไปถึงจำนวนเงิน ซึ่งมีวงเงิน 6-7 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง พอไปดูงานค่าจ้างของแต่ละรายราคาก็เป็นไปตามท้องตลาด ซึ่งเบื้องต้นไม่พบข้อพิรุธอะไร เพราะสามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ กรณีที่มีคนหางานมาให้

Advertisement

1089813

ด้าน นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สตง. ได้ตรวจสอบประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเราก็ได้ตรวจสอบแบบครบวงจร โดยตรวจสอบปัญหาใน 5 ประเด็น 1.เงินบริจาค ที่มีคนเป็นห่วงว่าจะเป็นการใช้จ่ายไม่ถูกต้องหรือไม่ 2.การจัดซื้อจัดจ้าง ว่าเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ 3.เนื้องาน ว่าครบด้านบริหารและเป็นไปตามลักษณะเนื้อโลหะที่นำมาใช้ถูกต้องหรือไม่ 4.ตรวจสอบว่ามีการหักหัวคิวหรือไม่ และ 5.เงินกองทุนมีการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งสรุปได้ว่า เรื่องรับเงินบริจาคแล้วใช้บัญชีสวัสดิการกองทัพบก แต่เงินที่เข้าบัญชีแยกออกเป็นสองส่วน คือ แยกเป็นเงินที่บริจาคอยู่ในบัญชีต่างหาก ไม่ได้ปะปนกับเงินสวัสดิการกองทัพบก ซึ่งมี 6 ธนาคารที่เปิดรับเงินบริจาคเข้าบัญชี ซึ่งปัจจุบันได้ปิดเหลือเพียง 1 บัญชีแล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีการบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างถูกครบถ้วนมาตลอด

1089808

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อเกิดประเด็นขึ้นมาทางกองทัพก็ได้ปิดบัญชีและได้สรุปตัวเลขที่บริจาคมาทั้งหมด ซึ่งสอตง.ได้ถอดเทปว่าใครมีการแสดงตัวในการบริจาคบ้าง นอกจากนั้น ตัวเลขทั้งหมดมีการรับผ่านบัญชีเป็นจังหวะเวลาที่มีปัญหาได้ตัวเลขทั้งหมด 733 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท โดยมีทั้งค่าองค์พระกว่า 318 ล้านบาท และค่าจัดทำเหรียญ 105 ล้านบาท ซึ่งมียอดเงินคงเหลือ 140 ล้านบาทเศษ และยืนยันว่ามีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ ส่วนงบประมาณกลาง 63 ล้านบาท 5 โครงการ เหลือ 1 โครงการ จำนวน 9 ล้านบาท ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ อีกทั้ง ยังผูกพันกับงบประมาณกลาง ส่วนเงินของกองทัพบกที่นำมาใช้ทำรั้วในพื้นที่อุทยานฯทั้งหมด 27 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีผู้บริจาคเป็นสิ่งของ เช่น วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทางกองทัพก็ได้เบิกเงินในส่วนนี้มาใช้เป็นค่าแรง ค่าน้ำมัน และค่าเครื่องจักร ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากผู้มีจิตศรัทธา ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีการซื้อต้นไม้ในราคาที่แพงเกินจริง ซึ่งจากการตรวจสอบก็ไม่พบ เป็นแต่เพียงต้นไม้ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมา ซึ่งมีการคิดเพียงแค่ค่าแรงกับค่าน้ำมัน เป็นเงิน 4 ล้านบาท ส่วนการโยกย้ายต้นไม้เข้ามาปลูกยังพื้นที่ของอุทยาน ทางผู้บริจาคเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และก็มีการนำต้นไม้ไปขาย เพื่อจะได้หารายได้เพิ่มเติม

1089810

ผู้ว่าฯสตง. กล่าวต่อว่า เราตรวจสอบในข้อเท็จจริงและการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่ โดย 2 สัญญา ไม่พบว่ามีการกระทำผิดระเบียบราชการ และเนื้องานหรือเนื้อโลหะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะสมบูรณ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องมีผิวขรุขระบ้าง จึงไม่ข้อสังเกตอะไรในประเด็นนี้ ส่วนวัสดุจากตัวองพระ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด รวมถึงมีเอกสารการนำเข้าอย่างถูกต้อง และราคากลางก็ยังเป็นไปตามท้องตลาด โดย สตง. ได้ขอขมาองค์พระทั้ง 7 ก่อนจะตัดชิ้นส่วนโลหะที่องค์พระ เพื่อส่งไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทราบว่าเป็นไปตามเอกสารหลักฐานทั้งหมด และมีคุณภาพ จึงยืนยันว่าไม่มีข้อสงสัย

ทั้งนี้ การหักค่าหัวคิวทั้งจากหลักฐานทางการเงินและสอบปากคำของ 5 โรงหล่อ ที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่ปรึกษา เพื่อให้ได้งานนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตรงกันว่า มีการจ่ายค่าจ้างให้กับเซียนอุ๊ 7 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะที่ปรึกษา และจากการตรวจสอบประวัติของเซียนอุ๊ ทราบว่าเป็นคนมีฐานะทางสังคมและเป็นที่ปรึกษาทั้ง 5 โรงหล่อ รวมทั้งมีกิจการโรงหล่อของตัวเอง โดยผลงานที่ผ่านมา มีการสร้าง หลวงปู่ทวด ขนาดหน้าตักกว้าง 24 เมตร บนถนนสายเอเชีย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เงินจากการเป็นที่ปรึกษาของ 5 โรงหล่อ เป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเช็ค 5 ฉบับ ซึ่งมีตัวเลขลดหลั่นกันไป

ศอตช.ระบุ "อุทยานราชภักดิ์"ไม่ทุจริต ไม่มีค่าหัวคิว มีแต่ค่าที่ปรึกษา ไม่ขัดระเบียบ

นอกจากนี้ การที่เซียนอุ๊เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ จากงบประมาณในการสร้างองค์พระ 70 ล้านบาท เหลือเพียงองค์ละประมาณ 45 ล้านบาท ซึ่งในทางราชการหมายถึงราชการได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ หลังจากนั้น เซียนอุ๊ได้นำเงิน 20 ล้านบาท มาบริจาคให้มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ในพระราชูปถัมภ์ฯ ในนาม 5 โรงหล่อ ซึ่งมีเอกสารการออกใบเสร็จว่าเซียนอุ๊ได้มาบริจาคจริง ซึ่งการที่ 5 โรงหล่อให้ค่าที่ปรึกษาให้เซียนอุ๊เป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนยินยอมในการให้ค่าที่ปรึกษาและค่าแนะนำงานมาให้ ทั้งนี้ ทางมูลนิธิสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์มีเงินในบัญชี ณ ขณะนี้ 108 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งทาง สตง.ได้ตรวจสอบภาพรวมโดยทั้งหมดแล้ว เท่าที่ดูไม่มีการตกแต่งบัญชี ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตที่เอาเงินบริจาคมาคืนหน่วยงานราชการ แต่เป็นการเงินมาบริจาคด้วยความสมัครใจ

กรณีนี้เอกชนจึงไม่ผิด ส่วนประเด็นที่ระบุว่าเงินกองทุนสวัสดิการกองทัพบก เนื่องจากตามระเบียบกองทัพมีการตรวจสอบบัญชี และภายในขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ทรัยพ์สินอุทยานยังเป็นของทรัพย์สมบัติของราชการ ยังไม่ได้โอนให้กับมูลนิธิฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงว่าเอกชนกับเอกชนนำเงินหลวงไปจ่ายเป็นค่าส่วนตัวได้ใช่หรือไม่ ผู้ว่าสตง.กล่าวว่าในทางการตรวจสอบทางเอกชนถ้ามีการให้คำปรึกษาและมีข้อตกลงอะไรเป็นเรื่องที่เขาสามารถทำได้ ซึ่งเราได้ติดตามการลงบัญชี รวมทั้งติดตามเรื่องการเสียภาษีอย่างถูกต้องอีกด้วยทั้งในส่วนของ 5โรงหล่อและเซียนอุ๊ด้วยนั้น ฝ่ายหนึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นเงินรายได้ ซึ่งจะต้องนำไปสู่การเสียภาษีอย่างถูกต้องตามตัวเลขที่สตง.ได้หลักฐานมา

เมื่อถามว่าอีกว่า ถ้าอย่างนั้นหากมีการนำงานของรัฐให้บริษัทเอกชนแล้วมีการจ่ายเงินค่าตอบแทน ได้หรือไม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า อันนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะกรณีนี้หากพิจารณาว่าเป็นงานศิลปกรรมแล้วบอกว่ามีเหตุจำเป็นต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอดเวลา จึงต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้อย่างเซียนอุ๊ ซึ่งจะผิดจากสนามฟุตซอล ห้องเรียน AECเพราะค่างานจะหายไป30%และแบ่งปันกำไรให้กับเจ้าหน้าที่20% ซึ่งจะทำให้เนื้องานเหลือเพียง 20-30%แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบราคากลางของโครงการนี้ไม่มีปัญหาความเหมาะสม ซึ่งภาคเอกชนรู้ดีว่าสมควรจ่ายหรือไม่ เพราะหากได้เนื้องานและลงบัญชีไว้อย่างถูกต้องเราคงไม่สามารถไปสมมติแล้วนำไปเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะหากมีราคากลางสูงเกินความจริงจากท้องตลาดจึงจะมีค่าหัวคิว นั้นจะแตกต่างมีเจ้าหน้าที่รัฐไปเร่งโดยเป็นการกระทำร่วมกันระหว่างเอกชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่กรณีเป็นเรื่องระหว่างเอกชนจ่ายให้เอกชน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้เรียกว่าค่า บริหารจัดการ ซึ่งรวมราคากลางรวมเรียกค่าโซหุ้ยได้ ทั้งนี้เอกชนยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องมีผู้ให้คำแนะนำ ส่วนจะมีอะไรมากกว่านี้หรือไม่ต้องไปพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นนายจตุพรได้ลุกขึ้นยืนถาม พล.อ.ไพบูลย์ว่า กรณีที่แถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการทำข้อสอบรั่วหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ดุดมเดช ออกมาระบุว่าไม่พบการทุจริต ต่อมาผู้ว่าฯสตง.ออกมาการันตรีว่าไม่มีการทุจริต ประเด็นต่อมาคำว่าที่ปรึกษาเกิดขึ้นหลังจากมีประเด็นค่าหัวคิวใช่หรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งเซียนอุ๊เป็นนายก อบต. ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นการรับเงินถือเป็นเรื่องที่ผิด

image

ผู้ว่าฯ สตง.ชี้แจงกลับว่า ที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์เป็นการชี้แจงสื่อมวลชน เพราะตนมีหน้าที่ตอบคำถาม และได้ไปพบ พล.อ.ดุดมเดช ไม่ได้ไปรายงาน แต่ไปหาข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สังคมจะเข้าใจยังไงก็แล้วแต่

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้ พล.อ.อุดมเดชยืนยันมาตลอดว่าไม่ผิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเรื่องนี้มีหลายหน่วยเคยตรวจสอบ เป็นขั้น เป็นตอน และที่ผ่านมายังเคยต่อว่าตนด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าคำถามของนายจตุพรว่าต้องการสื่ออะไร จากข้อสรุปที่ป.ป.ท.ไปสอบถาม พล.อ.อุดมเดช เพราะท่านเป็นพูดคำนี้ออกมา พล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่าพลาด พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่าหัวคิว ตนไม่พูดกับท่าน(พล.อ.อุดมเช)มานานมาก เกรงว่าจะกลายเป็้นประเด็น จนกระทั่งการตรวจสอบจบลงจึงได้ไปเรียนให้ทราบว่าที่ท่านพูดว่ามีหัวคิวมันผิดกฎหมาย แต่ความจริงมันเป็นอีกเรื่อง และเมื่อไปตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนา เหตุการณ์เกิดจากผู้สื่อข่าวซักถามและมีการตอบคำถามกันไปมาจึงหลุดคำว่าหัวคิวออกไป โดยไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีการ ส่วนเรื่องเซียนอุ๊ที่เป็นข้าราชการก็ส่งให้ ปปท.ตรวจสอบไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีการทุจริต แล้วจะกระทบต่อภาพลักษณ์ คสช.หรือไม่ เพราะสังคมจับตามองว่า คสช.จะคลีคลายไปในทางที่ดี

พล.อ.ไพบูลย์ ตอบกลับว่า ไม่มีทุจริต บนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีขีดสามารถทำให้ชาวบ้านเชื่อหรือไม่เชื่อได้ ใครมีข้อมูลเพิ่มก็ให้ส่งมา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ตรวจสอบหากไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงก็จะโดนตรวจสอบเหมือนกัน ก็ขอขอบคุณนายจตุพรที่ห่วงใยบ้านเมือง หากมีข้อมูลอะไรก็ส่งมา การตรวจสอบเรื่องนี้ยังไม่เสร็จ ยังมีหน่วยงานรัฐตรวจสอบประเด็นอื่นๆต่อไปอีก

จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่านายเรืองไกรและนายวรัญชัย โชคชนะ พยายามซักถามประเด็นหัวคิว โดยเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ ทำให้พล.อ.ไพบูลย์ ถามย้อนกลับว่า ตนไม่ได้โง่ ขอให้ถามตรงประเด็น อย่าใช้คำถามขยายวงไปเรื่อยๆ เพราะตนตรวจสอบใน 5 ประเด็น นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นต้องตรวจสอบต่อ เช่น ป.ป.ช. กรมสรรพากร ส่วนโลหะจากองค์พระที่ตัดมาพิสูจน์โลหะจะส่งเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ให้เป็นประวัติศาสตร์ หากข้องใจเรื่องราคากลางขอให้ส่งหลักฐานมาให้ตรวจสอบ อย่าพูดไปเรื่อยๆ

ทางด้านนายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ป.ป.ช.จะขอเอกสารจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบในส่วนของประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยต่อไป ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น ในประเด็นเจ้าหน้าที่พบความผิดปกติและมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และอีกหนึ่งประเด็นซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้เพราะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบ

image

นายจตุพร เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าว1 ชั่วโมง ว่า การชี้แจงในครั้งนี้เป็นผลการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ทางพล.อ.อุดมเดช และผู้ว่าฯสตง. ที่ได้ออกมาให้ข่าวผลการตรวจสอบการแถลง ซึ่งพล.อ.อุดมเดช ในฐานะผู้ถูกตรวจสอบ ไม่ควรรู้ผลก่อนเป็นเดือนๆ จึงมองว่าเป็นเหมือนการลักลั่น ข้อสอบรั่ว และวันนี้ตนจึงมาฟังการแถลงข่าวว่าผลสอบจะตรงกับสองหน่วยงานแรกหรือไม่ ซึ่งเห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ในการตรวจสอบยังไม่ยุติ หลังจากนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของ ปปช. ซึ่งเป็นกรรมการชุดที่ 4 ในการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่จะรับไปดำเนินการ โดย เห็นว่า ยังมีช่องว่าง ที่ ปปช. จะไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นผลต่อเนื่องจากการแอบอ้างเบื้องสูง ทั้งนี้ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะส่งมอบให้กับปปช.ต่อไป

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ ยังติดใจกับคำว่า หัวคิว ที่เปลี่ยนเป็นคำว่า ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นวาทกรรมใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นหลังคำว่า ค่าหัวคิว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจผิด เพราะการเสนอราคาต้องมีการบวกค่าหัวคิวหรือค่าที่ปรึกษามาตั้งแต่ต้นแล้วหรือไม่ ดังนั้น ขั้นตอนที่ลักลั่นและโยงใยหลายอย่างก็คงไม่หลุดมาตั้งแต่ต้น และการมาคืนเงินก็เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นมาภายหลังที่เกิดเรื่อง พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาหรือติดใจอะไรกับ พลเอก อุดมเดช เป็นการส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าวมีการถ่ายทอดสดทีวีหลายช่อง พล.อ.อุดมเดช พยายามติดต่อทีมงาน พล.อ.ไพบูลย์และผู้สื่อข่าวเพื่อขอโฟนอินชี้แจงประเด็นที่นายจตุพรกล่าวพาดพิง เรื่องการรู้ข้อมูลล่วงหน้า แต่ทีมงาน พล.อ.ไพบูลย์ ไม่ได้ให้โฟนอินพร้อมทั้งระบุว่าไม่มีการติดต่อจากทีมงานพล.อ.อดุมเดช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image