ศิษย์ มธ.เขียน จ.ม.ถามผู้ชิงอธิการบดี น.ศ.ถูกคุกคามแบบนี้ จะทำเฉย หรือออกหน้าปกป้อง?

ศิษย์เก่า มธ.เขียน จ.ม.เปิดผนึกถึงผู้ชิงอธิการบดี น.ศ.ถูกคุกคามแบบนี้ จะทำเฉย หรือออกหน้าปกป้อง? 

วันนี้ (15 มกราคม) นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อเขียน “จดหมายเปิดผนึกถึงผู้สมัครอธิการบดีธรรมศาสตร์” ผ่านเพจศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โดยระบุว่า

“ในฐานะของศิษย์เก่าคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ติดตามความเป็นไปของสถาบันการศึกษาแห่งนี้มาโดยตลอด รวมถึงมีความห่วงกังวลต่อการแสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สังคมมีความขัดแย้งอย่างลึกซึ้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่านักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มักจะมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างมากต่อสถานการณ์ทางสังคมการเมืองมาโดยตลอด และแน่นอนว่า ด้วยท่าทีในลักษณะเช่นว่าก็มักจะติดตามมาด้วยการคุกคามจากอำนาจรัฐทั้งด้วยวิธีการที่เปิดเผยและวิธีการแบบใต้ดิน

ณ เวลาปัจจุบัน มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจำนวนมากได้ถูกแจ้งข้อหา ถูกจับกุมคุมขัง รวมถึงถูกตัดสินให้มีความผิดเป็นจำนวนมาก สิ่งที่มักจะปรากฏให้เห็นในหลายครั้งก็คือ การช่วยเหลือในระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง หรือไม่ก็เป็นองค์กรสาธารณะอื่นๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ดังที่เป็นข่าวคราวอยู่เสมอ

Advertisement

ในเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกจับกุมและควบคุมด้วยวิธีการซึ่งเห็นกันอย่างชัดเจนว่าเป็นความพยายามใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการกำราบต่อการแสดงออกของนักศึกษา

คำถามสำคัญก็คือว่ามหาวิทยาลัยควรมีบทบาทหรือวางตัวอย่างไรในสถานการณ์ดังที่เป็นอยู่

แน่นอนว่าข้อเรียกร้องและการแสดงออกของนักศึกษาอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่ประเด็นปัญหาก็คือ “การคุกคามต่อเสรีภาพ” ในการแสดงความเห็นซึ่งเห็นได้อย่างประจักษ์ว่าขัดต่อหลักการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งยืนยันในความสำคัญของเสรีภาพจะปล่อยให้การคุกคามเช่นนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีเสียงทักท้วงเลยกระนั้นหรือ โดยปล่อยให้อาจารย์หรือนักศึกษาบางคนเข้าไปแบกรับภาระดังกล่าวโดยไม่ไยดีแม้แต่น้อย

Advertisement

ความก้าวหน้าของสถาบันอุดมศึกษาในโลกปัจจุบันมักถูกชี้วัดด้วยลำดับสูง-ต่ำ ในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยทั่วโลก, การตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารวิชาการที่มีค่า impact สูง, ความเป็นนานาชาติของนักศึกษาในสถาบันของตน เป็นต้น ตัวชี้วัดดังกล่าวนี้มีความหมายอย่างแน่นอน แต่จะมีความสำคัญมากกว่าเสรีภาพของผู้คนในสังคมที่อยุติธรรมหรือไม่ นับเป็นประเด็นที่ควรต้องใส่ใจไม่ใช่น้อย

ในห้วงเวลาที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงมีผู้แสดงตนเข้ารับการสรรหาในตำแหน่งนี้เป็นจำนวนไม่น้อย คำถามเดียวที่ใคร่เรียนถามต่อทุกท่านที่เป็นผู้สมัครในตำแหน่งนี้ก็คือ จะแสดงบทบาทต่อการคุกคามเสรีภาพของนักศึกษาหรือไม่ อย่างไร

หรือว่าเพียงแค่ได้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยระดับโลกก็เพียงพอแล้ว เสรีภาพของผู้คนจะถูกคุกคามและเหยียดย่ำไปมากเท่าใดก็มิใช่เรื่องที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรจะต้องสนใจ”

ย้อนอ่าน : ศึกชิงเก้าอี้อธิการบดีมธ. ‘เกศินี’ ครองใจคณะ-หน่วยงานวิชาการ ได้เปรียบ ‘อุดม’ ยกแรก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image