200 ส.ว.ใหม่ สภาสูงหลากสี ดุลการเมืองขยับ

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ทั้ง 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ ในการเลือกระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะใช้เวลาการเลือกมาราธอนข้ามคืนตั้งแต่รอบแรก มาจนถึงรอบไขว้ 4 สาย กว่า 18 ชั่วโมง จนได้ว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน และรายชื่อสำรองอีก 100 คน

ในแง่ของการจัดการเลือก ส.ว. ย่อมต้องชื่นชมการทำหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมกันดำเนินการจัดเลือก ส.ว.ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด

จนถึงระดับประเทศได้สำเร็จ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ท้วงติง ร้องคัดค้าน ในประเด็นข้อพิรุธต่างๆ ทั้งการบล็อกโหวต ฮั้วคะแนน จัดตั้งบุคคลที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง

กลุ่มบ้านใหญ่ กลุ่มทุน หวังจะให้ส่งผลถึงขั้นการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ เป็น “โมฆะ” ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. ในฐานะผู้จัดการเลือก ส.ว. จะต้องดำเนินการตรวจสอบผ่านคำร้องทั้ง 614 เรื่อง

Advertisement

รวมทั้งข้อร้องเรียนอื่นๆ อีก ที่อาจจะเกิดขึ้นนับจากนี้ เพื่อให้ผลการเลือก ส.ว.เป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใสและเที่ยงธรรม ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ตามที่ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ระบุว่า กกต.จะทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือก ส.ว.ให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม แม้ตามกรอบเวลาอาจต้องรับรองผลการเลือก ส.ว.ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม ไปก่อน

หากพบ ส.ว.คนใด ทำผิดกฎหมายก็สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ จะเข้าลักษณะปล่อยไปก่อนแล้วสอยทีหลัง

Advertisement

ขณะที่ภาพรวมของทั้ง 200 ชื่อว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ ทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ จะพบว่ารายชื่อระดับ บิ๊กเนม ดีเด่น ดัง หลายคน ถูกตีตกไม่ผ่านด่านการเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ โดยชื่อที่ถูกโฟกัสจากทุกฝ่าย คือ

“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลงสมัคร ส.ว.ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในกลุ่ม 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ซึ่งมีกระแสข่าววิเคราะห์กันถึงขั้นถูกวางตัวให้นั่งประธานวุฒิสภา

แต่สุดท้ายกลับพลิกล็อก “ตกรอบไขว้” ในการเลือกระดับประเทศ ไม่ติดแม้กระทั่งรายชื่อบัญชีสำรองในลำดับที่ 11-15 ของว่าที่ ส.ว.กลุ่มที่ 1 นั่น ย่อมส่งผลต่อนัยทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย (พท.)

แม้แกนนำพรรค พท.อย่าง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะออกมาระบุว่า กรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.สะท้อนถึงความนิยมของพรรค พท.ที่ลดลงได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และทำให้เห็นว่าพรรค พท.ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือก ส.ว.

โดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี และไม่เกี่ยวข้องกับกระแสนิยมของพรรค พท. และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลดลง เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน

ส่วนรายชื่อว่าที่ ส.ว. 200 คนนั้น แม้จะมีระดับ “บิ๊กเนม” ทั้งจากอดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านด่านเข้าสภาสูง แต่ยังมีบุคคลจากอีกหลายกลุ่มอาชีพที่เข้าป้ายเอาชนะ “บิ๊กเนม” จากหลายวงการ เข้ามาเป็น ส.ว.จำนวนไม่น้อย เมื่อเชื่อมโยงกับข้อมูล ข้อเท็จจริง กระแสข่าว ผนวกกับการวิเคราะห์ของกลุ่มการเมือง นักวิชาการ

สะท้อนตรงกันว่ากว่า 50% หรือกว่า 100 คน มีความเชื่อมโยงและใกล้ชิดกับกลุ่มการเมือง “ค่ายสีน้ำเงิน” อาทิ “พรเพิ่ม ทองศรี” หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

“บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

“มงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าฯบุรีรัมย์ “อภิชาติ งามกมล” อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ

ขณะที่ ส.ว.จากสัดส่วนอื่นๆ กลุ่ม ส.ว.จากฝ่ายประชาธิปไตยไม่เกิน 30 คน กลุ่มที่อิงกับการเมืองสีแดงบวก-ลบ 10 คน ที่เหลือจะเป็นกลุ่มอิสระ ซึ่งต้องติดตามจุดยืนการทำหน้าที่ ส.ว.อีกครั้ง

โดยเฉพาะการทำหน้าที่ร่วมกับ ส.ว.ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง

การได้ ส.ว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คน นอกจากได้วุฒิสมาชิกที่มีที่มาจากหลายเฉดสี ต่างจาก ส.ว. 250 คน ที่มีจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบ่งสายกันชัดเจนของ 2 ป.

ระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผ่านการโหวตเลือกนายกฯ และการเลือกบุคคลทำหน้าที่องค์กรอิสระ อาทิ กกต. กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ถูกมองว่าเชื่อมโยงตามสัญญาณผู้มีอำนาจ

นอกจากนี้ ส.ว.ชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ตามวาระ 5 ปี นับจากนี้ ยังเป็นการปรับดุลอำนาจนิติบัญญัติของสภาสูง แม้จะไร้ซึ่งอำนาจการโหวตเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส.ทั้ง 500 คนแล้ว

แต่อำนาจการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่องค์กรอิสระข้างต้น ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษในส่วนของคดีทางการเมือง จนถึงขั้นชี้ขาดอนาคตทางการเมืองของหลายคนได้

รวมทั้งอำนาจการกลั่นกรอง ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านจากสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเรือธงของรัฐบาลหลายเรื่อง

ทั้งร่าง พ.ร.บ.กัญชา ที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรค พท. ต้องการปรับแก้ไขดึงกัญชากลับคืนสู่บัญชียาเสพติด ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายกัญชาเสรี ของพรรค ภท.

ที่สุดท้ายต้องไปปรับแก้ไขกฎหมายกัญชา ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเป็นด่านชี้ขาดด้วยเช่นกัน

ส่วนวาระสำคัญ อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งตามขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียง ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง จาก 200 คน ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่หนึ่งและวาระสาม ในการประชุมรัฐสภาที่ต้องอาศัยเสียงข้างมาก ชี้ขาดร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เดินหน้าไปได้

การได้ ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน หากฝ่ายผู้มีอำนาจกลุ่มใดส่งสัญญาณถึงการทำหน้าที่ของวุฒิสมาชิกในสัดส่วนที่เป็นเสียงข้างมาก ย่อมจะมีอำนาจต่อรองในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

ผ่านกลไกการทำหน้าที่ของ ส.ว.ชุดใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image