เขต พระราชวัง พญาไท

เขตพญาไท เป็นเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เกือบสิบตารางกิโลเมตร ที่หนาแน่นด้วยสิ่งปลูกสร้างและผู้คน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ สถานศึกษาและสถานพยาบาลหลายแห่ง อีกทั้งสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารพักอาศัยรวมหรือคอนโดมิเนียมจำนวนมาก
ผู้ที่คุ้นเคยกับถนนพญาไท และวังพญาไท อาจไม่รู้ว่าทั้งถนนพญาไทและวังพญาไทนั้น ปัจจุบันไม่ได้อยู่ใน เขตพญาไท หากอยู่ในเขตราชเทวี เขตใหม่ที่แยกออกไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว

อีกทั้งชื่อ พญาไท นั้นเดิมคือ พระยาไทย ตามหลักฐานในสารบาญชี สำหรับเจ้าพนักงานไปรษณีย์ พ.ศ.2426 สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการแบ่งพื้นที่เป็น คลองพระยาไทยบ้านแขกครัว และคลองพระยาไทยฝั่งใต้ และในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 และ พ.ศ.2453 แสดงให้เห็นแนว คลองพระยาไทย เริ่มจากคลองสามเสน ทางทิศเหนือ ลงมาเชื่อมกับคลองบางกะปิทางทิศใต้ มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

เสียดายว่า คลองพระยาไทย ถูกถมไปเกือบหมดแล้วในปัจจุบัน ทุกวันนี้ยังคงปรากฏทางน้ำในพื้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อเทียบกับแผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่กรุงเทพฯ ล่าสุด จากคลองบางกะปิหรือในปัจจุบันเรียกว่าคลองแสนแสบ คลองพระยาไทยกลายเป็นซอยเพชรบุรี 12 ซอยเพชรบุรี 7 ซอยราชวิถี 15 และอยู่ในพื้นที่ทหารซอยโยธี จนข้ามไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเชื่อมกับคลองสามเสน โดยข้อมูลของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ระบุว่า คลองพญาไท เริ่มต้นจากคลองบางกะปิถึงถนนเพชรบุรี

พระราชพิธีแรกนาขวัญ ที่โรงนาหลวง

ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับ ทุ่งพระยาไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินกว่าพันไร่ ต่อจากทุ่งซ่มป่อยในเขตพระราชฐานสวนดุสิต เพื่อสร้าง โรงนาหลวง สำหรับการทดลองเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยอาศัย คลองพระยาไทย เป็นแหล่งน้ำสำคัญ

Advertisement

มีนามพระราชทานว่า นาหลวงคลองพระยาไทย ที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี แรกนาขวัญ

ในปี พ.ศ.2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ขุดขยายคลองพระยาไทย และปลูกพลับพลาที่ประทับ โดยมีการแก้ไขปรับผังอยู่หลายครั้ง ก่อนที่จะสร้าง พระตำหนักที่ประทับ โดยมีนายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นผู้ออกแบบ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น รูปทรงเรียบง่ายแบบบ้านชาวนาในชนบทของยุโรป และมีหน้าต่างรายรอบ เพื่อเปิดรับลมได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีสะพานเชื่อมต่อตำหนักฝ่ายใน ทั้งนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปลูกผัก เลี้ยงไก่ และทำนา

ด้วยบรรยากาศแบบบ้านสวน อากาศปลอดโปร่ง รับลมท้องทุ่ง ในช่วงปลายรัชกาล พระองค์จึงทรงโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินจากสวนดุสิต มาที่ทุ่งพระยาไทย โดยทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และโปรดที่จะเสวยพระกระยาหารเรียบง่ายที่โรงนาหลวง เช่นเดียวกับฝ่ายใน นำโดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยฝ่ายในและพระบรมวงศานุวงศ์ ก็โปรดที่จะทำนาปลูกข้าว

Advertisement

ดังความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2452 ทรงกล่าวถึงสภาพบ้านเมืองในเวลานั้นว่า …บางกอกเวลานี้ ฝนตกเกือบจะไม่เว้นวัน เรื่องสนุกของชาววังนั้นคือกำลังคลั่งทำนา ตั้งแต่แม่เล็กเป็นต้น ลงดำนาเอง เลี้ยงดูกันเปนหลายวัน ข้อที่เกลียดโคลนนั้นหายหมด ทำได้คล่องแคล่ว …องค์อัจฉรถึงเดินได้ไกลๆ เจ้านายที่จับไข้ออดแอดอยู่ต่างคนต่างสบายขึ้น เห็นจะเปนด้วยได้เดินได้ยืนมากนั่นเอง…

พระตำหนักทุ่งพระยาไทย

ในช่วงเวลาเดียวกับการก่อสร้างพระตำหนักพระยาไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสายหนึ่ง เริ่มต้นจากถนนหัวลำโพง (ถนนพระรามที่ 4) ตอนตรงข้ามปากถนนสี่พระยา ผ่านถนนประทุมวัน (ถนนพระรามที่ 1) ไปตามถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) ผ่านทางรถไฟสายแปดริ้ว ถนนดวงตะวัน (ถนนศรีอยุธยา) ผ่านทุ่งพระยาไทย ไปบรรจบถนนเป้า (ถนนพหลโยธิน) โดยใช้เงินพระคลังข้างที่ ด้วยมีพระราชดำริว่า

…ถนนสายนี้ผ่านมาในที่ของเราคนเดียว เปนประโยชน์แก่เราผู้เดียว เหมือนถนนสี่พญา ซึ่งเราจะไปเกี่ยงเอาเงินศุขาภิบาลมาทำนั้น ไม่เปนธรรม เราควรจะออกเงินพระคลังข้างที่ทำอย่างถนนสี่พญา…
ที่ของเรา ในที่นี้ คือ วังใหม่ ที่สร้างขึ้นเพื่อจะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ถนนที่จะตัดขึ้นใหม่นี้ จะช่วยให้การเดินทางจากพระตำหนักพระยาไทยและสวนดุสิต ไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพงสั้นขึ้น ไม่ต้องไปอ้อมผ่านถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนราชประสงค์ และถนนราชดำริ

ทั้งนี้ยังมี พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ร.ศ.127 พระราชทานชื่อถนนที่จะตัดขึ้นใหม่ ดังนี้

…ถนนพระคลังข้างที่ จะตัดต่อถนน ๔ พระยา ถึงถนนประแจจีน เพื่อจะให้ชื่อประมวลถนน ๔ พระยานี้เป็นพระยาเดียว ให้เรียกว่า ถนนพญาไท ไนยหนึ่งได้ความว่าถนนนั้นมาออกที่สวนตำบลพระยาไท อีกไนยหนึ่งได้ความว่า เป็นถนนที่พระราชาเป็นไท ฤาพระราชาของไท ถ้าลงมือเมื่อไรให้ปักชื่อ คงเรียกได้ง่าย…
ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ที่พระตำหนักพญาไท ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ขานนามว่าวังพญาไท และมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับ การเสด็จพระราชดำเนินมาประทับของพระราชชนนี มีความตอนหนึ่งว่า

…เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2453 เสด็จแม่ได้เสด็จออกจากในพระบรมมหาราชวัง ไปประทับอยู่ที่พญาไท ซึ่งได้เลยเปนที่ประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุ แต่เดิมคิดกันว่า จะถวายพระที่นั่งอัมพร ที่ในพระราชวังสวนดุสิตให้เปนที่ประทับ แต่พระองค์ท่านไม่โปรด และตรัสขอให้สร้างพระที่นั่งถวายใหม่ ในที่สวนสุนันทา แต่ต่อมาภายหลังก็รับสั่งว่าอยู่ที่พญาไททรงสบายดีแล้ว…

ทั้งนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ประทับอยู่ที่วังพญาไท จนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2462

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า วังพญาไทนั้น สมเด็จพระราชบิดาทรงสถาปนาไว้เพื่อประทับสำราญพระราชอิริยาบถ สมเด็จพระราชมารดาก็ประทับอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มเติมอีกหลายหลัง อีกทั้งสถาปนาขึ้นเป็น พระราชวัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดา เป็นหมู่พระที่นั่งที่เชื่อมต่อถึงกัน ประกอบด้วย พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี และพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส โดยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน อยู่ฝั่งตะวันออก พระที่นั่งพิมานจักรีอยู่องค์กลาง อาคารทั้งสองหลังอยู่ฝั่งตะวันออกของคลองพญาไท ส่วนพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส สำหรับฝ่ายใน อยู่ทางฝั่งตะวันตก และมีดุสิตธานี อยู่บริเวณด้านหลัง

พระตำหนักเมขลารูจี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายให้จัดงาน สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ณ สวนลุมพินี เป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าครั้งยิ่งใหญ่ของสยาม เพื่อให้ชาวต่างประเทศรู้จักประเทศสยามและสินค้าต่างๆ มากขึ้น และมีพระราชดำริให้ดัดแปลงพระราชวังพญาไท เป็นโฮเต็ลทันสมัย เพื่อใช้เป็นที่รับรองชาวต่างประเทศที่จะมาชมงาน โดยโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เป็นผู้ดำเนินการ เฉกเช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟที่หัวหิน

แต่โฮเต็ลมิทันเปิดตามแผนงานคือ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2468 (พ.ศ.2469 นับอย่างปัจจุบัน) ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการเปิดเป็นโฮเต็ลต่อ เพื่อสร้างความเจริญให้แก่พระนคร และหารายได้ เพื่อลดพระราชภาระในการดูแลรักษา โดยให้กรมรถไฟทำสัญญาเช่าจากกรมพระคลังข้างที่ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468
โฮเต็ลพญาไทนับเป็นโรงแรมใหญ่และหรูหราที่สุดในเวลานั้น นอกจากสามารถรับรองผู้เข้าพักได้ถึง 72 คน ในขณะที่โรงแรมโอเรียนเต็ล รับรองแขกได้เพียง 40 คนแล้ว ยังมีห้องชุดถึง 4 ห้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ห้องสวีตเดอลุกซ์ หรือรอยัลสูท ที่เดิมคือ ห้องพระบรรทม ชั้น 3 มีราคาแพงถึงวันละ 120 บาท

พญาไทพาเลส หรือโฮเต็ลพญาไท

เป็นที่น่าเสียดายที่ โฮเต็ลพญาไท ดำเนินกิจการทำกำไรเฉพาะในปีแรก หลังจากนั้นก็ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องเรื่อยมา ใน พ.ศ.2473 กรมไปรษณีย์โทรเลขขอเช่าห้องรอยัลสูท เพื่อใช้เป็นห้องส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงพญาไท และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร มีหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2475 สั่งการให้กรมรถไฟเลิกกิจการโฮเต็ลพญาไท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2468 และส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมใช้เป็นกองเสนารักษ์ จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ

ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

สําหรับเขตพญาไทนั้น เริ่มจากเป็นตำบลทุ่งพญาไท และตำบลถนนพญาไท ในอำเภอดุสิต ต่อมาในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2458 มีประกาศแยกออกมาเป็นอำเภอพญาไท โดยระบุไว้ว่า

อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือ ต่ออำเภอบางซื่อ แต่ทางรถไฟสายเหนือ ไปตามลำคลองสามเสนฝั่งใต้ ถึงคลองบางกระสันฝั่งตวันตก ทิศตะวันออก ต่ออำเภอบางกะปิ แต่คลองสามเสน เข้าไปตามลำคลองบางกระสันฝั่งตวันตก ถึงทางรถไฟสายตวันออก ทิศใต้ ต่ออำเภอประแจจีน แต่คลองบางกระสัน เข้าไปตามทางรถไฟสายตะวันออกด้านเหนือ ถึงสะพานยมราช ทิศตะวันตก ต่ออำเภอดุสิต แต่สะพานยมราชไปตามทางรถไฟสายเหนือ ด้านตะวันตกถึงคลองสามเสน

คลองพระยาไทยที่เหลืออยู่ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎ กั้นระหว่างพระราชฐานที่ประทับกับฝ่ายใน

มีประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอพญาไท อีกครั้งในปี พ.ศ.2509 โดยมีเหตุผลประกอบว่าตำบลเพชรบุรี ตำบลทุ่งพญาไท ตำบลถนนพญาไท ตำบลมักกะสัน ตำบลสามเสนใน ในอำเภอดุสิต และตำบลบางกะปิ ตำบลห้วยขวาง ในอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมนุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น สมควรแยกตำบลดังกล่าว ออกจากอำเภอดุสิตและอำเภอบางกะปิ และยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพญาไท

ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2515 จึงเปลี่ยนสถานะจากอำเภอเป็นเขตพญาไท รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปกครองของเขตพญาไทหลายครั้ง ดังนี้ พ.ศ.2516 มีการยกฐานะแขวงห้วยขวาง และแขวงบางกะปิ เป็นเขตห้วยขวาง พ.ศ.2521 แยกแขวงดินแดง และบางส่วนของแขวงสามเสน ไปขึ้นกับเขตห้วยขวาง และ พ.ศ.2532 ยกสี่แขวงทางทิศใต้ ของเขตพญาไท เป็นเขตราชเทวี ปัจจุบันเขตพญาไทจึงประกอบด้วย แขวงพญาไท และแขวงสามเสนในเท่านั้น

พระราชวังพญาไท ที่เป็นที่มาของชื่อเขต รวมทั้งถนนพญาไท จึงไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเขตพญาไท ด้วยประการฉะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image