ที่เห็นและเป็นไป ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2563 : สงกรานต์ใน‘โควิดสมัย’

ที่เห็นและเป็นไป ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2563 : สงกรานต์ใน‘โควิดสมัย’

ที่เห็นและเป็นไป ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2563 : สงกรานต์ใน‘โควิดสมัย’

พรุ่งนี้ 13 เมษายน หากในภาวะปกติจะเป็น “เทศกาลสงกรานต์”

สำหรับประเทศเรา “สงกรานต์” เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ถึงระดับจิตวิญญาณของคนไทยเกือบทั้งหมด

ไม่ใช่แค่ความหมายของ “ปีใหม่ไทย” อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เราแตกต่างจากประเทศอื่น หรือแค่เทศกาลท่องเที่ยวที่นิยมชมชื่นไปทั่วโลกว่าทั้งสนุกสนานและศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรมที่มุ่งสร้างความดีงามให้ชีวิตและสังคม

Advertisement

ยังเป็นห้วงเวลาแห่งการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณ แสดงออกเพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ทำบุญสุนทาน ร่วมกิจกรรมกับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อสานสัมพันธ์ต่อกันให้ยั่งยืน

“สงกรานต์” เป็นทั้งความดีงาม สนุกสนาน เป็นประเพณีที่คนทั้งสังคม เห็นพ้องต้องกัน กำหนดแนวปฏิบัติ พิธีกรรมขึ้นมา

จนหลายรัฐบาลเชื่อว่าหากให้วันหยุดยาวเป็นของขวัญจะเป็นเครื่องมือสร้างความกลมเกลียวในชาติได้เป็นอย่างดี

Advertisement

ปกติ ไม่มีใครอยากยุ่งกับประเพณีใหญ่ระดับ “สงกรานต์” ในทางยับยั้ง

อย่าว่าแต่ที่ขืนจะทำ แค่คิดยังไม่เคยมี การห้ามขายเหล้าเฉลิมฉลองเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน สั่งกันมายาวนานหลายปี ยังไม่เคยสำเร็จ

แต่ปีนี้ “โควิด-19” ระบาด

กระทรวงวัฒนธรรมมีคำสั่งแรงและเด็ดขาด ห้ามทุกอย่าง
1.งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ
2.งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา
3.งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี
4.งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

5.เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้ปฏิบัติ ดังนี้
5.1 สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน
5.2 การแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ใช้วิธีการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
และ 5.3 การแสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกัน ให้แสดงออกผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์

ครั้งนี้ทันทีที่สั่ง และขอความร่วมมือ ไม่มีเสียงค้านสักแอะ ทุกคนล้วน “ตามนั้น” หมด

ปรากฏการณ์ แนวปฏิบัติ “สงกรานต์” ยุคโควิด ที่พลิกกลับแบบตรงกันข้าม ทำให้เห็นถึงการปรับตัวของมนุษย์ เบื้องหน้าวิกฤต

ถึงจุดหนึ่ง ทุกอย่างต้องหลีกทางให้กับเหตุผล โดยเฉพาะในเมื่อเหตุผลนั้นคือ ความเป็นความตายและชะตากรรมของสังคม

เป็นอีกตัวอย่างแรกๆ ที่เห็นได้ง่ายๆ ของ “ความเปลี่ยนแปลง-การปรับเปลี่ยน” ที่เป็นผลเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้

ก่อนหน้านี้ มีผู้รู้หลายคนได้ออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ว่า โลกและประเทศต่างๆ จะพลิกเปลี่ยนไปอย่างไร ด้วยฤทธานุภาพของโควิด-19

หัวข้อ โลกหลังโควิด-19 เป็นคำถามท้าทายให้ค้นหาคำตอบ

เป็นการพลิกเปลี่ยน ในแนวทางคล้ายๆ กับที่เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เข้ามา “ดิสรัปต์” ธุรกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายไป น่าสนใจว่า ประเพณีสงกรานต์ จะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่

หรือจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบทเรียน ประสบการณ์ที่ได้รับจากกาารแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ
โควิด-19 ทำให้ราชการไทยที่ปกติแสนจะอนุรักษนิยม หันมาแนะนำการรดน้ำดำหัวออนไลน์

น่าจะมีอีกหลายพิธีกรรม มีอีกหลายเรื่องราวที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปกับอุบัติการณ์โควิดรอบนี้

อาจจะเป็นก้าวใหม่ของโลก ที่เกิดขึ้นภายหลังการสูญเสียอย่างแสนสาหัสจากการแพร่ระบาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image