ภาพเก่าเล่าตำนาน : ‘บริษัทสอาด’…ทำธุรกิจอะไรในอดีต? โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ค้นหา… ตำนานเรื่องของ “ส้วม” ในสยามมานาน พบข้อมูลไม่ปะติดปะต่อ จนกระทั่ง คุณนิคม ไวยรัชพานิช มอบหนังสือชื่อ “บรรพบุรุษรฤก” มาให้…ความจึงกระจ่างแจ้ง

หนังสือเล่มขนาดกะทัดรัด คือ หนังสือ 100 ปีแห่งการจากไปของ พระศิริไอยสวรรย์ ต้นตระกูล “รังควร” และครบ 10 รอบ ชาตกาล ของนายวรกิจบรรหาร (ซึ่งเป็นบุตรชายคนโต) ทางทายาทของนายวรกิจ ได้รวบรวมประวัติเกี่ยวกับครอบครัว มีข้อมูลการประกอบธุรกิจของ พระศิริไอยสวรรย์ ในแผ่นดินในหลวง ร.5

นามสกุล “รังควร” เป็นนามสกุลพระราชทานจากในหลวง ร.6 อ่านออกเสียงว่า รัง-คะ-วอน

(คุณนิคม ไวยรัชพานิช นับเป็นหลานเขยคนโตของตระกูลนี้)

Advertisement

บทความนี้…เป็นวิทยานิพนธ์ของคุณมนฤทัย ไชยวิเศษวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พ.ศ.2545

ผู้เขียนขอนำมาบอกเล่า ถ่ายทอดต่อครับ…

เริ่มด้วยการตั้งกรมศุขาภิบาล (ต่อมาเปลี่ยน “ศ” เป็น “ส”)

Advertisement

ในสมัยก่อนนั้น…ชาวบ้านจะอาบน้ำอาบท่าและขับถ่ายกันอย่างอิสระตามถนนหนทาง ใต้ถุนบ้าน ตามมุมอับและแม่น้ำลำคลอง บ้านจึงเกิดสภาพสกปรกเฉอะแฉะ ส่งกลิ่นเหม็น เกิดเป็นเชื้อโรคหมักหมม หมู เห็ด เป็ด ไก่ หมา แมว …ก็อยู่ร่วมกับคนปะปนกันไปในชุมชน

จนกระทั่งปี พ.ศ.2440 ได้มีการตั้ง “กรมศุขาภิบาล” ขึ้น ภายใต้กระทรวงนครบาล โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการรักษาความสะอาดและป้องกันการระบาดของโรคที่เป็นอันตรายในขณะนั้น เช่น กาฬโรค

ทั้งมีประกาศใช้พระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 อันสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปในเรื่อง “การจัดการพระนคร” ที่ซับซ้อนมากขึ้นและการตื่นตัวในเรื่องการรักษาความสะอาดและการป้องกันโรคภัยต่างๆ

ผู้ที่มีเงินในสมัยนั้น ก็ได้เริ่มนิยมที่จะสร้าง “เว็จ” หรือส้วมไว้ในบริเวณบ้านเรือนกันบ้างแล้ว ต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่ยังต้องอาศัยการ “ไปท่า” หรือ “ไปทุ่ง”

กฎหมายฉบับนี้ส่งผลต่อชีวิตของราษฎรหลายประการโดยเฉพาะพฤติกรรม “การขับถ่าย” และ “การชำระร่างกาย” ของคนในพระนคร

ที่สำคัญคือ การกำหนดให้มีการสร้างเว็จ หรือ “ส้วมสาธารณะ” ขึ้นตามตำบลต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาอาบน้ำขับถ่ายกันตามถนนหนทางและแม่น้ำลำคลองอย่างประเจิดประเจ้อ ตามอำเภอใจไร้ระเบียบ อันนำมาซึ่งความสกปรกจนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ นานา

โดย “ส้วมสาธารณะ” เหล่านี้ “รัฐ” เป็นผู้จัดสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้ได้โดยไม่เก็บสตางค์ และจำเป็นต้องมีระบบการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบในการให้บริการ

เกิดการ “รับจ้างจัดการสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่าย” ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในรูปของ “บริษัท”

อันที่จริงแล้ว…ก่อนหน้าจะมีการประกาศใช้พระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพฯ ก็มีผู้รับจ้างจัดการสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายอยู่เหมือนกัน แต่มิได้ทำในรูปของบริษัทเป็นเพียงการจ้างพวก “กุลีจีน” ให้ขนเอาไปเททิ้ง

ส่วนที่เป็น “บ้านเจ้านายหรือบ้านผู้ดี” ก็จะให้พวกคนรับใช้นำไปจัดการเททิ้งกันเองและถึงแม้ว่าเคยมีผู้เสนอแนวคิดจะจัดการอย่างเป็นระบบมาก่อนแล้วที่จะมีการจัดตั้งกรมศุขาภิบาลขึ้นมา

ในปี พ.ศ.2436 พระยาสโมสรสรรพการ เสนอบริษัทเพื่อประกอบกิจการ แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาจากทางรัฐ

จนกระทั่งมีการประกาศพระราชกำหนดศุขาภิบาลที่รัฐต้องดำเนินการสร้างส้วมสาธารณะให้กับประชาชน จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมในการจัดการสิ่งปฏิกูล

เพราะส้วมในกรุงเทพฯสมัยนั้นมิได้เป็นส้วมหลุมหรือส้วมซึม

ส่วนใหญ่จะเป็นการ “ถ่ายลงถัง” แล้วนำไปเททิ้ง…

ดังนั้น เพื่อให้ส้วมสาธารณะมีความสะอาดเป็นระเบียบจึงมีการว่าจ้างขนถ่ายในรูปของบริษัทรับเหมา

โดยบริษัทแรกที่รับดำเนินการคือ “บริษัทสอาด” ซึ่งได้ประมูลรับจัดการอยู่เป็นเวลานานหลายปี และเป็นรายใหญ่ในการทำกิจการนี้ในพระนคร

ที่ตั้งของบริษัทสอาดบริษัทนี้เป็นของพระศิริไอยสวรรย์ เดิมตั้งอยู่ตรงกับวังกรมพระนครสวรรค์ที่บางขุนพรหม ซึ่งเป็นที่ว่างโล่งและใช้เป็นที่เก็บรถบรรทุกขนถ่าย

แต่ภายหลังก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น

พระศิริไอยสวรรย์…เป็น เจ้ากรมสารบรรณหอรัษฎากรพิพัฒน์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นคนกว้างขวางพอสมควร จึงมีการตั้งบริษัทเพื่อทำการนี้ ต้องใช้เงินทุนและต้องมีลูกน้องรวมถึงกุลีจีนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นบริษัทก็ยังมีกิจการโรงพิมพ์อักษรนิติ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญอีกด้วย

ปี พ.ศ.2440 มีการลงนามในสัญญารับเหมาระหว่าง กรมศุขาภิบาลและบริษัทสอาด มีผู้ลงนาม 3 ท่าน คือ

พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ในฐานะผู้บังคับบัญชาการกรมศุขาภิบาล ขุนศรีรัตนารถ (พระศิริไอยสวรรย์) ในฐานะผู้จัดการบริษัทสอาดในขณะนั้น และกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยในฐานะพยาน

ร่างสัญญาฉบับนี้ ได้มีการถวายกราบบังคมทูลให้ในหลวง ร.5 ทรงพิจารณาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ร.ศ.116 (พ.ศ.2440)

โดยที่บริษัทสอาดนั้น ตั้งอยู่บนเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินอยู่เป็นนิจ ทางบริษัทจึงมักเดือดร้อนในเรื่องเวลาเปิด-ปิดทำการ

ซึ่งต่อมาก็ได้มีพระราชประสงค์ให้ย้ายที่ตั้ง เพราะแถวนั้นเริ่มมีคนอยู่อาศัยมากขึ้นทุกทีและจะต้องเผชิญกับกลิ่นอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าจะให้เลิกกิจการไปเสียเลย ก็เห็นจะต้องเดือดร้อนกันเป็นอันมาก จึงต้องอุดหนุนให้บริษัทนี้ทำการให้แผ่กว้างออกไปได้อีก

จึงควรที่จะเปลี่ยนที่ใหม่ตามความดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีกระทรวงนครบาลพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์

เรื่อง “กลิ่น” นั้นเป็นปัญหามาก จึงมีพระราชดำริและสั่งการเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง ถึงแม้ว่าบริษัทจะย้ายฝั่งไปอยู่ตรงข้ามในสวน “วัดขี้เหล็ก” แล้วก็ตาม

แต่เวลาเสด็จผ่าน ยังทรงได้กลิ่นอยู่ทำให้ไม่พอพระทัย จนเมื่อได้มีการเข้าไปตรวจในบริเวณบริษัทสอาด จึงปรากฏว่ากลิ่นนั้น “ไม่ได้เกิดจาก” กิจการของบริษัท

กรมศุขาภิบาลเองก็ได้มีการตรวจสอบเครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอหากแต่เกิดจากการที่ส้วมของ “วัดเอี่ยมวรนุช” ซึ่งใช้สำหรับขับถ่ายของทั้งสงฆ์และฆราวาสได้ปลูกล้ำเข้าไปในลำคลอง ทำให้มีการขับถ่ายลงไปในน้ำโดยตรง

เวลาน้ำขึ้น-น้ำลง สิ่งขับถ่ายจึงลอยไปลอยมาและตกค้างหมักหมม เมื่อน้ำแห้งเพราะเป็นคลองตัน อีกทั้งยังมีประชาชนขับถ่ายกันไว้ใต้ต้นมะขามข้างวัดอีกด้วย

ดังนั้นจึงต้องย้ายส้วมเข้าไปในวัดและใช้วิธีการแบบในเมือง ซึ่งกรมศุขาภิบาลก็ได้จัดการให้เป็นที่เรียบร้อย (จึงรับประกันได้ว่าบริเวณที่ตั้งของบริษัทสอาดไม่มีกลิ่นได้อีก)

แต่การย้ายไปฝั่งตรงข้าม ก็ควรจะหาที่ให้ลับตามากกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลควรอุดหนุนให้ทำการต่อไปตามคำกราบบังคมทูลของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

นอกจากเรื่อง “กลิ่น” แล้ว…เรื่อง “เวลา” ก็เป็นปัญหาเนื่องจากห้ามทำการในเวลากลางวัน ตกดึก…เมื่อคนนอนแล้วจึงเป็นเวลาที่รถขนถ่ายจะออกทำการ

ในอดีตนั้น…การทำกิจกรรมต่างๆ จะมีการระบุเวลากันอย่างคร่าวๆ ให้พอเป็นที่รู้กัน เช่น ย่ำรุ่ง ตอนเพล พลบค่ำและตอนดึก เป็นต้น

การปฏิบัติราชการต่างๆ ก็ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนเหมือนในปัจจุบันและก็ยังไม่ได้มีการแยกสถานที่ทำงานออกจากสถานที่อยู่อาศัย

แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงงานราชการได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะดึกดื่นเพียงใด เพราะทุกเวลา ทุกสถานที่ ของพระองค์นั้นจะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการบริหารสั่งการได้เสมอ

ดังนั้น…การจะกำหนดอะไรให้เป็นไปตาม “เวลา” จึงเป็นเรื่อง “ยาก” ดังที่ผู้จัดการของบริษัทสอาดมีหนังสือชี้แจงไปยังกรมศุขาภิบาลเกี่ยวกับเรื่องที่พระองค์ทรงเห็นรถขนถ่ายของบริษัทออกทำการและเรื่องที่ตั้งของบริษัทว่า…

…“จุดที่ตั้งของบริษัท เป็นทางใกล้ต่อการเสด็จพระราชดำเนินเหลือกำลังที่จะหลบหลีก เพราะไม่ทราบว่าเวลาใดจะเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าพลาดพลั้งลงพระราชอาญาคงไม่พ้นเกล้า …”

“…คนของบริษัทสอาดต้องทำงานกันดึกๆ ดื่นๆ โดยส้วมตามบ้านเรือนและตึกแถวจะมีถังแจกให้เจ้าของบ้านจะเสียค่าถังเทประมาณเดือนละ 1 บาท ถึง 6 สลึง ต่อถัง ต่อเดือน ซึ่งใครจะใช้หรือไม่ใช้บริการทางบริษัทก็ได้

ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้เว็จสาธารณะ ก็สามารถไปใช้ที่นั่นได้ตามสะดวก โดยรัฐเป็นผู้จ่ายค่าเทถังให้กับทางบริษัทซึ่งการเก็บถังเวลากลางคืน

สำหรับ ‘ส้วมสาธารณะ’ ก็คงไม่มีใครเดือดร้อนกันเท่าไรนัก แต่ตามบ้านที่ว่าจ้างบริษัทให้เปลี่ยนถังทุกวันนั้นคงได้รับความไม่สะดวกกันพอสมควรนอกเสียจากว่าจะนำถังออกมาตั้งนอกบ้านเองเพื่อรอให้รถของบริษัทมาเปลี่ยนในยามดึก

…คนขับรถบรรทุกถังและเปลี่ยนถังของบริษัทจะเป็นพวกกุลีจีนแทบทั้งสิ้นและมักมีเรื่องราวถูกทำร้ายโดยพลตระเวนอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนั้นแล้วก็ยังถูกคนเอาสิ่งของขว้างปาใส่เสมอ เป็นที่น่าสงสาร ทั้งๆ ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม แต่ทั้งนี้ก็อาจเกิดจากการไปสร้างความเดือดร้อนอันเป็นที่น่ารังเกียจให้กับชาวบ้านโดยไม่คาดคิด โดยนำไปเทในที่ที่ไม่เหมาะไม่ควร…”

ซึ่งพวกกุลีจีนที่ยอมทำงานประเภทนี้ ส่วนใหญ่คงเป็นพวกที่เพิ่งเข้ามาในไทยหรือพวกที่ยังไม่มีทุนทำอาชีพอื่นจึงต้องมีความอดทนสูงในขณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงแสดงทรรศนะในเรื่องนี้ว่า …

“อาชีพเช่นนี้…แม้ทางรัฐจะยึดมาเป็นการสงเคราะห์แก่พวกกรรมกรไทยที่ว่างงาน ก็เห็นจะไม่มีใครรับทำ…นอกจากกุลีจีนพวกนี้ถูกทุบตีทำร้ายแล้วยังถูกจับเครื่องมือและพาหนะ เครื่องใช้ของทางบริษัทเองก็ยังพลอยถูกยึดไปด้วยเสมอ ซึ่งทางบริษัทก็ได้ให้ความช่วยเหลือและปกป้องพวกกุลีเหล่านี้ โดยหาทางแก้ไขและร้องขอหน่วยราชการให้ช่วยผ่อนผัน…”

ในการจัดการสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายนั้น เว็จของกรมศุขาภิบาล…ได้ทำสัญญารับเหมากับบริษัทสอาดเป็นรายแรก

ส่วนเว็จของราษฎรที่จ้างผู้อื่นนอกจากบริษัทสอาดเพื่อให้มาจัดการก็มีอยู่เหมือนกัน

แต่การทำการของบริษัทสอาด คงเป็นรายใหญ่และกว้างขวางที่สุดในขณะนั้น

นับว่าช่วยนำบ้านเมืองไปสู่ความศิวิไลซ์ โดยการดำเนินการเป็นเวลาประมาณ 20 กว่าปี จึงได้โอนกิจการให้กับ “บริษัท ออนเหวง” ซึ่งก็ได้รับช่วงดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันกับบริษัทสอาดต่อไปเป็นระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง…

“บริษัท ออนเหวง” ก็เป็นบริษัทของชาวจีน ที่ตั้งอยู่แถวราชวงศ์ รับมาดำเนินธุรกิจต่อในพระนครและธนบุรี

ผู้เขียนขอรวบรัดตัดตอน “ข้ามไป” ถึงเรื่องของ “ส้วม” ในปัจจุบัน ที่น่าจะรื่นรมย์กว่าภาพในอดีตกาล…

“ส้วมคอห่าน” ผู้คิดค้น คือ พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สําเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ.2467 (ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์)

ณ ช่วงเวลานั้น…รัฐบาลไทยกำลังได้รับความร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และมีการรณรงค์ให้ราษฎรทั่วประเทศใช้ส้วม

มีพัฒนาการต่อมา และต่อมาดังที่เห็นกันทุกวันนี้ ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามรสนิยม สิ่งแวดล้อม กำลังเงิน และสติปัญญา

สำหรับ “ทหาร” ในสนามฝึก สนามรบ หรือที่ต้องไปตั้ง “ฐานปฏิบัติการ” ในภูมิประเทศ ป่า เขา พื้นราบ นานเป็นปี ก็เป็น “เรื่องใหญ่” โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ชำระ และสุขภาวะทั้งปวง

โถส้วมแบบ “คอห่าน” ที่เราใช้กันในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากประกายความคิดริเริ่มของ นายคุมมิ้งส์ ชาวอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2319 (ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี) ด้วยนวัตกรรมคอห่าน ที่มีน้ำขังหล่อเลี้ยงไว้ในท่อโถส้วม เพื่อไม่ให้กลิ่นจากบ่อเกรอะย้อนกลับขึ้นมาได้

ภาพที่นำมาฝาก ภาพแรก คือ ส้วมสาธารณะของ “ชาวโรมัน” ในอดีตผ่านมานับพันปี ที่ยังเหลือเป็นหลักฐาน มีกระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่างๆ ของอาณาจักรโรมัน แต่ละแห่งก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยทำเป็นฐานหินอ่อนยกระดับขึ้นมาประมาณเท่ากับเก้าอี้ เจาะรู เพื่อถ่ายทั้งหนักและเบาไว้กว้างพอประมาณ

ภาพที่ 2 คือ ภาพของส้วมทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ขอให้คนไทยรักษาความสะอาด ให้เป็น “อัตลักษณ์” ของชาติ โดยเฉพาะ “โรงเรียน-สถานศึกษา”….อย่าปล่อยให้ห้องน้ำ ห้องส้วม สกปรก มืด เหม็น ผุพัง เหมือนนรกบนดิน …

หาโอกาสไป “ทำบุญ-กุศล” โดยการออกทุน “ปรับปรุงห้องน้ำ” ของโรงเรียนที่ยังขาดแคลน ที่ท่านเป็น “ศิษย์เก่า” กันบ้างนะครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image