136 ปีมหาจุฬาฯ : คุณค่าต่อสังคมไทย

136 ปีมหาจุฬาฯ : คุณค่าต่อสังคมไทย

วันพุธที่ 13 กันยายน นี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กำหนดจัดงานครบ 136 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย นับจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2430 โดยปรากฎตามพระราชหัตถเลขาของพระองค์ทรงประสงค์ที่จะให้เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุ สามเณรฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ทั่วไป ให้ตั้งที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร แต่ภายหลังการสวรรคตของพระองค์ทำให้พระราชประสงค์ที่จะจัดการศึกษาถวายพระภิกษุ สามเณรในส่วนนี้ชะงักไปนาน ตราบจนมาถึง ปี พ.ศ. 2490 พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ได้ประชุมพระเถระฝ่ายมหานิกายที่ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชที่ประชุมได้มีมติสงฆ์ร่วมกันในเปิดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การเปิดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาครั้งแรกของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากไม่มีไม่มีกฎหมายรับรอง ผู้เรียนก็เรียนโดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและโดยเฉพาะชาววัดมหาธาตุ ต่างก็ทุ่มเท เสียสละเพื่อประคับประคองสนองพระราชปณิธานของพระองค์ผู้ทรงสถาปนาเพื่อให้เกิดความมั่นคง เป็นที่ยอมรับและขับเคลื่อนไปให้ได้ ในการจัดการศึกษาในยุคเริ่มแรกนั้นจึงเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัยสงฆ์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี เน้นการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาผสมผสานกับศาสตร์อื่นๆที่เรียกกันว่าวิชาการทางโลก

Advertisement

คณะแรกที่เปิดคือคณะพุทธศาสตร์ วิชาเอกศาสนา การจัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในสังคมยุคนั้นจึงมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง หลายประการ ทั้งเรื่องสถานะของมหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้สอน นิสิตผู้เรียน และงบประมาณในการดำเนินการ แต่ถึงอย่างไรก็ตามด้วยความวิริยะอุตสาหะ การดิ้นรนต่อสู้โดยไม่ย่อท้อของบูรพาจารย์ทั้งหลายเพื่อที่จะดำรงความเป็นมหาวิทยาลัยในพระพุทธศาสนาไว้ให้จงได้ และในทุกภาคส่วนของทุกความร่วมมือจึงปรากฎผลเมื่อปี พ.ศ. 2540

Advertisement

รัฐบาลโดยความยินยอมของรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติรับรองให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในนามมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และบุคคลที่ควรจะกล่าวถึงในลำดับต้นๆในการตรากฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ฉบับนี้คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายสุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยนั้น นายจำนงค์ ทองประเสริฐ ศิษย์เก่ารุ่นแรกในฐานะผู้แทนฝ่ายคฤัสถ์ของมหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยอีกสองท่าน คือ นายดุสิต โสภิตชา และ ร.ท.ดร.กุเทพ ใสกระจ่าง สำหรับพระสงฆ์นั้นประกอบด้วย พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิเถร) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และนายกสภามหาวิทยาลัย พระราชรัตนโมลี ( นคร เขมปาลี) อดีตอธิการบดีและประธานที่ปรึกษาอธิการบดี พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อดีตอธิการบดี พร้อมด้วยองคาพยพทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่สามารถจะเอ่ยนามได้ทั้งหมด

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีพระธรรมวัชรบัณฑิต ,ศ.ดร. ดำรงตำแหน่งอธิการบดี พระพรหมวชิราธิบดี ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต ,ศ.ดร.ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัย จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น
5 คณะ ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มีวิทยาเขตในสังกัด 11 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 28 แห่ง หน่วยวิทยบริการ 3 แห่ง สถาบันสบทบในต่างประเทศ 5 แห่ง มีนิสิตในแต่ละปีการศึกษาประมาณ 25,000 รูป/คน มีนิสิตนานาชาติทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มาศึกษาเล่าเรียนที่พักอาศัยในวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศและหอพักนิสิตนานาชาติมีจำนวนมากเป็นอันดับสองของประเทศ

โดยจัดการศึกษาทั้งสิ้น 219 สาขาวิชา ทั้งในระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ศึกษาทั้งด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม เถรวาทศึกษา มหายานศึกษา ศาสนาเปรียบเทียบ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีการศึกษาจะมีนิสิตเข้ารับประทานปริญญาบัตรไม่น้อยกว่า 4,000-5,000 รูป/คน

ในด้านคุณภาพการศึกษานั้นมหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในระดับต้นๆของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ ในการจัดอันดับในระบบการบริหารที่มีธรรมาภิบาลนั้นมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า A ในทุกๆ ปี ส่วนในระดับโลกนั้นถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่จัดการศึกษาด้านศาสนาและปรัชญา

สำหรับสถานภาพของมหาวิทยลัยในวันนี้นั้นด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ มีอายุยาวนานสถาปนามากว่า 136 ปีนั้นสถานการณ์หลายอย่างของสังคมไทยและสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เฉพาะสังคมไทยนั้นเด็กและเยาวชนในใน Generation ต่างๆโดยเฉพาะที่เรียกว่า Gen x และ Gen y นั้นกำลังเข้ามามีบทบาทและชี้นำสังคม และรวมทั้ง Information Architecture หรือ IA และ Artificial Intelligence หรือ AI และอาจหมายรวมถึงทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม เศรษฐกิจ ฐานะ ความเป็นอยู่ การศึกษา ศาสนา ความเชื่อและศรัทธาในพระสงฆ์ของคนในสังคม เป็นต้น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายบริหารทุกท่านที่กำลังจัดการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ในปัจจุบัน และหากมองย้อนกลับเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยเฉพาะแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะที่ 13 พ.ศ. 2566-2570(แผนฯ 13) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม The University provides Buddhist Studies integrated with modern sciences and creates Buddhist Innovation for the Development of Mentality and Society” โดยมีพันธกิจ 4 ด้าน คือ ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม นั่นคือวิสัยทัศน์และพันธกิจ ที่เป็นเหมือนสัญญาประชาคมที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆผ่านระบบ Key Performance Indicator (KPI)

ในขณะเดียวกันถ้าหันไปมองด้านกายภาพในวันนี้นั้นเมื่อมหาวิทยาลัยขยายเติบใหญ่ขึ้น ผู้คนมากขึ้นก็ยิ่งท้าทายการบริหารและการจัดการในทุกมิติ เช่นมิติด้านบุคลากรนั้นเมื่อจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนายุคใหม่ให้เดินไปข้างหน้านั้น คำถามต่อมาว่าแล้วจะทำอย่างไร และจะทำอย่างไรให้บุคลากรในทุกภาคส่วนได้มองเห็นเป้าหมายตรงกัน การเคลื่อนย้ายและการอพยพจะทำอย่างไรจะได้เห็นภาพที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ ในเป้าประสงค์ของแผนฯ 13 และในขณะเดียวกันในทุกภาคส่วนนั้นทำอย่างไรทุกคนจะได้ตระหนักและรับรู้ได้ว่าในทุกระยะขององคาพยพนี้ทุกคนกำลังอยู่ในยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ตามแผนงานอะไร อย่างไรและเป้าหมายที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ได้นั้นจะอีกยาวไกลแค่ใหนและอะไรคือปัจจัยที่จะไปให้ถึงและเมื่อถึงปลายทางแล้วอะไรคือความสำเร็จที่เป็นตัวชี้วัดและอะไรคือบทเรียนหรือประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวสั่งสมมาได้

และปัจจัยนั้นจะส่งให้มหาวิทยาลัยเดินหน้าต่อไปอย่างสง่างาม มีคุณค่า หรือเพิ่มคุณค่าให้มากขึ้นทั้งในสังคมสงฆ์และประชาคมโลก และในสิ่งที่ควรคำนึงอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือการหันมามองในกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งระบบ มองให้เห็นถึงคุณภาพมองให้ลึกถึงแก่น สำหรับคุณภาพของการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนานั้นควรจะมีก้าวล้ำในทุกมิติโดยยึดหลักพุทธนวัตกรรมเพื่อจะได้ปรับระบบให้เหมาะกับผู้คนในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการปลูกฝังคุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถจับต้องมองเห็นได้ การสร้างพุทธนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับในทุกระดับ การสร้างศาสนทายาทพร้อมทั้งปลูกฝังให้มีใจรักงานด้านการเผยแผ่พระศาสนาและท้ายสุดการปรับตัวขององค์กร เพื่อการพัฒนาให้ทันยุคทันสมัย (Organization Development) เพื่อให้องค์กรกระทัดรัด ไม่อุ้ยอ้าย ไม่เป็นภาระทั้งในแง่งบประมาณหรือภาระอื่นใดในทางสังคม

โปรดอย่าเดินหลงทางหรือหลงทิศเพราะถ้าเกิดพลัดหลงแล้วอาจจะได้รับผลตอบแทนที่แสนจะแพงจนยากที่จะกลับมาได้และผลนั้นอาจจะทำให้มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาตกขบวนรถไฟความเร็วสูงไปในที่สุดและเมื่อหันกลับมามองอีกทีชาวบ้านได้เดินทางไปไกลเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยจะก้าวตามได้ทัน

136 ปีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงสถาปนาให้กับคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายเดินทางมายาวไกลจนถึงวันนี้ได้สร้างคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทยและชาวโลกแต่ในสังคมยุคใหม่จากนี้ไปในทุกองค์กร ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจะต้อง Strengths , Weaknesses , Opportunities , Threats (SWOT) คือ สำรวจตัวเองทั้งภายในและภายนอก สำรวจให้มองเห็นตัวตนที่แท้จริงตามหลักโยนิโสมนสิการและเมื่อมองเห็นแล้วก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์ของสังคมและประเทศชาติโดยต้องตอบให้ถูกที่ถูกทาง ถูกกาลเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเป้าหมายที่ตั้งไว้คือวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในแผนพัฒนาที่ 13 ของมหาวิทยาลัยจึงจะบรรลุเป้าหมายและสร้างคุณค่าในสังคมไทยและหมายรวมถึงสังคมโลกอย่างแท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image