ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทูตสาวอังกฤษพบรัก…อดีตนักโทษพม่า

สงครามกลางเมืองในแผ่นดินพม่า… ขยับมาติดรั้วบ้านที่เมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด นี่มิใช่เรื่องใหม่ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนรับราชการ ติดตามสถานการณ์ …รบกันมาตลอด ชาวบ้านหนีตายเข้ามาในหลายพื้นที่ตั้งแต่ชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปถึง จ.ราชบุรี เดี๋ยวพักรบ เดี๋ยวยิงกันใหม่ ประชาชนจากพม่าอพยพไป-มาฝั่งไทย กลับบ้าง ไม่กลับบ้าง ทั้งบนดิน-ใต้ดิน น่าจะมีกว่า 5-6 ล้านคนในไทย

นักการเมือง ข้าราชการทุกระดับ ย้ายมาเดี๋ยวก็ย้ายไป ถ้าไม่กล่าวถึงก็แปลว่า ไม่มีปัญหา… อย่าพูดถึงเพราะจะก่อปัญหา

บ้างก็ชื่นชอบ เพราะมีแรงงานเข้ามา สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต

บทความตอนนี้…ขอเบี่ยงเบนจากสงครามในแผ่นดินพม่ามาคุยกันเรื่อง “ความรัก” ที่แสนจะโรแมนติก ระหว่าง เอกอัครราชทูตสาวอังกฤษ วิกกี้ (Vicky Bowman) และเต็ง ลิน (Htein Lin) จิตรกรหนุ่มชาวพม่า…ที่โลกชื่นชม

Advertisement

(แปล- เรียบเรียงบางส่วนจาก British Ambassador & Burmese Painter: A love story)

วิกกี้ หรือวิกตอเรีย เจน โบว์แมน เกิดวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2509 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ-พยาธิวิทยาจาก ม.เคมบริดจ์ (Cambridge U.) “โบว์แมน” เป็นชื่อสกุลของสามีคนแรกของเธอ

เธอเคยทำงานในกรุงบรัสเซลส์ในฐานะสมาชิกคณะรัฐมนตรีของคณะกรรมาธิการยุโรป ทำงานเป็นโฆษกของรัฐบาลอังกฤษในสหภาพยุโรป

Advertisement

พ.ศ.2532-2533 วิกกี้สมัครเข้าศึกษาภาษาพม่าที่ SOAS (School of Oriental and African Studies) รวมถึงทำงานให้กับนายคริส แพทเทน (Chris Patten) นักการเมือง และรัฐมนตรีสมัยนางมากาเร็ต แทธเชอร์

พ.ศ.2533-2536 วิกกี้ ซึ่งพูดภาษาพม่าได้คล่อง มารับตำแหน่งเป็นเลขานุการคนที่สองของสถานทูตอังกฤษในพม่า

พ.ศ.2545-2549 เธอกลับมาเป็น “เอกอัครราชทูต” และในฐานะ “หัวหน้าศูนย์พม่าเพื่อธุรกิจ” เธอแนะนำนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดพม่า เธอมีส่วนอย่างมากในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แต่ก็ตกเป็น “บุคคลเป้าหมาย” ของทหารพม่า

แต่ไหนแต่ไร เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า หลงใหล ชื่นชอบวรรณคดีพม่า เขียน-แปล หนังสือของพม่าจำนวนมาก

วันหนึ่ง…เธอพบงานศิลปะและบทความเกี่ยวกับชีวิตของ เต็ง ลิน ในฐานะอดีตนักโทษการเมือง ที่เธอ “สนใจมาก” ในชีวิตของเขา

เธอรักและศึกษาวรรณคดีและวัฒนธรรมพม่า เธอจึงสามารถอ่านและพูดภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 วิกกี้แปลเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ “Inked Over, Ripped Out”

ศิลปิน เต็ง ลิน เป็นใคร มาจากไหน

ลิน เกิดในปี พ.ศ.2509 ในเมืองเมซาลิกอน (Mezaligon) ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของโรงเลื่อยขนาดเล็ก เขามีพรสวรรค์ เริ่มวาดภาพ จัดการแสดงในขณะที่ยังอยู่ที่โรงเรียน และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งในด้านกฎหมาย ซึ่งหมายจะต่อสู้กับเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศ

มีนาคม พ.ศ.2531 เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งที่ “ถูกไล่ออก” เนื่องจากไปเดินขบวนประท้วงที่รัฐบาลไม่สามารถสอบสวนการเสียชีวิตของเพื่อนนักศึกษาได้

การประท้วงครั้งนั้นเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ “การปฏิวัติในฤดูใบไม้ผลิสู่ประชาธิปไตย” ตามมาด้วยการปราบปรามของทหารที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ลินได้เข้าร่วมกับนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนหนีไปยังชายแดนอินเดีย ซึ่งเขาเข้าร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยนักศึกษาพม่า (ABDSF : กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า) ที่ไปรวมตัวกันในอินเดีย

ปี พ.ศ.2533 รัฐบาลอินเดียแจ้งกับกลุ่ม ABSDF ว่าทางการอินเดียไม่อนุญาตให้พวกนักศึกษาพม่าอยู่ในดินแดนของอินเดียได้อีกต่อไปหากพวกเขาถืออาวุธ

ลิน เดินทางกลับไปยังค่าย ABSDF ในพม่า ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ถูกกองทัพพม่าเข้าโจมตี แตกกระเจิงอีก

ลินหนีเข้าป่าลึกพร้อมกับเครื่องพิมพ์ดีด เดินลุยไปทางตอนเหนือของพม่าไปร่วมกับสหายในรัฐคะฉิ่น (Kachin) บริเวณชายแดนจีน มีเพียง 20 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตจากการเดินทาง

ปลายปี พ.ศ.2534 ลินและเพื่อนนักเรียนอีก 80 คน ถูกจับไปจำคุกและทรมาน เพื่อนร่วมคุกประมาณ 20 คน ถูกประหารชีวิต

กมนักศึกษาพม่าหลบหนีเข้าไปยังประเทศจีน ซึ่งพวกเขาถูกจับได้และจีนส่งคืนตัวให้กับรัฐบาลทหารพม่า พวกเขาได้รับอนุญาตให้ “สารภาพผิด” อย่างเป็นทางการ ลินกลับมาเรียนหลักสูตรกฎหมาย LLB อีกครั้ง โดยสำเร็จการศึกษาในปี 2537

วิชากฎหมายที่เรียนมาไร้ค่า… เขาไปทำงานเป็นศิลปินและนักแสดงภาพยนตร์การ์ตูน และเป็นผู้บุกเบิกศิลปะการแสดงสมัยใหม่ในพม่าเปิดการแสดงริมถนนในตัวเมืองย่างกุ้ง

พ.ศ.2541 เขาถูกทหารพม่าจับกุมอีกครั้ง ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี

ศิลปินเดนตายถูกนำตัวไปขังที่คุกเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเขาถูกบังคับให้วาดภาพเพื่อความสนุกสนานแก่เพื่อนๆ เมื่อครบกำหนดก็ได้รับการปล่อยตัว

พ.ศ.2543 บรรดานักโทษการเมืองในคุก พร้อมใจกันลุกฮือประท้วงขอให้มีสภาพในเรือนจำที่ดีขึ้น ผู้ประท้วงถูกทุบตีและถูกจับแยกย้ายไปยังเรือนจำอื่นๆ ลินถูกส่งตัวไปยังคุก “เมืองเมียงมยา” บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ที่ใกล้บ้านเกิด

7 เดือนเต็มสำหรับการขังเดี่ยว …

เมื่อออกจากคุก กลับไปที่ย่างกุ้ง และกลับไปวาดภาพขนาดใหญ่บนผ้าฝ้ายที่เขาคุ้นเคย ทุกภาพสวยงาม แฝงด้วยปรัชญาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ภาพวาดเหล่านี้อยู่ในความชื่นชอบของเอกอัครราชทูตอังกฤษ เธอมาพบ มาพูดคุยกับลินเสมอเมื่อมีโอกาส พบว่าบุรุษข้างถนนคนนี้คือ จิตรกรที่อัจฉริยะและยังเป็นศิลปินที่หาได้ยาก

ลินเป็นศิลปินไร้บ้าน ไร้หลักแหล่ง

เอกอัครราชทูตอังกฤษสาวโสดประจำกรุงย่างกุ้งหลงใหลการวาดภาพ และทราบประวัติการต่อสู้อันโชกโชน ติดคุกมาหลายรอบ จึงเอ่ยปากรับเขา “เข้ามาดูแล” พร้อมภาพวาดอันล้ำค่า ส่งเสริมชื่อเสียงโดยให้หอจดหมายเหตุพม่าที่สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติในอัมสเตอร์ดัมยืมภาพไปแสดง

พ.ศ.2549 วันเวลาผ่านไป…หล่อหลอมให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน และแต่งงานกัน วิกกี้พูดติดตลกว่า นอกจากดูแลภาพวาดที่เธอชื่นชอบและยัง “ขอดูแลจิตรกร” ด้วย

การแต่งงานระหว่างคู่รักนี้…เป็นข่าวใหญ่ไปในอังกฤษ

เมื่อกลับมาที่อังกฤษ เธอมีลูกน้อยชื่อว่า ออโรรา (Aurora) หรือที่รู้จักในชื่อ อายุนลิน (Ar Youn Lin) ที่เกิดในเดือนธันวาคม พ.ศ.2550

คู่รักที่โด่งดังกลับไปย่างกุ้งในปี 2556 ทำธุรกิจ ออกงานสังคม “โด่งดัง” ในสังคมนักธุรกิจในประเทศ

1 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ก่อรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่า…กลัว เกรง ใครที่ไหน กวาดจับประชาชนเข้าคุกเป็นหมื่นคน

24 สิงหาคม พ.ศ.2565 เธอถูกควบคุมตัวที่บ้านในย่างกุ้งพร้อมกับสามี เต็ง ลิน ถูกตั้งข้อหาผิดกฎหมายคนเข้าเมือง

กันยายน พ.ศ.2565 เธอถูกตัดสินจำคุก 1 ปีฐานอยู่ในที่อยู่ที่แตกต่างไปจากที่อยู่ที่เธอได้ลงทะเบียนไว้ เปลี่ยนที่อยู่โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่ ข้อหาดังกล่าวแทบไม่เคยได้ยินมาก่อนในพม่า โดยปกติแล้วเพียงเสียค่าปรับเล็กน้อยจะยุติเรื่องนี้ได้

เต็ง ลิน สามีก็โดนข้อหาสมรู้ร่วมคิด ติดคุก 1 ปี

ในฐานะที่เป็นชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง ที่ยังคงอาศัยอยู่ในพม่าหลังการรัฐประหาร จึงมีแนวโน้มว่าเธอและสามีถูกมองว่าเป็น “เป้าหมาย” ที่เหมาะสมที่อังกฤษประกาศคว่ำบาตรนายทหารระดับสูงของพม่า

17 พฤศจิกายน 2565 กองทัพพม่าปล่อยตัววิกกี้และสามี พร้อมนักโทษ 6,000 คน รวมถึงนักข่าวชาวญี่ปุ่นและชาวออสเตรเลีย เนื่องในโอกาสวันชาติ เธอและสามีถูกส่งตัวกลับประเทศ

รัฐบาลทหารพม่า…ไม่เห็นต้องเกรงกลัวชาติไหนในโลก

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image