ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ตะนะคา…ทาที่แก้มสาวพม่า

ภาพเก่า...เล่าตำนาน : ตะนะคา...ทาที่แก้มสาวพม่า

แต่ก่อน แต่ไร…ในสังคมไทย เมื่อเห็นหญิงสาวทาแป้งสีเหลืองอ่อนเป็นวงกลมที่แก้ม ถือว่าสะดุดตา น่ามอง เพราะไม่ค่อยคุ้นชิน พบเห็นไม่ค่อยบ่อยนัก แต่เข้าใจตรงกันว่าเป็น “สาวพม่า”
มาถึง พ.ศ.2567 แล้ว…ไม่มีอะไรแปลกอีกต่อไป ไปที่ไหนก็เจอ อยู่ในบ้านกันไม่รู้เท่าไหร่ อยู่กันเป็นชุมชน ทำงานกันเป็นกลุ่ม ปีก่อนเห็นขายของอยู่หน้าร้าน …ปีนี้ขยับขึ้นไปเป็นเจ้าของร้านแล้วก็มากโข…
ไปสั่งอาหารในร้านเป็นภาษาไทย พนักงานสั่งต่อกันไป เป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็ได้กินครบถ้วน…เผลออีกไม่นาน กลายเป็นเจ้าของร้านไปแล้ว…สังคมไทยปรับเปลี่ยนไปมาก แต่ก็เป็นผลดีเรื่องมีคนทำงาน เมืองมีชีวิตชีวา ไซต์งานก่อสร้างทำงานกลางแจ้งแทบทั้งหมดไม่มีใครพูดภาษาไทย

สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก มีค่าเฉลี่ยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่คนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะทำเนื่องจากเห็นว่างานหนักและค่าแรงถูก ดังนั้น ทางเลือกและทางออกของผู้ประกอบการคือการจ้างแรงงานข้ามชาติ
คาดกันว่ามีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา อาศัยอยู่ในสมุทรสาครกว่า 200,000 คน หญิงสาวจำนวนมหึมามีแป้งสีเหลืองทาที่แก้ม
ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า…พี่น้องชาย-หญิงที่มาจากประเทศเมียนมา มาจากหลายเผ่าพันธุ์นะครับ มิใช่ “ชาวพม่า” ทั้งหมด บ้างก็กะเหรี่ยง ปะโอ มอญ ไทใหญ่ ยะไข่ โรฮีนจา พูดกันคนละภาษา มาจากคนละทิศละทาง ยังมีแรงงานมาจากกัมพูชา ลาว อีกต่างหาก
สนุก สุขใจ ทำงาน ได้เงิน กินอิ่ม นอนอุ่น ไม่มีสงคราม ลูกหลานได้เรียนหนังสือ ได้รับการรักษาพยาบาล ไม่มีที่ไหนเทียบได้กับเมืองไทย…ข้ามชายแดนเข้ามาในไทยทุกวัน ทุกช่องทาง

พ.ศ.2564 หลังจากการยึดอำนาจโดยกองทัพพม่า เกิดสงครามกลางเมือง เริ่มมีคนหนุ่มสาว ที่มีการศึกษา มีอาชีพ มีฐานะ ทยอยเข้ามา ซื้อคอนโดซื้อบ้าน ทำธุรกิจในไทยมากขึ้น ที่อาจจะไม่ค่อยทราบกัน คือ ชาวพม่ามาเป็นอาจารย์สอนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษในไทยจำนวนมากพอๆ กับชาวฟิลิปปินส์

ขอชวนคุยเรื่องเบาๆ …เรื่อง “แป้งทาแก้ม” สาวพม่าครับ (ข้อมูลบางส่วนจาก เรียนรู้สังคมวัฒนธรรมพม่า โดย วิรัช-อรนุช นิยมธรรม)

Advertisement

“ผิวพม่าในตาแขก” เป็นคำพังเพยที่ออกจะตกหล่นหายไปตามยุคสมัยนะครับ เพราะวันนี้ ไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม แต่ก็ไม่สำคัญ
คนไทยมักจะชื่นชมสาวพม่าและสาวแขก ในความโดดเด่น ซึ่งก็เป็นความจริง ผู้หญิงไทยที่รักสวยรักงามแต่ก่อน หากอยากมีผิวสวยเนียนและตาคม ก็จะนิยมใส่ขนตาปลอมและเขียนคิ้ว-เขียนตาเพียงเพื่อให้ตาโต ส่วนผิวพรรณนั้นก็ทาแป้ง มีทั้งแป้งน้ำ แป้งผง แป้งเม็ด
ผิวพรรณเนียนผ่องและดวงตางาม จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สาวไทยปรารถนา ส่วนความงามสำหรับสาวพม่านั้น จะเน้นที่ผิวพรรณผุดผ่อง
เรือนร่างหญิงพม่าที่มองดูสวยจะต้องเป็น “สาวร่างอวบ-ผิวตึง”

ชาวพม่าดำรงวิธีการดูแลรักษาผิวพรรณด้วยเนื้อไม้ชนิดหนึ่งซึ่งนิยมสืบทอดกันมายาวนานทีเดียวเนื้อไม้นั้น คือ “ตะนะคา” (Thanaka) ไม้เนื้อแข็งที่เป็นเครื่องประทินผิวอยู่คู่กับชาวพม่าตลอด 2 พันปี
ตะนะคาที่นำมาผลิตเป็นแป้งทาหน้า มาจากพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นในเขตร้อนทนความแห้งแล้ง มีเปลือกผิวขรุขระ ใบเป็นช่อ ส่วนที่เป็นเปลือกและผิวจะมีกลิ่นหอมเย็น มีสีออกเหลืองนวล ในประเทศพม่าพบมากทางภาคเหนือตอนล่างแถบเมืองปะโคะกู่ ปะคัน ชเวโบ สะกาย และมัณฑะเลย์
ลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร ลำต้นตรง กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น เปลือกต้นไม้เป็นสีน้ำตาล เนื้อไม้ด้านในเป็นสีขาว ผิวต้นขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ยาวตรง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับกัน
ต้นที่จะนำมาใช้ทำเป็นแป้ง จะต้องเลือกต้นที่มีอายุราวๆ 35 ปีมาตัดเป็นท่อนๆ

แทบทุกบ้านจะมีท่อนไม้ตะนะคา วางคู่ไว้กับกระจกเสมอ โดยเพราะหญิงชาวพม่าจะต้องใช้ทาผิวทุกครั้งหลังอาบน้ำ สาวพม่าจะผูกพันในกลิ่นและความเนียนของไม้ตะนะคาอย่างขาดแทบไม่ได้ เพราะจะช่วยให้ผิวเกลี้ยงเกลาดูเนียนและนุ่มนวลช่วยรักษาผิวหน้าขจัดสิวและฝ้า แถมยังกันเปลวแดด หากใช้ทาหลังอาบน้ำจะทำให้เนื้อตัวเย็นสบาย
นอกจากนั้น…ยังมีประโยชน์ขนาดเป็นตำรับยาพื้นบ้านของพม่าที่เรียกว่า มีฤทธิ์เป็นกลาง ไม่ร้อนเกินไปไม่เย็นเกินไป หากใช้ทาภายนอกจะช่วยแก้อาการคัน ดับกลิ่น ฆ่าความชื้นบนผิวกาย
อาจนำมาปรุงเป็นยาสำหรับรับประทาน โดยนำใบ ดอก ผลและรากมาใช้รักษาโรคต่างๆ อาทิ ใบสดใช้รักษาโรคลมบ้าหมู ต้มอาบเพื่อรักษาโรคผิวหนัง ต้มผสมเกลือแก้ไข้จับสั่น ใบแห้งบดเป็นผงผสมหมากแก้โรคท้องมาร ผลแก้พิษ บำรุงกำลัง ป้องกันนิ่ว รากยังใช้ระบายท้องขับเหงื่อ เปลือกใช้ดมบรรเทาอาการวิงเวียน

Advertisement

ไม่มีหลักฐานว่า ชาวพม่า หรือใคร ค้นพบต้นไม้สารพัดประโยชน์แบบนี้ที่ใด เมื่อไหร่ แต่ก็มีข้อมูลหนักแน่นพอสมควรว่า “ชาวมอญ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นำมาใช้ก่อนเพื่อน
คนมอญในรัฐมอญ ประเทศพม่าทุกวันนี้บางแห่งเรียกว่า “เกียะแจะ” หรือ “ฮะแจะ” แปลว่า “แป้ง” ส่วนคนมอญบางแห่งเรียกว่า “จะลอน” ที่แปลว่า ไม้กฤษณา หรือไม้หอม ขณะที่คนพม่าออกเสียงว่า “ตะนะคา”
วิธีใช้…ต้องเอาตะนะคาที่ตัดเป็นท่อนขนาด 1 คืบ มาฝนบนแผ่นหิน เจือด้วยน้ำเพียงเล็กน้อย ผงที่เกิดจากการขัดถูกับแผ่นหิน จะต้องนำไปละลายน้ำ ทำเป็น “แป้งน้ำ” แล้วจึงนำมาทาให้ติดผิวได้

ต้องผลิต “แผ่นหิน” ออกมา ทำให้แบน กลม ขนาดพอเหมาะ เพื่อใช้งาน แผ่นหินนี้มีคุณค่า ห้ามมิให้ผู้ใดเดินข้าม มีเทพรักษา

ในอดีต…คนพม่าจะใช้ตะนะคาทาผิวกันตั้งแต่เกิดจนตาย เริ่มแต่วัยเด็ก แม่หรือแม่เฒ่าจะทาให้ลูกหลานชายหรือหญิงที่ยังเล็กโดยแต้มเริ่มที่หน้าผากดั้งจมูกและแก้ม ละเลงจนทั่วใบหน้า จนถึงหูและลำคอตลอดจนลำตัว จากนั้นจึงป้ายเป็นวงบนแก้ม วงที่สวยงามต้องเป็นวงกลม ฉะนั้นยิ่งป้ายได้กลมสมบูรณ์เท่าไหร่ ก็ถือว่าฝีมือประณีต
การทาแป้งของสาวพม่า จึงเป็นแฟชั่นและสะท้อนลักษณะนิสัยในตัวได้ เวลาเกี่ยวข้าวดำนาซึ่งต้องสู้แดดสู้ลมนั้น สาวพม่ามักจะต้องทาเพื่อกันแดดกันลม แป้งประจำบ้านตัวนี้จึงเปรียบเสมือน “ร่ม” คลุมผิว ไม่ต้องแดดโดนลมมากเกินไป
ในบางเวลา…อาจพบสาวพม่าบางคนทาเป็นลายตลอดท่อนแขนขาและลำตัว นั่นคือ การทาเพื่อประทินผิว
เชื่อกันว่า…เนื้อตัวของแม่หญิงพม่าที่ทาถูด้วยแป้งนี้เป็นประจำ จะเต่งตึงเสมอ แม้วัยล่วงเลยไปถึง 60 แล้วผิวพรรณก็ไม่เหี่ยวแห้งไปตามวัย ส่วนผู้ชายจะใช้ทาก็ต่อเมื่อเป็นสิว แก้ผดผื่นคันหรือทาเนื้อตัวให้เย็นสบายคลายร้อน
แม้เมื่อตอนตาย ญาติๆ ยังจะหามาทาให้ศพอีกด้วย หากแต่ทาให้เฉพาะบนใบหน้าเท่านั้น

ปัจจุบันรูปแบบของตะนะคา ได้พัฒนาขึ้นจาก “ขายเป็นท่อนไม้” มาป่นเป็นผงด้วยเครื่องจักรทันสมัย แล้วบรรจุซอง บรรจุขวด ใส่ตลับตลอดจนผสมเป็นแป้งน้ำ หรืออัดเป็นก้อน กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงาน
สาวพม่ายุคปัจจุบัน ที่ขี้เกียจเสียเวลานั่งฝนท่อนไม้กับหิน ก็ไปหาซื้อที่ผลิตสำเร็จรูปแล้วมาใช้
อย่างไรก็ตาม…ชาวพม่าในท้องถิ่น ยังคงนิยมการฝนท่อนไม้ใช้เอง เพราะผงจากท่อนตะนะคา (แท้ๆ) จะมีกลิ่นและเนื้อแป้งดีกว่า
ของดี-ต้นตำหรับ ต้นไม้ชนิดนี้ ต้องมาจากแหล่งกำเนิด 2 แห่งคือ ที่ดอยฉึ่งมะต่อง ในเมืองปะคัน และอีกแห่งหนึ่ง คือจากเมืองชเวโบ

ต้นไม้ชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ การดูแลรักษาไม่ค่อยยุ่งยากนัก เริ่มด้วยการเพาะเมล็ดพันธุ์ในหม้อดิน เมื่อต้นอ่อนงอกออกมาราว 1 คืบจึงปลูกลงดิน รดน้ำบ้าง ได้รับฝนบ้างและพรวนดินบ้างต้นก็จะเจริญงอกงามดี
ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ แป้งทาแก้มสีเหลือง ถูกค่านิยมสมัยใหม่เบียดให้เป็นสิ่งล้าสมัย แป้งแสนสารพัดประโยชน์จึงอาจค่อยๆ จางหายไปจากใบหน้าสาวพม่าทีละน้อย
แป้งของแท้ ของจริง ยังพอมีอยู่ ของปลอมในตลาดก็เยอะ

ใครทาแป้ง “ของจริง” แล้ว…ขอให้สวยตลอดกาลนะครับ ส่วนทาแล้วไม่สวย แสดงว่าเป็น “ของปลอม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image