พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : ด้านเปิด ด้านปิด กลางวัน ส่งเสียง อึกทึก กลางคืน รุกเงียบ

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : ด้านเปิด ด้านปิด กลางวัน ส่งเสียง อึกทึก กลางคืน รุกเงียบ

การตีความกรณีทัพฮั่นยกเข้ายึดเมืองเสียนหยาง เมื่อตกไปอยู่ในมือของนักวิเคราะห์มุมที่มองเข้าไปและสะท้อนออกมีความแตกต่างกัน
แม้จะดำเนินตามกลยุทธ์ “ส่งเสียงบูรพา บุกประจิม” ของ ม.อึ้งอรุณ
แม้จะดำเนินตามกลยุทธ์ “จะบุกทางทิศตะวันตก แต่ทำให้คิดว่าเรามุ่งไปทางทิศตะวันออก” ของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
แม้จะเรียกว่า “ส่งเสียงบูรพา ฝ่าตีประจิม” ตามสำนวน บุญศักดิ์ แสงระวี
กระนั้น ในความเป็นจริงก็ดำเนินไปอย่างที่ ถาวร สิกขโกศล ถอดความออกมาว่า
“ประโคมซ่อมสะพานไม้ ลอบเดินทัพทางเฉินซาง
นั่นก็คือ “เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีความสับสน เราจะต้องถือโอกาสนี้บุกโจมตีโดยไม่ให้เขารู้แน่นอนว่าเราจะบุกไปทางใด”
นี่คือผลึกที่ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย กลั่นออกมา

กลอุบายข้อนี้มุ่งที่จะสร้างความสับสนให้แก่คู่กรณีทำให้คู่กรณีไม่ทราบจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเรา
โดยในการสู้รบ
ทำทีท่าวาจะบุกทางทิศตะวันออก แต่ที่แท้ตั้งใจจะไปโจมตีทางทิศตะวันตก ความสำเร็จในการใช้กลอุบายข้อนี้อยู่ที่การทำให้ฝ่ายตรงข้าม
เชื่อในเรื่องอย่างหนึ่งอย่างฝังใจ
แต่เรากลับทำไปอีกอย่างหนึ่งที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ระมัดระวังป้องกัน กลอุบายนี้ใช้เพื่อการป้องกันการถูกโจมตีได้เช่นกัน
ด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นความหละหลวม
ด้านหนึ่ง ในทางตรงข้ามที่เห็นว่าหละหลวมเป็นการแสร้งทำ แท้จริงกลับเตรียมพร้อมอย่างเต็มเปี่ยม
เหมือนกับจะซับซ้อน แต่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายจนเกิดความตายใจ

หนังสือ “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” จากการแปลและเรียบเรียงของ บุญศักดิ์ แสงระวี เริ่มต้นจากบทสรุป
“เมื่อศัตรูปั่นป่วน มิรู้เหนือใต้ ดุจจมในปลัก พึงชัยเอาชัยด้วยศัตรูสับสน”
ตามคำอธิบายของ “คัมภีร์อี้จิง ปั่นป่วน” คำว่า “ดุจจมในปลัก” ก็คือ ตกอยู่ในภาวะที่รวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน
แต่ขยับตัวหรือกระจายแนวออกต่อตีมิได้
มีอันตรายที่จะพังพินาศได้ทุกเวลา ประดุจฝูงสัตว์ที่ขาดหัวหน้า มิมีการบัญชาที่ถูกต้อง
ก็จักต้องพ่ายแพ้ มิช้า ก็เร็ว
หรืออีกนัยหนึ่ง ในระหว่างสงครามหรือการสัประยุทธ์ใดๆ เมื่อการบัญชาการของข้าศึกสับสน อลหม่าน มิอาจวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องทันท่วงที จนเกิดเหตุมิคาดฝันขึ้น
พึงฉวยโอกาสที่ข้าศึกวุ่นวาย ไร้การควบคุม ทำลายเสีย

ที่ว่า “ส่งเสียงบูรพา ฝ่าตีประจิม” ยังหมายถึงกลอุบายที่เห็นอยู่ทางตะวันออกหยกๆ แต่กลับวกไปอยู่ทางตะวันตก
ส่งเสียงทางนี้ แต่ตีทางโน้น
ทำทีถอย แต่กลับรุก ทำทีรุก แต่กลับถอย
ลวงล่อข้าศึกอย่างแนบเนียน ทำให้ข้าศึกเกิดความเข้าใจผิด แล้วช่วงชิงโอกาสเข้าพิชิตเอาชัย
กลยุทธ์นี้มีอยู่ใน “ตำราพิชัยสงคราม” หลายเล่ม
ไม่ว่าของซุนวูว่าด้วยภูมิประเทศ หรือยุทธวิธีร้อยแปดว่าด้วยสงครามเสียง ไม่ว่าไหวหนานจื่อว่าด้วยการฝึกยุทธวิธี
โดยใน “ไหวหนานจื่อ” กล่าวเอาไว้ว่า
“มรรควิธีแห่งการใช้ทหาร แสดงให้เห็นว่าอ่อนแต่ปะทะด้วยแข็ง แสดงให้เห็นว่าเปราะแต่ปะทะด้วยแกร่ง
เมื่อจะรวบพึงกระจาย เมี่อจักไปประจิมควรทำทีไปบูรพา”

Advertisement

จากนั้น บุญศักดิ์ แสงระวี พรรณนาว่า หลังจากฉินล่มเล่าปังก็ทำศึกชิงอำนาจกับเซี่ยงอวี่ เกิดรบพัลวัน เล่าปังรบแพ้ที่เมืองเฉิงเผิน
แม่ทัพนายกองจำนวนมากก็สวามิภักดิ์ด้วยเซี่ยงอวี่
เว่ยอ๋องเป้าเห็นกองทัพของเซี่ยงอวี่เข้มแข็งเกรียงไกรก็อ้างว่าจะไปเยี่ยมญาติออกจากกองทัพของเล่าปัง
เมื่อถึงเหอกวนก็เข้าหาเซี่ยงอวี่ ประกาศเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเล่าปัง
การแปรเปลี่ยนของเว่ยอ๋องเป้าเท่ากับเป็นการคุกคามต่อกองทัพของเล่าปังอย่างหนักหน่วง รุนแรง
โดยอาจจะถูกขนาบทั้งจากด้านซ้ายและด้านขวา
เล่าปังจึงส่งขุนพลลี่เซิงไปเจรจากับเว่ยอ๋องเป้า ขอให้กลับมาอยู่กับฮันเหมือนเดิมแต่เว่ยอ๋องเป้าปฏิเสธ
จึงจำต้องตั่งหานซิ่นเป็นแม่ทัพยกพลไปตีเว่ยอ๋องเป้า

หานซิ่นนำทัพมาจนถึงชายฝั่งแม่น้ำหวงเหอเห็นชัยภูมิเมืองพูปันเป็นต่อแก่ข้าศึก อีกทั้งยังมีกำลังของไป่จื้อรักษาไว้อย่างแน่นหนาก็รู้ว่าจักตีฝ่าข้ามไปได้โดยยาก
เมื่อใคร่ครวญอยู่เป็นเวลานานจึงคิด “ยุทธวิธี” ขึ้นมา
ตั้งค่ายลงฝั่งตรงข้ามพูปั่นปักธงทิวปลิวไสวไปโดยรอบ พร้อมกับหาเรือไว้จำนวนหนึ่ง
กลางวันให้ทหารฝึกซ้อมส่งเสียงอึกทึก
กลางคืนให้จุดไฟสว่าง เคลื่อนทัพอยู่ไปมาประหนึ่งว่าจะตีฝ่าข้ามแม่น้ำออกไป
ขณะเดียวกันก็แอบนำทัพหลวงเคลื่อนไปทางเหนือ
เลือกเมืองเซี่ยหยางเป็นจุดที่ลอบบุกข้ามฟาก
ทหารเว่ยเห็นกองทัพฮั่นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเคลื่อนทัพกันคึกคัก เสียงโวยวายก็ดังกึกก้อง
ก็เข้าใจว่าหานซิ่นจักตีฝ่ามาทางเมืองพูปั่นแน่แล้ว

ไป่จื้อตบโต๊ะแสดงความดีใจ “เจ้าหานซิ่นนี้ช่างโง่นัก พูปั่นของเรามั่นคงดังภูผา แข็งแกร่งประดุจเหล็กเพชร ซ้ำยังมีแม่น้ำหวงเหอซึ่งลึกและไหลเชี่ยวขวางอยู่
อย่าหวังเลยว่าจะข้ามฟากมาได้ มันมาหาที่ตายที่แท้”
ว่าแล้วก็นอนใจ กลับเข้าไปพักผ่อน
ฝ่ายทัพหลวงของฮั่นเมื่อถึงเซี่ยหยาง หานซิ่นให้ทำถังไม้จำนวนมาก ผูกติดกันเป็นพรวน ข้างบนเอาแผ่นไม้ปูทำเป็นแพ
ทหารฮั่นอาศัยแพลอบข้ามฟากไปเมืองเซี่ยหยาง
เนื่องจากทัพเว่ยมิได้มีทหารเฝ้า ทหารฮั่นจึงข้ามฟากไปได้อย่างสะดวกสบาย ครั้นแล้วก็บุกเข้าตีเมืองอั๋นอี้ทางแนวหลังของเว่ย
เว่ยอ๋องเป้ามิทันจะได้ระวังด้านนี้ แม้จะรีบจัดทัพออกต้านแต่ก็ต้านไม่อยู่
แม้กระทั่งตัวเว่ยอ๋องเป้าเองก็ต้องตกไปเป็นเชลยของหานซิ่น ประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

Advertisement

กลยุทธ์นี้จึงมีผู้สรุปตามสำนวนแปล บุญศักดิ์ แสงระวี ว่า
ที่ว่า “ส่งเสียงบูรพา ตีฝ่าประจิม” ก็คือ โดยภายนอก โดยผิวเผิน ทำให้ดูเสมือน หนึ่งว่าจะบุกทางนี้อย่างจริงจัง
แต่ที่แท้กลับบุกอีกด้านหนึ่ง
ทำให้ข้าศึกหลงผิด แล้วพิชิตเอาชัยในความหลงผิดนั้น
ไม่ว่าในพื้นที่การต่อสู้ทาง “การทหาร” ไม่ว่าในพื้นที่การต่อสู้ทาง “การเมือง” ล้วนสัมพันธ์กับเนื้อหาใจกลางแห่งการสร้างเป้าลวง
สร้างความเข้าใจผิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image