ภาพเก่าเล่าตำนาน : จิน เป็ง…นักต่อสู้ชายแดนใต้

ดินแดนปลายด้ามขวานไทย…มีเรื่องเล่าขานให้ลูก-หลานฟังได้เสมอ …จิน เป็ง คือ 1 ในตำนานตัวบุคคล ที่คนไทยรุ่นหลังควรต้องให้ความสนใจ…นับเป็นเบื้องหลังของการทำงานระดับ “ยุทธศาสตร์” ที่ไม่ค่อยมีใครทราบ

ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ที่คนกลุ่มหนึ่งจับอาวุธเข้าต่อสู้กันต่อเนื่องยาวนาน ควรต้องย้อนไปมองอดีตถึงการทำงาน เพื่อความเข้าใจภูมิหลังของสังคม

คำโบราณที่กล่าวว่า “มากหมอ มากความ” จริงที่สุด ทำเรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก ในที่สุดก็ “ล้มเหลว” ถึงเสียบ้านเสียเมือง

“เอกภาพ” ทางความคิด การปฏิบัติของแม่ทัพภาคที่ 4 ในอดีตสามารถนำทุกฝ่ายเข้าสู่โต๊ะพูดคุย กระทั่งเกิดความร่มเย็น-เป็นสุข ในพื้นที่ชายแดนใต้ กรณีของ จิน เป็ง เป็นความสำเร็จที่ใช้ “คนและเงิน” จำนวนน้อยนิด หากแต่ ล้นเหลือ มากด้วยสติปัญญา จนทำให้เกิดชุมชน บ้านปิยะมิตร 3 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2531 โดยกองทัพภาคที่ 4 เป็นหมู่บ้านยุทธศาสตร์ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมีข้อตกลงในการร่วมกันป้องกันชายแดน และดูแลรักษาป่าต้นน้ำสงบร่มเย็นมาถึงทุกวันนี้

Advertisement

ผู้เขียนขอขยายความ…นำมาบอกเล่าดังนี้ครับ…

ศตวรรษที่ 19 ชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพหนีตายทางเรือ ออกมาตั้งถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนจีนกลุ่มนี้ เรียกกันว่า “ชาวจีนช่องแคบ” (Straits Chinese) นับแสนคนมาขึ้นฝั่งที่เกาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะเมืองภูเก็ต ระนอง ปีนัง มะละกา คนไทยเรียกคนเหล่านี้ว่า บ้าบ๋า-ย่าหยา ในมาเลเซียเรียกพวกเขาว่า เปอรานากัน

แต่ไหน แต่ไร ชาวจีนที่อพยพไปอยู่ทั่วโลก มีความสำนึกในบ้านเกิดเมืองนอน เรื่องการส่งเงินกลับไปให้ญาติพี่น้อง ส่งเงินกลับเพื่อการต่อสู้ของกลุ่มก้อนของตน เป็นเรื่องที่ชาวจีนไม่เป็นสองรองใคร

Advertisement

พ.ศ.2454 ชาวจีนช่องแคบ (แม้กระทั่งชาวจีนในไทย) ได้รับการติดต่อจาก ดร.ซุน ยัต เซ็น ที่ทำสงครามปฏิวัติเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งเดินทางออกมาเรี่ยไรเงินจากชาวจีนโพ้นทะเล มาเยี่ยมชุมชนจีนหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้… ปีนัง เยาวราช และสำเพ็ง

จิน เป็ง (Chin Peng) เป็นใคร?

พ่อของเขาเป็นผู้อพยพมาจากเมืองจีน มาขึ้นบกในประเทศมาลายา (ชื่อเดิมของประเทศมาเลเซีย) ทำธุรกิจขายอะไหล่รถยนต์

จิน เป็ง เกิดเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ.2467 ในรัฐเปรัค ชื่อของเขาคือ เฉิน ผิง ชื่อจีนว่า อวง บุน ฮั้ว (Ong Boon Hua) ช่วงวัยรุ่นเข้าร่วมกับชาวมลายูเชื้อสายจีน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังจีนในการต่อสู้กับการรุกรานของญี่ปุ่น

(ในช่วงเวลานั้น กองทัพญี่ปุ่นรุกรานจีนแผ่นดินใหญ่)

พ.ศ.2482 สำเร็จจากโรงเรียนจีนน่ำฮั้ว บิดามีฐานะดี ทำธุรกิจบนเกาะปีนัง เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา เมื่ออายุ 18 ปี ฉลาดเฉลียว ทุ่มเท กระทั่งได้เป็นกรรมการพรรคประจำเมืองอีโปห์ เมื่ออายุ 19 ปี

ย้ายจากโรงเรียนจีนไปเรียนที่ British Methodist แต่หลังจากผ่านไป 6 เดือน ก็ออกจากโรงเรียนเพื่อหนีจากการครอบงำของอังกฤษและกลายเป็นนักปฏิวัติ ไปซ่อนตัวอยู่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมลายู

เวลานั้น…อังกฤษปกครองมาลายาเป็นอาณานิคม

8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปเอเชีย กองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นแหลมมลายู (รวมทั้งบุกเข้าไทย) เพื่อนร่วมงานอาวุโส 2 คนของเขาถูกทหารญี่ปุ่นจับ กองทัพญี่ปุ่นเข้าตีที่ตั้งทหารอังกฤษและทหารในการปกครองของอังกฤษ

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 กองทัพอังกฤษในมาลายา “พ่ายแพ้อย่างง่ายดาย” ต่อกองทัพญี่ปุ่น ทหารอังกฤษและพันธมิตรของอังกฤษถูกจับเป็นเชลยนับหมื่นคน ถูกจับใส่รถไฟขนส่งมาเป็น “ทาสแรงงาน” สร้างทางรถไฟสายกาญจนบุรีในประเทศไทย

ต้นปี พ.ศ.2486 จิน เป็ง รับผิดชอบพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา เจรจาขอ “เข้าร่วม” กับอังกฤษ เพื่อทำสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น

ประชากรเชื้อสายจีนในมาลายาหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างเต็มใจที่สุดในช่วงสงคราม

กันยายน พ.ศ.2486 จิน เป็ง ทำงานกับหน่วยคอมมานโดของอังกฤษที่ปฏิบัติการในเมืองเปรัค… ด้วยหลักการที่ว่า …ศัตรูของศัตรูคือมิตร ยื่นข้อต่อรองกับกองทัพอังกฤษว่า อังกฤษจะต้องปล่อยตัวเพื่อนของเขา ในขณะที่กองทัพอังกฤษยังคงมีหน่วยคอมมานโดจำนวนหนึ่งในมาลายา กองกำลังของจิน เป็ง ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคอมมานโดอังกฤษในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองมาลายา

สิงหาคม พ.ศ.2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝ่ายบริหารอาณานิคมของอังกฤษหวนกลับเข้ามาปกครองมาลายาอีกครั้ง ท่าทีของอังกฤษเปลี่ยนไป ไม่แยแสกับการทุ่มเทของ จิน เป็ง

จิน เป็ง วางแผนต่อต้านอังกฤษที่ “หักหลัง”

มิถุนายน พ.ศ.2491 เกิดเหตุฆาตกรรมชาวยุโรป 3 ราย ซึ่งทุกฝ่ายระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์ชาวมลายูเป็นฆาตกร จิน เป็ง ปฏิเสธ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน อังกฤษและทหารมาลายานำกำลังเข้าปราบปรามกำลังของจิน เป็งในป่า ติดพัน ต่อเนื่อง ใกล้ชายแดนไทย

เมื่อไม่มีทางเลือก จิน เป็ง จึงประกาศจะจัดตั้ง “รัฐอิสระ” ที่เป็นคอมมิวนิสต์ในมาลายา การสู้รบที่คร่อมระหว่างรอยต่อไทย-มาเลเซีย สร้างความอึดอัด ล่อแหลมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ปลายปี พ.ศ.2498 มีการพูดคุยเพื่อยุติสงครามที่เมือง “บาลิง” (BALING TALK) ใกล้ชายแดนไทย จิน เป็งขอให้ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ขอนิรโทษกรรมผู้ก่อความไม่สงบ หากแต่การพูดคุยล้มเหลว

พ.ศ.2499 จิน เป็ง ลักลอบเข้ามาในเขตไทย มีกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้กับรัฐบาลในมาเลเซียผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก

พ.ศ.2503 ในช่วงปลายปี จิน เป็ง เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปักกิ่งเพื่อขอความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตง ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง …กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาแข็งแกร่ง รบแบบกองโจรตามพื้นที่ป่าเขา ตะเข็บชายแดน รุนแรง ต่อเนื่องราว 12 ปี เป็นภัยคุกคามต่ออาณาเขตประเทศไทย

ในเวลานั้น พลโทกิตติ รัตนฉายา แม่ทัพภาค 4 เข้าไปหาทางเจรจา พูดคุยกับ กลุ่มของ จิน เป็ง เพื่อปูทางไปสู่สัญญาสงบศึกระหว่าง คอมมิวนิสต์มาลายา (พคม.: Communist Party of Malaya) กับรัฐบาลมาเลเซีย ทหารไทยที่เข้าใจสถานการณ์ “อยู่หน้างาน” ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” อย่างต่อเนื่อง มีเอกภาพในการทำงาน รู้ปัญหาอย่างถ่องแท้

ก องทัพภาคที่ 4 หาทางยุติสงคราม ความขัดแย้ง ตามนโยบายของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ สร้างหลักประกันความปลอดภัย โดยให้กองกำลังของ จิน เป็ง เป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ win-win situation

2 ธ.ค.2532 มีการลงนาม 3 ฝ่ายทำสัญญาสงบศึก ณ โรงแรมลีการ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีข้อตกลงว่า สมาชิกพรรคที่เป็นคนมาเลเซียจะได้รับอนุญาตให้กลับคืนสู่มาเลเซียได้

จิน เป็ง ที่ขอลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ยื่นคำร้องขอเพื่อจะกลับเข้าไปในมาเลเซียหลายครั้ง… หากแต่ไม่ได้รับคำตอบ

พ.ศ.2549 ภาพยนตร์เชิงสารคดีเกี่ยวกับ จิน เป็ง ในชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์คนสุดท้าย ถูกคว่ำบาตรในมาเลเซีย

พ.ศ.2551 ศาลสูงของมาเลเซียมีแถลงการณ์ “ปฏิเสธ” คำร้องขอของจิน เป็ง โดยอ้างว่าเขาไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นพลเมืองของเขาผ่านเอกสารที่สูญหายไปนานแล้วได้ เลยต้องพำนักอยู่ในประเทศไทย…จิน เป็งมีปัญหาสุขภาพรุนแรง

16 กันยายน 2556 จิน เป็ง เสียชีวิต ณ โรงพยาบาลในกรุงเทพฯเมื่ออายุ 88 ปี…ทำพิธีศพ ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ รัฐบาลมาเลเซียยังปฏิเสธไม่ให้นำอัฐิของเขาเข้าประเทศ

ในพิธีฌาปนกิจของ จิน เป็ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีต ผบ.ทบ. และอดีต นรม. ที่เกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้มาตลอด ให้สัมภาษณ์ว่า… “จิน เป็ง เป็นคนตรงไปตรงมา คุยกันเข้าใจง่าย เขาช่วยเหลือบ้านเมือง ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดความสงบสุข ถ้าไม่ได้จิน เป็ง ก็ไม่รู้ว่าปัญหาในพื้นที่ภาคใต้เรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์จะเป็นอย่างไร…”

“ผมรู้จักกับจิน เป็ง เพราะพลเอกกิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นคนติดต่อประสานงานให้ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อแก้ไขของ จคม.ได้สำเร็จ ที่ผ่านมาผมก็ดูแลมาโดยตลอด ทั้งตัวของเขาเอง ลูกหลาน และคนสนิทของเขา โดยมีการจัดที่อยู่อาศัย แม้แต่วันนี้ลูกหลานของจิน เป็ง ยังพักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร อ.เบตง จ.ยะลา ก็สุขสบายดี มีเงินใช้กันหมดแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมเจอกับเขาครั้งสุดท้ายก็ตอนที่เขาป่วยและไปเยี่ยมเขา…”

เป็นการ “ดับไฟ” กองมหึมาในพื้นที่ด้ามขวานที่น่าสรรเสริญยิ่ง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image