ขยะนครหาดใหญ่ เหตุเกิดที่เมืองควนลัง

ขยะนครหาดใหญ่ เหตุเกิดที่เมืองควนลัง

สถานที่กำจัดขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลควนหลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2524 ด้วยวิธีเทกองบ้าง เผาบ้าง จนถึงปี 2535 เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดให้พื้นที่อำเภอหาดใหญ่เป็นเขตควบคุมมลพิษ (ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2535) จึงได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะยกระดับจากการเทกองบ้าง เผาบ้างไปเป็นการฝังกลบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

นครหาดใหญ่และท้องถิ่นข้างเคียงมีการขยายเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ข้อมูลในปี 2548 ปริมาณขยะที่เข้าสู่ระบบกำจัดของเทศบาลนครหาดใหญ่ก็มีมากกว่า 200 ตันต่อวันแล้ว ทำให้สถานที่กำจัดขยะประมาณ 135 ไร่ต้องรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีเริ่มเต็มจนมีสภาพเป็นกองสูงให้เห็น เวลานั้นเทศบาลนครหาดใหญ่จึงกำหนดแผนที่จะย้ายสถานที่กำจัดขยะโดยเตรียมพื้นที่สำรองไว้กว่า 500 ไร่ที่ตำบลทุ่งขมิ้น อำเภอนาหม่อม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้จากเหตุความขัดแย้งกับชุมชนรอบพื้นที่ จึงต้องย้อนกลับมาใช้พื้นที่เดิมที่ตำบลควนลังอีกครั้ง ด้วยการก่อสร้างบ่อฝังกลบในพื้นที่ที่ยังหลงเหลือควบคู่ไปกับการจ้างเอกชนรื้อร่อนกองขยะเก่า เพื่อนำพื้นที่มาใช้ในการฝังกลบขยะรายวันอีกครั้ง แม้กระทั่งต้องเทกองซ้อนทับพื้นที่ที่เคยปิดไปแล้วจนเป็นกองขยะขนาดใหญ่ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ในที่สุดเทศบาลนครหาดใหญ่ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาโดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้างระบบกำจัดขยะแบบเตาเผา วาดหวังว่าเทคโนโลยีเตาเผาที่เอกชนเสนอจะสามารถกำจัดขยะรายวันจากพื้นที่นครหาดใหญ่และจากท้องถิ่นอื่นๆ ได้หมด อีกทั้งจะสามารถกำจัดขยะที่ทับถมเป็นภูเขาขยะขนาดใหญ่ให้หมดลงได้ เดือนมิถุนายน 2553 เทศบาลนครหาดใหญ่จึงลงนามสัญญากับบริษัทเอกชนเพื่อลงทุนก่อสร้างระบบกำจัดแบบเตาเผาภายในพื้นที่ของสถานที่กำจัดขยะของเทศบาลและให้สิทธิในการเดินระบบเป็นเวลา 25 ปี โดยเอกชนได้ผลตอบแทนเป็นค่ากำจัดขยะจากท้องถิ่นที่นำขยะไปกำจัด และรายได้หลักจากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า

Advertisement

ย้อนกลับไปในปี 2524 เมื่อเทศบาลนครหาดใหญ่เริ่มเข้าไปใช้สถานที่กำจัดขยะในตำบลควนลัง สถานที่ดังกล่าวอยู่ติดกับถนนสายสนามบินหาดใหญ่แต่ในเวลานั้นพื้นที่รอบๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสวนยางและที่ดินว่างเปล่า มีบ้านเรือนเบาบาง แต่ 20 ปีต่อมา เขตเมืองของตำบลควนลังขยายตัวตามแนวถนนสายสนามบิน เกิดโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยของเอกชน สถานที่ราชการและโรงเรียน โดยเฉพาะหลังจากที่เทศบาลนครหาดใหญ่มีแผนจะปิดสถานที่กำจัดขยะและเตรียมการปรับภูมิทัศน์ โดยจะย้ายไปใช้พื้นที่ในตำบลทุ่งขมิ้นที่ได้เตรียมไว้ พื้นที่รอบๆสถานที่ฝังกลบจึงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งฐานะขององค์การบริหารส่วนตำบลควนลังเองก็ถูกยกขึ้นเป็นเทศบาลตำบลในปี 2546 และเป็นเทศบาลเมืองในปี 2550

ดังนั้น การกลับไปใช้พื้นที่ตำบลควนลังเป็นสถานที่กำจัดขยะอีกครั้ง หลังจากที่ไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในตำบลทุ่งขมิ้น ทำให้ชุมชนรอบๆซึ่งเวลานั้นได้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและสถานที่ราชการไปมากแล้วรู้สึกผิดหวังและตกอยู่ในสภาพพะอืดพะอม รอยปริแห่งความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นทั้งสองเริ่มปรากฏขึ้น เทศบาลเมืองควนลังเห็นว่ากองขยะที่ทับถมมาตั้งแต่ปี 2524 จนเป็นภูเขาจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนและเป็นภาพติดลบต่อศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่น เทศบาลเมืองควนลังได้สะท้อนความเห็นนี้ไว้ใน “บันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระหว่าง เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองควนลังและบริษัท จีเดค จำกัด” ที่จัดทำและลงนามต่อหน้าพยานในเดือนกันยายน 2557

ความตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหากองขยะที่ทับถมว่า “จนถึงปี 2549 เทศบาลนครหาดใหญ่จึงได้ริเริ่มที่จะดำเนินโครงการกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาซึ่งที่ผ่านมาก็ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยรอบสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไว้เป็นที่เรียบร้อย และทุกฝ่ายก็ได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันแล้ว ก่อนที่เทศบาลนครหาดใหญ่จะเริ่มต้นดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จนถึงเมื่อช่วงปี 2553 เทศบาลนครหาดใหญ่ได้เข้าทำสัญญามอบหมายให้บริษัท จีเดค จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดมูลฝอยชุมชน แต่เนื่องด้วยที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวยังคงติดขัดในเรื่องการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเทศบาลนครหาดใหญ่และเทศบาลเมืองควนลังในส่วนของปัญหาขยะมูลฝอยเดิมที่ทับถมกันอยู่ในพื้นที่หลุมฝังกลบขยะดังกล่าว ซึ่งยังหาข้อยุติที่เป็นรูปธรรมและได้รับความเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ จึงเป็นผลกระทบทำให้การดำเนินโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของเทศบาลนครหาดใหญ่ต้องล่าช้าออกไปกว่าแผนงานที่กำหนดไว้เดิม มีผลทำให้เทศบาลเมืองควนลังยังไม่สามารถออกใบอนุญาตการใช้อาคาร (อ.6) ให้แก่บริษัทจีเดค จำกัด”

Advertisement

การจัดการกับขยะที่ทับถมมายาวนานจนเป็นภูเขากลายเป็นปมของความขัดแย้ง และเป็นเงื่อนไขที่เทศบาลเมืองควนลังเรียกร้องให้เทศบาลนครหาดใหญ่จัดการก่อนการออกใบอนุญาตการใช้อาคาร (อ.6) ให้แก่โรงงานกำจัดขยะแบบเตาเผาของเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งหากเทศบาลเมืองควนลังไม่ออกใบอนุญาตนี้ แม้จะก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จก็ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ ข้อเรียกร้องนี้เองเป็นที่มาของการจัดทำ “บันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระหว่างเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองควนลังและบริษัท จีเดค จำกัด”

ด้วยความเชื่อว่าโรงงานเตาเผาขยะนี้มีประสิทธิภาพดีพอที่จะจัดการกับกองขยะเก่าที่ทับถมได้ เทศบาลนครหาดใหญ่จึงจัดทำแผนการจัดการขยะที่ทับถมและแผนการปรับภูมิทัศน์ โดยกำหนดแล้วเสร็จภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2558 แผนงานและแบบการปรับภูมิทัศน์ดังกล่าวกลายเป็นเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงที่ร่วมลงนามในครั้งนั้นด้วย แต่แล้วการทำงานของโรงงานเตาเผาขยะแห่งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะหลังจากการเริ่มเดินระบบตั้งแต่ปลายปี 2557 ไม่นานนัก ชุมชนรอบโรงงานก็ได้รับผลกระทบทั้งจากกลิ่นขยะที่ขนเข้าสู่โรงงาน กลิ่นจากการเผา เสียงรบกวนและเขม่าควัน และต่อมาเตาเผานี้ก็มีปัญหาไม่สามารถกำจัดขยะที่เข้าสู่โรงงานได้ทั้งหมด เป็นเหตุให้เทศบาลนครหาดใหญ่ต้องประกาศหยุดรับกำจัดขยะจากท้องถิ่นอื่นในปี 2560 และทุกครั้งที่โรงงานต้องหยุดซ่อมแซม ขยะรายวันทั้งหมดไม่ถูกเผาแต่ถูกนำไปเทกองไว้ในพื้นที่ฝังกลบเดิม กองขยะที่เคยหวังจะได้รับการจัดการให้ลดลงกลับถูกเททับถมสูงขึ้นไปอีก ตลอดเวลาของการเดินระบบของโรงงานแห่งนี้ก่อปัญหาจนมีเหตุให้ชุมชนร้องเรียนไปยังหน่วยงานของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง จนถึงเมษายน 2566 เมื่อหลักฐานชัดเจนว่า โรงงานเตาเผาแห่งนี้ขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถกำจัดขยะได้ตามสัญญาที่เอกชนทำไว้กับเทศบาลนครหาดใหญ่ ยังก่อผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมจากการนำขยะขึ้นไปเทกองทับซ้อนพื้นที่ฝังกลบเดิม และผิดเงื่อนไขตามใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้าที่ออกโดยคณะกรรมการกิจการพลังงาน โรงงานจึงต้องเดินระบบจากคำสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

ภาระหนักกลับมาตกแก่เทศบาลนครหาดใหญ่ที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้ปัญหาลุกลามไปเป็นวิกฤตขยะล้นเมือง จนต้องลงมือจัดการกับขยะรายวันเองและก็ไม่มีทางเลือก ขยะทั้งหมดก็ถูกนำขึ้นไปเททับบนกองขยะเดิม และแม้ว่าจะดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างไร ผลกระทบต่อชุมชนก็เกิดขึ้นแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คำถามจึงเกิดกับเทศบาลเมืองควนลัง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเทศบาลนครหาดใหญ่จะแก้ไขอย่างไร และนี่เองคือเหตุที่ทำให้เทศบาลเมืองควนลังออกหนังสือถึงเทศบาลนครหาดใหญ่ “ระงับการทิ้งขยะ” ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 หลังจากที่เตาเผาหยุดเดินระบบมา 1 ปีพอดี

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image