พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : สัมพันธ์ หิน ไข่ สัมพันธ์ นาย vs บริวาร เปราะบาง อ่อนไหว

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : สัมพันธ์ หิน ไข่ สัมพันธ์ นาย vs บริวาร เปราะบาง อ่อนไหว

ชัยชนะของหานซิ่นไม่ว่าจะมาด้วย “ส่งเสียงบูรพา ฝ่าตีประจิม” ไม่ว่าจะมาด้วย “ลอบตีเฉินซาง” เป็นความดีความชอบอย่างแน่นอน
กระนั้น ความแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวระหว่างฮั่นอ๋องกับหานซิ่นก็ยังไม่ราบรื่น
มองอย่างเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์ระหว่างฮั่นอ๋องกับเซียวเหอ ความสัมพันธ์ระหว่างฮั่นอ๋องกับจางเหลียง สวยสด งดงาม
เมื่อคนหนึ่งเอ่ย อีกคนพยักหน้า
นี่ย่อมต่างไปจากความสัมพันธ์ระหว่างฮั่นอ๋องกับหานซิ่น อาจเพราะต่างฝ่ายต่างอยู่ในเส้นทางเดียวกัน
นั่นก็คือ เส้นทางแห่ง “นักรบ”
กระนั้น เมื่อศึกษาอย่างหยั่งลึกลงไปแล้วก็จะมองเห็นรอยต่ออันเป็น “ช่องว่าง” อย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้มีความเปราะบางเกิดขึ้น ดำรงอยู่
เป็นรอยต่อตั้งแต่แรกที่หานซิ่นเข้ามาเป็น “แม่ทัพ”

อาจประเมินและสรุปได้ว่า เป็นช่องว่างอันเบียดขบในความเห็นต่างต่อสถานการณ์เป็น “แม่ทัพ” ระหว่างฮั่นอ๋องกับหานซิ่นซึ่งดำรงอยู่ยาวนาน
จะเห็นได้จากเมื่อทัพฌ้อปาอ๋องถอย
สิ่งแรกที่ฮั่นอ๋องทำคือเรียกจางเหลียง ตันแผงมาพลางถามอย่างตรงไปตรงมาว่า “ที่ทัพฌ้อถอยไปโดยเร็วนั้นท่านเห็นว่าเป็นเพราะเหตุใด”
คำตอบจางเหลียงคือ
เป็นเพราะรู้ข่าวอ๋องหลินตีเผิงเฉิง เผิงอวด ตีได้เมืองวาอึง กับการที่หยินโป้จะยกมาช่วยไต้อ๋องทัพฌ้อจึงรีบถอย
เห็นควรเราจะทิ้งเมืองเซงโกไปหาหานซิ่น
ข้อเสนอของจางเหลียงตรงกับใจของฮั่นอ๋องถอนออกจากเมืองเซงโกไปตั้งอยู่นอกเมืองเตียวในตอนพลบค่ำ
เช้าวันรุ่งขึ้นก็รุดไปยังค่ายของหานซิ่นพร้อมทหาร 15 คน

ยุทธนิยายไซ่ฮั่นสำนวนแปล “วังหลัง” บรรยายภาพออกมาว่า ฝ่ายหานซิ่นกับจางยี่วันนั้นเสพสุรานอนหลับยังไม่ตื่น
พระเจ้าฮั่นอ๋องก็เข้าไปเที่ยวดูในค่ายจนรอบ
แล้วเดินเข้าไปถึงที่อยู่หานซิ่นเห็นโต๊ะตั้งอยู่ข้างศีรษะเอาแพรเหลืองคลุมไว้จึงให้ทหารเปิดดู
ปรากฏเป็นหีบตราสำหรับแม่ทัพ
จึงเปิดแล้วหยิบตราไว้ หานซิ่นครั้นตื่นเห็นพระเจ้าฮั่นอ๋องเสด็จมาก็ตกใจลงจากที่นอนคุกเข่าแล้วว่า
“ไต้อ๋องเสด็จมาข้าพเจ้ามิได้ออกไปรับนอกค่าย โทษสมควรตาย”
“เราเที่ยวดูค่ายจนเข้ามาถึงนี่ท่านก็ยังไม่ตื่น ทั้งทหารก็พากันหลับสิ้น ถ้ามีข้าศึกเข้ามาก็จัดตัดศีรษะท่านเสียโดยง่าย”
นั่นเสมอดั่ง “ปฏิสันถาร” เบื้องต้น

แต่ที่หนักหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าย่อมเป็น “เรามายืนอยู่ให้ทหารเปิดโต๊ะเห็นหีบตราเราหยิบตรามาไว้ได้ ท่านเป็นแม่ทัพเพิ่งตีได้เมืองเตียว
ทำการประมาทเช่นนี้ถ้าชาวเมืองคิดกลับใจทำอันตรายจะมิเสียราชการหรือ”
ยุทธนิยายไซ่ฮั่นสำนวน “วังหลัง” บรรยายเน้นๆ ว่า ฝ่ายหานซิ่นได้ยินพระเจ้าฮั่นอ๋องตรัสถามมาดังนั้น
“มีความละอายดังหน้าจะพัง”
เมื่อจางยี่เข้ามาคำนับพระเจ้าฮั่นอ๋องอีกคนหนึ่งสำทับจากพระเจ้าฮั่นอ๋องยิ่งลงลึกในรายละเอียด
“จางยี่ก็เป็นนายทหารรองหานซิ่น
ไม่ช่วยกันจัดแจงตรวจตราค่ายคูให้มั่นคง ทำละเลยอยู่เช่นนี้ถ้าข้าศึกล่วงรู้เข้าจะเป็นอันตรายขึ้นตัวจะพ้นความผิดหรือ”
เด่นชัดว่า ทั้งหานซิ่น ทั้งจางยี่ บกพร่อง
พระเจ้าฮั่นอ๋องยึดกุมหลักการมั่นแน่ว “ถ้าจะว่าตามอาชญาศึก หานซิ่นต้องถอดออกจากแม่ทัพ ตัวท่านก็โทษถึงตายเราคิดว่าตัวท่านมีความชอบอยู่
ถ้าจะทำการไปภายหน้าเช่นนี้อีกเราจะเอาโทษตามอาชญาศึก”
พระเจ้าฮั่นอ๋องไม่คืนตรา “แม่ทัพ” ให้กับหานซิ่นขึ้นมา กลับไปยังค่ายหลวง หานซิ่น จางยี่เดินตามมา
พระเจ้าฮั่นอ๋องจึงให้ขุนนาง นายทหารเข้ามาพร้อมกัน
ตรัสเล่าเรื่องที่ไปเยือนค่ายพบเห็นสภาพหานซิ่น จางยี่ ระบุว่าหานซิ่นมีความผิดควรจะถอดจากแม่ทัพ
สภาพการณ์เช่นนี้ยากยิ่งจะตำหนิพระเจ้าฮั่นอ๋อง
สภาพการณ์อาจแตกต่างไปจากรายละเอียดเมื่อหานซิ่นอยู่โปตง เนื่องจากเป็นสภาพการณ์ในแนวหน้า
บทบาทที่เคยเป็นของเซียวเหอ จึงเป็นของจางเหลียง

Advertisement

จางเหลียงทูลขึ้นว่า “ครั้นแผ่นดินเลียดก๊ก เมืองโอยมีทหารคนหนึ่งชื่อโกเปียนเป็นแม่ทัพ ทำข่มเหงราษฎรเอาไก่มากิน 2 ตัว
เจ้าเมืองโอยรู้ความจึงถอดจากแม่ทัพ
จูสิ้นทูลเจ้าเมืองโอยว่า “คำโบราณว่า ท่านจะใช้คนเหมือนเอาไม้มาทำการใหญ่ เลือกเอาที่ยาว เห็นสั้นแล้วทิ้งเสีย บัดนี้ยังไม่วายการศึกจะเอาข้อผิดที่ลูกไก่ 2 ตัวมาลบล้างความชอบที่โกเปียนซึ่งชนะศึกมาถอดเสียจากแม่ทัพหาควรไม่”
เจ้าเมืองโอยได้ฟัง จึงใช้ให้เอาไก่ไปใช้ราษฎรเสีย แล้วตั้งโกเปียนเป็นแม่ทัพดังเก่า
ครั้งนี้หานซิ่นทำความชั่วแค่ครั้งหนึ่งขอไต้อ๋องคิดถึงความดีซึ่งหานซิ่นเคยทำไว้”

ไม่ว่ามองผ่านบทบาทของเซียวเหอที่เมืองโปตง ไม่ว่ามองผ่านบทบาทของจางเหลียงที่เมืองเตียว
ล้วนเป็น “บทเรียน” ล้วนเป็นการหนุนเสริม “หานซิ่น”
ลักษณะ “ร่วม” ของทั้งเซียวเหอและจางเหลียงก็คือ เอาบทเรียนจากอดีตมาเป็นเครื่องสังวร
นี่ย่อมเป็นท่วงทำนองในแบบ “กุนซือ” นักวาง“กลยุทธ์”
ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งการต่อสู้ของเล่าปัง ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งการต่อสู้ของเล่าปี่ ณ เบื้องหน้าจางเหลียง ณ เบื้องหน้าจูกัดเหลียง
คือเรื่องราวแห่ง “อดีต” จดจารไว้เป็น “ประวัติศาสตร์”
สะท้อนให้เห็นว่า นักวางกลยุทธ ดำรงตนในฐานะฝ่ายบุ๋นแวดล้อมอ๋องหากไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็ยากจะมีบทเรียน
ไม่ว่าเซียวเหอ ไม่ว่าจางเหลียง

จากนี้จึงเห็นได้ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าฮั่นอ๋องกับหานซิ่นมีช่องว่างอันเป็นรอยโหว่ดำรงอยู่อย่างลึกซึ้ง
เป็นความลึกซึ้งที่หานซิ่นมิได้ตระหนัก
เป็นความลึกซึ้งที่พระเจ้าฮั่นอ๋องดำรงอยู่ในฐานะเป็น “นาย” ขณะที่หานซิ่นดำรงอยู่ในฐานะเป็น “บริวาร”
“ปัญหา” ที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเครื่องกล่อมเกลา
เพียงแต่ในสถานการณ์แห่งการกล่อมเกลา เคี่ยวกรำ หานซิ่นมิได้ตัวเปล่าเล่าเปลือย หากแต่มีคนมองเห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน
ไม่ว่าจะเป็นเซียวเหอ ไม่ว่าจะเป็นจางเหลียง
สถานการณ์เมืองเตียวอาจเป็นความผิดพลาด ขาดความระมัดระวังของหานซิ่นอย่างชัดเจน มิอาจอภิปรายถกเถียงได้
แต่นั่นก็เป็นเพียง “รูปธรรม” หนึ่งในความสัมพันธ์
รูปธรรมแห่งความสัมพันธ์กับ “นาย” กับ “บริวาร” ดำรงอยู่เหมือนหินกับไข่เมื่อใดนั่นหมายถึงอันตราย
ไข่ตกบนหิน ไข่แตก หินตกบนไข่ ไข่แตก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image