เลือก ส.ว.ใหม่หลักผสมผสาน ฐานวิชาชีพ-ฐานประชาชน

เลือก ส.ว.ใหม่หลักผสมผสาน ฐานวิชาชีพ-ฐานประชาชน

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอผ่านไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาระดับจังหวัดจะเลือกวันที่ 16 มิถุนายน ระดับประเทศวันที่ 26 มิถุนายน

ความสับสน วุ่นวาย โต้แย้ง คัดค้าน ยังเกิดขึ้นไม่จบสิ้น ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้สมัคร ส.ว.ขอให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและส่งเอกสารหลักฐานต่อศาลภายใน 5 วัน ยังไม่ได้กำหนดวันพิจารณาวินิจฉัยเมื่อไหร่

เหตุการณ์ฟ้องร้อง ทำให้เกิดความหวั่นไหว ไม่มั่นใจว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้การเลือก ส.ว.เป็นโมฆะ ต้องล้มเลิก ทำให้ ส.ว.ชุดเดิม 250 คน อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่

Advertisement

ก่อนหน้านี้เกิดกรณีวุฒิสมาชิกคนดังแฉ โพยก๊วนฮั้วเลือก ส.ว. มีรายชื่อระดับประเทศ 149 คน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องออกเอกสารชี้แจงว่า การเลือกผู้สมัครส.ว. ในระดับ อำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ยังไม่ได้ดำเนินการลงคะแนน การเสนอข่าวเข้ารอบตัดเชือก เลือกในระดับประเทศแบบนอนมาถึง 149 คนแล้ว จึงเป็นการคาดเดาปราศจากพยานหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริง

ความจริงที่แท้ จะเป็นไปอย่างที่ถูกแฉ หรือคำชี้แจงของ กกต. ก็แล้วแต่ ต้นเหตุของปัญหาทั้งหลายทั้งปวง สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับคุณคนดี ปราบโกง

อีกทั้งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ว. พ.ศ.2561 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือก ส.ว. 2 ฉบับ ซึ่งถูกผู้สมัคร ส.ว.ฟ้องต่อศาลปกครองว่ามิชอบด้วยกฎหมาย จำกัดสิทธิเสรีภาพผู้สมัครและปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน ศาลปกครองกลางตัดสินให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าวแล้ว

Advertisement

เฉพาะรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ว.พ.ศ.2561 เกิดการยอมรับว่า เพิ่งตรวจเจอว่ามีมาตราที่เป็นปัญหา ทำให้สามารถจัดคนมาลง เกิดการฮั้วและบล็อกโหวตได้

เมื่อเป็นอย่างนี้ มาพบความจริงกันภายหลังเลยเกิดคำถามย้อนกลับไปว่า แล้วตอนยกร่างปล่อยให้ออกมาได้อย่างไร ในเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่หลัก คือ การกลั่นกรองกฎหมาย โดยตรง

ผลกระทบตามมาจากความไม่แน่นอนในการเลือก ส.ว.ก็คือ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การขาดความเชื่อถือต่อระบอบประชาธิปไตยไทย ขาดความเชื่อมั่นทั้งคนไทยด้วยกันและสายตาชาวโลก

ใคร องค์กรไหน ควรรับผิดชอบต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จนปั่นป่วน มาถึงวันนี้

มองลึกลงไป เหตุเกิดเพราะฐานความคิดที่ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ ประชาชน

จึงทำให้การออกแบบที่มาของวุฒิสภา ไม่ให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกโดยตรง เพราะเกรงกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเขียนลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ว.ไว้อย่างเข้มงวด ถึง 10 ข้อ ในจำนวนนั้นรวมถึงห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ฯลฯ

ทำให้การออกแบบที่มาของ ส.ว. เปลี่ยนจากหลักการความยึดโยงกับประชาชน มาใช้แนวคิดกลุ่มวิชาชีพเป็นครั้งแรก

กระนั้นก็ตามยังเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา นอกจากการฮั้ว จัดตั้งจ้างให้ลงสมัครเพื่อเลือกผู้จ้างวาน ไม่เลือกตัวเองแล้ว

ปัญหาสำคัญคือ ผู้สมัครจากฐานกลุ่มวิชาชีพนั้นๆ เป็นตัวแทนที่แท้จจริง ได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ในวิชาชีพนั้นหรือไม่ เป็นมืออาชีพของแท้ หรือของเทียมมากกว่า

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครสามารถสมัครได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง รับรองจากสมาคมวิชาชีพ และกฎหมายมิได้กำหนดว่าผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกสมาคมหรือสภาวิชาชีพ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอีกว่า วิชาชีพต่างๆ มีทั้งสมาคมวิชาชีพที่จดทะเบียนตามกฎหมายและไม่จดทะเบียน แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน

สมาคมหรือสภาวิชาชีพจะกลายเป็นองค์กรอิทธิพล มีบทบาททางการเมืองเกินไปหรือไม่

การเลือก ส.ว.ภายใต้ฐานคิดที่มาจากกลุ่มวิชาชีพ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก จะเป็นครั้งเดียวหรือครั้งสุดท้าย หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักการและวิธีการใหม่ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากยืนยันตามหลักเดิม สภาร่างรัฐรรมนูญคงต้องออกแบบใหม่ให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ได้นักวิชาชีพที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพที่แท้จริงให้มากที่สุด ขณะเดียวกันควรยึดโยงกับประชาชนด้วย

ผมมีข้อเสนอล่วงหน้าฝากไว้ให้พิจารณา หลักผสมผสานทั้งหลักฐานวิชาชีพกับหลักความยึดโยงกับประชาชน

เมื่อได้รายชื่อผู้สมัครจากกลุ่มวิชาชีพทั้งหมดที่ผ่านการเลือกระดับอำเภอแล้ว ให้ประชาชนในจังหวัดเป็นผู้ลงคะแนนเสียง เลือกผู้สมัครคนใดจากจากวิชาชีพใดก็แล้ว แต่เสียงส่วนใหญ่ของผู้ลงคะแนนเสียง และสิ้นสุดแค่นั้น

โดยปรับจำนวนวุฒิสมาชิกใหม่ แต่ละจังหวัดมีเท่าไหร่ให้เป็นไปตามสัดส่วน คำนวณตามจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ จังหวัดละ 1 คนสูงสุดไม่เกิน 3 คน รวมทั้งหมดทั่วประเทศอาจเกิน 200 คนหรือต่ำกว่า ก็ให้เป็นไปตามนั้น

ผู้ได้รับเลือกสุดท้ายทุกคน ไม่ว่าจะมาจากวิชาชีพใดก็ตาม ถือว่าเป็น ส.ว.ของทุกสาขาอาชีพ ทำหน้าที่เป็น ส.ว.ของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image