ภาพเก่าเล่าตำนาน : ชาวอีสาน…ไปยิงบั้งไฟใน จ.นราธิวาส

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ชาวอีสาน...ไปยิงบั้งไฟใน จ.นราธิวาส

รางเลือนเต็มทีครับ…ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ชาวอีสานกลุ่มหนึ่งทยอยลงไปตั้งถิ่นฐานใน จ.นราธิวาส พื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ในเขตนิคมสร้างตนเองในโครงการพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนคนอีสานกว่า 2,000 ครัวเรือน…แถมยังไปจัด “ยิงบั้งไฟ” แบบชาวอีสานสืบทอดกันมา 45 ปี กลายเป็นกิจกรรมฮือฮาของ จ.นราธิวาส

10 มิ.ย.67 ผู้เขียนได้รับเชิญให้เดินทางไปบรรยายเรื่อง “การสร้างสันติภาพในจังหวัดอาเจะห์อินโดนีเซีย” ตามคำเชิญของสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งไปเปิดหลักสูตรการอบรมให้กับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ราว 60 คน ใน จ.ปัตตานี
ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน มีสุภาพสตรีในวงอาหารแนะนำตัวว่า “ดิฉันเดินทางมาจาก จ.นราธิวาส ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว พ่อ-แม่เป็นชาวพุทธ อพยพมาจากโคราชราว พ.ศ.2523 ตั้งแต่ตนเองเป็นเด็กเล็ก มาเรียนหนังสือ ใช้ชีวิต ปกป้องชายแดนไทย-มาเลเซีย กลายเป็นคนนราธิวาสไปแล้ว..ชาวอีสานมาช่วยดูแลชายแดนใต้นะ…”
ผู้เขียนที่นั่งในโต๊ะอาหารเกิดอาการ “หูผึ่ง” ทันที ตามมาด้วยคำถามแบบรัวๆ ว่า …อ้าว…ชาวอีสานอพยพมาอยู่นราธิวาสได้ยังไง?
คำตอบจากเธอที่เริ่มเล่าเรื่อง ทำเอาหลายคนต้องฟัง สรุปความแบบกระท่อนกระแท่นได้ว่า…ช่วง พ.ศ.2523 มีคนอีสานที่มีฐานะยากจนอพยพมาอยู่ใน จ.นราธิวาส…มายังไงจำไม่ได้แล้ว
หลังมื้ออาหาร…ผู้เขียนรีบไปค้นข้อมูลอย่างใจจดใจจ่อ…

ข้อมูลจากหนังสือ “ย่องไปชายแดนใต้” เขียนโดยชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ระบุเอาไว้ว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2506 มีมติให้กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น จัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ จ.นราธิวาส เพื่ออพยพราษฎรที่มีฐานะยากจนและไม่มีที่ดินทำกินจากท้องที่ต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัย ประกอบอาชีพในเขตนิคมฯ ครอบคลุมพื้นที่ อ.สุคิริน และ อ.จะแนะ โดยให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินจัดสรรพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย

นิคมสร้างตนเอง อ.สุคิริน มีเนื้อที่รวมเกือบ 3 แสนไร่ ครอบคลุมหลายตำบล โดยราษฎรจะได้รับการจัดสรรที่ดินให้ 18 ไร่ แบ่งเป็นที่ทำกิน 16 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่
ผู้เขียนไปค้นคว้าต่อจากเอกสารของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เรื่อง วิถีชีวิตและการปรับตัวของชาวอีสานย้ายถิ่นในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งทีมงานไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเมื่อ พ.ศ.2559-2560 คณะผู้วิจัยได้พูดคุยกับ ผู้ใหญ่บ้านอุดม ผู้ใหญ่บ้านนฤพนธ์ และ นายก อบต.นิพนธ์ สรุปความได้ความกระจ่างขึ้นว่า…

Advertisement

…ชาวบ้านใน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นชาวอีสานที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2518 ภายใต้โครงการผสมกลมกลืนชาติ และเป็นรัฐกันชนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยรัฐบาลจัดสรรที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัยและทํากิน ส่วนการปรับตัวชาวอีสานต้องปรับตัวในเรื่องการทํามาหากินนั่นคือ จากที่เคยทํานาเมื่ออยู่ภาคอีสาน ต้องมาเป็นชาวสวนยางพารา
การย้ายมาของกลุ่มผู้บุกเบิกพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่ทํากิน มีการสร้างบ้าน ทําสวนยางพารา สวนผลไม้ เพื่อรอเวลาสําหรับผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ จะได้มีที่พํานักและที่ทํากิน ผู้คนมาจากภาคอีสาน แทบทุกจังหวัดทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้
ชาวอีสาน…ต่างได้รับการแจ้งจากกรมประชาสงเคราะห์ ว่ามีพื้นที่ทํากิน และสร้างเป็นนิคมสร้างตนเอง ใครต้องการอพยพโยกย้ายก็จะให้ที่ทํากิน 16 ไร่ ให้ปลูกบ้าน 2 ไร่
ครั้งแรกโดยสารมาโดยรถไฟ ทหารมารับมาครั้งแรก ก็มีการแจกข้าวสาร 15 กก.ต่อเดือน ตอนมาอยู่ใหม่ เขาให้เราเบิกของหลายอย่างที่จําเป็น เช่น กระทะ เตาถ่าน และรถจักรยานให้ด้วย ให้เงินยังชีพเดือนละ 400 บาท แต่ถ้าเป็นเด็กๆ เขาจะให้น้อยลง

ตอนมาใหม่ๆ นั้น เข้านิคมไปเขามีข้าวของเครื่องใช้ให้หมดไม่ได้เสียเงินซื้ออะไรเลย เวลาไปทํางานก็จะมีรถจากนิคมเป็นรถ 6 ล้อ มารับ 2 คัน เพื่อไปทํางาน แต่ช่วงหลังๆ ถ้าเดินทางไปตลาดโก-ลกรถ 6 ล้อของนิคมจะไปรับไปส่ง ค่าโดยสารไปกลับ 25 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่ากู้หนี้มาจ่ายหนี้เป็นเงิน 5,000-6,000 บาทโดยประมาณ ก็ไปกู้มาจากกองทุนหมู่บ้านธนาคารออมสินออมทรัพย์…
รุ่นที่ 1 ที่ได้รับพระราชทานที่ดิน พวกที่ไม่มีหนี้ บ้านที่อยู่อาศัยทางนิคมก็สร้างให้ มีที่ดินให้ทําสวน-ทําไร่ รุ่นหลังๆ ที่มากันไม่มีที่ดินทํากินให้ เพราะอพยพมากันเอง ลําบากมาก
ในช่วงปี 2532 จึงได้ร่วมกันถวายฎีกาสมเด็จพระพันปีหลวง ยื่นถวายกรมสมเด็จพระเทพฯ ผมเป็นคนเขียนหนังสือยื่นถวายเอง ภาษาที่ใช้เขียนก็เป็นภาษาชาวบ้านเพื่อขอที่ดินปลูกบ้าน
ตอนนั้นผมยื่นไปในปี 2536 หลังจากนั้นสมเด็จพระพันปีหลวงก็ได้เสด็จฯมา ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ตอนที่ได้หนังสือฎีกา ตอนนั้นผมอยู่ อ.เบตง มันไกลบ้านเกินไป พ่อแม่ผมไม่ได้ไป ผมมีครอบครัวแล้ว พ่อแม่ผมมีลูกเยอะ พ่อแม่มีที่ดิน แต่ผมไม่มี จากนั้นก็ได้ที่ดิน จากที่ผมได้ขอถวายฎีกาไป ผมขอจัดสรรที่ไอปาโจ หมู่ 1 และอีกคนที่ได้คือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ที่ดินที่เขาได้คือ หมู่ 1

ยายอํานาจ โมลานอก อายุ 72 ปี อยู่บ้านหนองปรือ อ.พิมาย โคราช จบชั้น ป.4 สามีเดินทางอพยพมาก่อนเมื่อปี 2523 ยายอํานาจอพยพมาเมื่อปี 2524 ปัจจุบันอยู่ร่วมกัน 7 คน ลูกของลูกชาย 4 คน อาชีพทําเกษตร ทําสวนยาง ผลไม้ แต่ก่อนนี้ยายทอผ้า และร่อนทอง ตอนนี้ไม่ทอผ้าแล้ว ทอไม่ไหวอายุมากขึ้น ลูกชายตัดยาง ลูกสะใภ้เป็นครู ชื่อมะลิโมลานอก (คนพัทลุง) การทํามาหากินนอกจากจะปลูกพืชแล้วยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงวัว และเลี้ยงไก่ด้วย แรกๆ ที่มายายมาอยู่บ้านคนที่เขากลับไปภูมิลําเนาเดิมซ่อมต่อจากเจ้าของเดิม เราไปสมัครที่นิคมสุคิริน เขาก็ให้บ้านหลังนี้มาอยู่ต่อจากเจ้าของคนเดิม หนี้ที่ค้างไว้ของคนเดิมก็โอนมาให้ยาย ต้องมารับหนี้และซ่อมบ้านหลังนี้เพื่อให้อยู่อาศัยได้ สามียายมาทําอาชีพรับจ้าง คนมาก่อนหน้าชวนมาดูรับจ้างถางป่า เสร็จแล้วอยู่ได้ก็เลยไปรับครอบครัวมาอยู่ด้วยกัน มีที่ดิน 16 ไร่ ที่ทํากิน 2 ไร่ ต้องจ่าย 135,000 บาท จ่ายเดือนละ 1,300 บาท ให้นิคม บางครั้งก็ร้องไห้อยากกลับบ้าน เพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ตรงนั้นก็มีระเบิด ตรงนู้นก็ยิงกันตาย มีแต่ป่าแก่ เขายกบ้านให้อยู่ ปัญหาทุกวันนี้ยางราคาถูก ไม่มีคนทํา ยายปลูกผลไม้ เงาะมังคุด ทุเรียน ได้กิโลกรัมละ 16 บาท แกะหมากขายด้วย กว่าเงินเดือนลูกสะใภ้จะออก และส่งเงินไปให้ลูกคนที่อยู่โคราช เรียนหนังสืออยู่

Advertisement

น้อย ซึ่งเป็นชาวบ้านตําบลภูเขาทองได้เล่าให้ฟังว่า เดิมเป็นคนอุบลราชธานี อยู่ อ.วารินชําราบ มาพร้อมกันทั้งครอบครัว จํานวน 10 คน พ่อ แม่ และลูก 8 คน ส่วนตนเองในสมัยนั้นอายุเพียง 4 ขวบ มาอยู่ที่ ต.ภูเขาทอง เพราะโครงการ ADB จัดให้คนมาอยู่ในบ้านที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันตะเข็บชายแดน เขาไปบอกว่าจะจัดสรรที่ดินให้ ตอนที่มาได้นั่งรถไฟฟรีมีข้าว หม้อ มุ้งหมอนให้ แต่พอมาช่วงที่นิคมจะปิดตัวทางภาครัฐเขาบอกว่าให้ไปเคลียร์หนี้กับ ธ.ก.ส. ตนเองไม่มีเงิน มีแต่เงินคนชรา ได้รับคนละ 800 บาท กับสามี รวมแล้วเดือนหนึ่งจะได้เงินประมาณ 1,600 บาท ก่อนหน้านี้ในช่วงที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาใหม่ๆ มีปัญหาในเรื่องที่ชาวบ้านเกิดความกลัวขบวนการโจรจีนก่อการร้ายมาลายา
ชาวบ้านกลัว นั่นคือปัญหาความมั่นคง ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ต้องการให้มีการแบ่งแยกแผ่นดิน…
ข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ยังเปิดเผยอีกว่า…
ส่วนใหญ่เป็นคนมาจาก จ.นครราชสีมา คิดเป็นร้อยละ 47.9 รองลงมาได้แก่ มีภูมิลําเนาเดิมอยู่ จ.บุรีรัมย์ คิดเป็นร้อยละ 20.4 มาจาก จ.สุรินทร์ และ จ.หนองคาย คิดเป็นร้อยละ 5.4 และ 5.0

พื้นที่ ภูมิประเทศที่จัดสรรให้ชาวอีสานเป็นอย่างไร?

ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะ ที่นี่ในอดีตมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง
ย้อนไปในปี พ.ศ.2474 ชาวฝรั่งเศสได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณภูเขาโต๊ะโมะ มีราษฎรอพยพเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ภายหลังได้เกิดมหาสงครามเอเชียบูรพา ชาวฝรั่งเศสหนีภัยสงครามกลับประเทศ รัฐบาลจึงได้ดำเนินการต่อประมาณปีกว่าๆ ก็เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นสะดมทองคำ และเหตุการณ์ความไม่สงบ รัฐบาลจึงได้ล้มเลิกกิจการ ราษฎรจึงได้อพยพกลับถิ่นฐานเดิม…
พื้นที่ ต.ภูเขาทอง ภูมินิเวศมีลักษณะเป็นป่าดงดิบ 2 ผืนที่เรียกว่า ฮาลา-บาลา ที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่มีชื่อเรียกคู่กัน ประกอบด้วย “ป่าฮาลา” จ.นราธิวาส กับ “ป่าบาลา” ที่ครอบคลุมพื้นที่ อ.แว้ง และ อ.สุคิริน อุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่บนภูเขาสูง-ต่ำ เป็นป่าดิบชื้น
ต.ภูเขาทองมี 8 หมู่บ้าน มีประชากรจํานวน 2,035 คน จํานวนครัวเรือน 804 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชาวอีสาน มีครอบครัวมุสลิมและคนจีน5 ครอบครัว
9 มิ.ย.67 ที่ผ่านมามี มีงานบุญบั้งไฟของชุมชนชาวอีสาน ในพื้นที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นประเพณีเพียงแห่งเดียวในพื้นที่ด้ามขวานชายแดนใต้

เป็นยุทธศาสตร์ชาติ…ที่ชาวบ้านยกย่องมาถึงทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image