การศึกษาวังเวง ไทยรั้งท้ายอาเซียน

การศึกษาวังเวง ไทยรั้งท้ายอาเซียน หลังรัฐบาลเศรษฐา

หลังรัฐบาลเศรษฐา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา วันที่ 11 กันยายน 2566 เข้าบริหารประเทศได้ไม่นาน องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Cooperation and Development) ประกาศผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International STudent Assessment) ปี 2022

จากประเทศสมาชิกที่ส่งตัวแทนนักเรียนอายุ 15 ปี เข้าทดสอบ 81 ประเทศ เป็นนักเรียนไทยจาก 279 โรงเรียน จำนวน 8,495 คน

คะแนนเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน ด้านการอ่าน 476 คะแนน

คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทย ด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน ด้านการอ่าน 379 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทุกวิชา

Advertisement

เทียบกับการทดสอบครั้งก่อนหน้า (PISA 2018) ลดลงทั้ง 3 ด้าน คณิตศาสตร์ลดลง 25 คะแนน วิทยาศาสตร์ ลดลง 17 คะแนน การอ่าน ลดลง 14 คะแนน

ผลการประเมินโดยเฉลี่ยในภาพรวมของปี 2022 สมรรถนะเด็กในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ OECD ลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนนักเรียนไทย ทุกทักษะทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ตัวเลขผลประเมินดังกล่าวสร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คนในแวดวงการศึกษาไทยเป็นการใหญ่อีกครั้ง

Advertisement

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าเป็นผลกระทบจากการเผชิญความท้าทายการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

ต่อมามีการตั้งคณะทำงานจากทุกหน่วยงาน วิเคราะห์ปัญหา กำหนดมาตรการแก้จุดบกพร่อง พร้อมมาตรการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ ทั้ง 3 ด้าน

มีการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การใช้ PISA ในทางปฏิบัติ : พลังของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการศึกษา-การเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา”

เชิญ ผอ.ฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, เลขาธิการสภาการศึกษา, ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย, และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก OECD ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับผลการทดสอบ PISA มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนองค์กรหลัก และผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ PISA รวม 20 หน่วยงาน

“เมื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาแล้วผลคะแนน PISA ในรอบถัดไปยังไม่ดีขึ้นจะขอรับผิดชอบด้วยการพิจารณาตัวเอง” พล.ต.อ.เพิ่มพูนประกาศขึงขัง

วันเวลาผ่านไปไม่นาน ยังไม่ทันถึงรอบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะพิจารณาตัวเอง

องค์กรที่ชื่อว่า EF English Proficiency Index เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถภาษาอังกฤษดีที่สุด โดยทดสอบทักษะภาษาจากผู้ใหญ่มากกว่า 2.2 ล้านคน ใน 113 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น 5 ระดับความเชี่ยวชาญ คือ สูงมาก, สูง, กลาง, ต่ำ และต่ำมาก

เฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ผลปรากฏดังนี้
อันดับ 2 สิงคโปร์ 631 คะแนน สูงมาก
อันดับ 20 ฟิลิปปินส์ 578 คะแนน สูง
อันดับ 25 มาเลเซีย 568 คะแนน สูง
อันดับ 58 เวียดนาม 505 คะแนน กลาง
อันดับ 79 อินโดนีเซีย 473 คะแนน ต่ำ
อันดับ 90 เมียนมา 450 คะแนน ต่ำ
อันดับ 98 กัมพูชา 421 คะแนน ต่ำมาก
อันดับ 101 ไทย 416 คะแนน ต่ำมาก

ผมอ่านข่าวผลการทดสอบ ทั้งสองรายการนี้แล้ว คิดถึงการปฏิรูปการศึกษาเชิงระบบของไทยที่ผ่านมา 2 ครั้งใหญ่

ครั้งแรกหลังปี 2540 ต่อมาเกิดสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปส.) 9 อรหันต์ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 เกิดการบริหารการศึกษาในรูปคณะกรรมการ เกิดองค์กร 5 แท่ง กพฐ. อาชีวะ อุดมศึกษา สำนักปลัดฯ สภาการศึกษา เกิดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มัธยมศึกษา เกิดสำนักทดสอบทางการศึกษา เกิดสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ)

ครั้งต่อมา หลังปี 2550-2560 รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) 23 ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมอนุกรรมการอื่นๆ อีกมาก เกิดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เกิด พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิดกรมส่งเสริมการเรียนรู้

ทั้งสองครั้งเกิดนวัตกรรมทางการศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว แต่เสียงเรียกร้อง โหยหาการปฏิรูปการศึกษาก็ยังดังอึงคนึงไม่จบจนถึงขณะนี้

เพราะผลที่ส่งถึงตัวเด็กและคุณภาพการศึกษาโดยภาพรวม เป็นไปในทางตรงข้าม

ผลการทดสอบภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจน ว่าความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ผ่านมา ไม่ส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงจุลภาคอย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาเกิดจากอะไร จะแก้ไขกันที่ไหน ระบบหรือคน

ทำให้นึกถึงคำกลอนที่มีผู้รจนาไว้น่าอ่าน

คนดี ระบบดี ย่อมดีแน่
คนดี ระบบแย่ พอแก้ไข
คนแย่ ระบบดี ไม่ช้าก็ไป
คนแย่ ระบบแย่ บรรลัยเอย

คนในที่นี้ หมายถึงใคร

เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูผู้สอน นักบริหารการศึกษา นักการเมือง

ผมมองไปที่ครู ครับ ถ้าครูได้รับการพัฒนา ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนขนานใหญ่

เกิดการปฏิรูปครูอย่างจริงจัง

ไม่ใช่เฉพาะแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้นจะดีขึ้น ทุกสาระวิชาจะดีไปด้วย

สำคัญที่สุด ทักษะ สมรรถนะต่างๆ ของเด็กที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตจะเกิดขึ้น หากการปฏิรูปครูดำเนินไปถูกทิศ ถูกทาง

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ที่ใช้เวลานับสิบปีไม่สำเร็จ (ทั้งๆ ที่พูดกันในสภาคนแล้วคนเล่าว่าเป็นยาหม้อใหญ่ เป็นเรื่องระยะยาว อีกไกลครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image