ขยะนครหาดใหญ่ วาระของจังหวัดสงขลา

ขยะนครหาดใหญ่ วาระของจังหวัดสงขลา

ขยะนครหาดใหญ่
วาระของจังหวัดสงขลา

ในบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 141 แห่งของจังหวัดสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรมากที่สุด ประมาณ 170,000 คน กอปรกับการเป็นเมืองสำคัญของจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จึงไม่แปลกที่ปริมาณขยะรายวันในพื้นที่นครหาดใหญ่จะเกิดขึ้นกว่า 200 ตันต่อวันในวันธรรมดา และอาจมากกว่า 250 ตัน ในช่วงวันหยุดหรือช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่จนห้องพักโรงแรมและรีสอร์ตไม่เพียงพอ เป็นปริมาณขยะรายวันมากที่สุดของจังหวัด และยังมีท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะค่อนข้างมากอีกหลายแห่ง เช่น เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลเมืองสิงหนคร และเทศบาลเมืองสะเดา เป็นต้น โดยรวมแล้วประเมินว่าปริมาณขยะรายวันที่เกิดขึ้นทั่วทั้งจังหวัดประมาณ 1,200-1,500 ตัน ขยะส่วนใหญ่จะถูกกำจัดด้วยการเทกอง เผากลางแจ้งหรือการฝังกลบที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ยกเว้น เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองบ้านพรุและเทศบาลเมืองสะเดาที่มีระบบฝังกลบที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีการป้องกันผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียง นอกจากนั้น ยังมีโรงงานคัดแยกขยะเพื่อผลิตเชื้อเพลิงขยะของเอกชนที่ตั้งในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหอยโข่งกับเตาเผาขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่กำลังเป็นปัญหาในเวลานี้

ปริมาณขยะรายวันที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นกับจำนวนประชากรและกิจกรรมของแต่ละท้องถิ่น ท้องถิ่นที่มีจำนวนประชากรพอๆ กันแต่กิจกรรมแตกต่างกัน เราจะพบเสมอว่าปริมาณขยะรายวันจะแตกต่างกัน ท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากๆ จะมีประชากรแฝงหรือผู้มาเยือนร่วมผลิตขยะในแต่ละวัน ส่วนการกำจัดของแต่ละท้องถิ่นขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน เช่น สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการกำจัดขยะ หรือการที่ท้องถิ่นมีทรัพยากรด้านบุคลากรและงบประมาณเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมีความคุ้มค่าในการที่จะลงทุนไม่ว่าจะเป็นด้วยงบประมาณของท้องถิ่นเองหรืองบอุดหนุนจากส่วนกลาง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายท้องถิ่นไม่สามารถมีระบบกำจัดขยะของตนเองจำเป็นต้องเข้าร่วมกับท้องถิ่นอื่นที่มีระบบกำจัด จึงเป็นเหตุผลของการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในการกำจัดขยะ ซึ่งเรียกกันว่า “Cluster” นั่นเอง โดยทั่วไปท้องถิ่นที่รวมกลุ่มกันจะอยู่ใกล้เคียงกัน โดยในกลุ่มจะมีท้องถิ่นที่เป็นหลักทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพมีระบบกำจัดที่สามารถรองรับขยะจากท้องถิ่นอื่นได้ และระยะทางที่รถเก็บขนเดินทางไปยังสถานที่กำจัดไม่ควรเกิน 50 กิโลเมตร แต่หากไกลกว่านั้นอาจต้องพิจารณาเรื่องสถานีขนถ่ายเพื่อลดภาระและเวลาการใช้งานของรถเก็บขน ด้วยหลักการนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดสงขลาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้กำหนดให้จัดการรวมกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการขยะของจังหวัดสงขลาออกเป็น 6 กลุ่ม ซึ่ง 5 ใน 6 กลุ่มมีท้องถิ่นที่มีความพร้อมเป็นเจ้าภาพโดยมีระบบกำจัดเพียงพอสำหรับรองรับขยะจากท้องถิ่นที่เข้าร่วมในกลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือเทศบาลนครหาดใหญ่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเจ้าภาพกลุ่มท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ เมื่อเริ่มต้นมีท้องถิ่นเข้าร่วม 27 แห่ง แต่เมื่อเตาเผาขยะที่ลงทุนและบริหารโดยเอกชนเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ปลายปี 2559 ประสิทธิภาพของเตาเผาลดลงเพราะต้องหยุดซ่อมแซมบ่อยจนไม่สามารถรองรับปริมาณขยะตามที่กำหนดไว้ได้ ทำให้เทศบาลนครหาดใหญ่ต้องประกาศงดให้บริการกำจัดขยะจากท้องถิ่นอื่นยกเว้นขยะจากเมืองควนลังที่มีข้อตกลงเฉพาะระหว่างสองเทศบาล ประสิทธิภาพที่ลดลงและผลกระทบต่อชุมชนที่เกิดขึ้นซ้ำซากจนในที่สุดเตาเผาขยะแห่งนี้ต้องหยุดเดินระบบด้วยคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในเดือนเมษายน 2566

ในห้วงเวลาเดียวกัน คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดสงขลาได้ทบทวนการรวมกลุ่มของท้องถิ่นเพื่อการจัดการขยะโดยประเมินจากสถานการณ์และศักยภาพของท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพแต่ละกลุ่ม ทำให้การรวมกลุ่มเหลือเพียง 5 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งเข้ามาแทนที่เทศบาลนครสงขลา โดยพัฒนาระบบกำจัดแบบเตาเผาที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ มีความคืบหน้าในการก่อสร้างและคาดว่าจะสามารถให้บริการกำจัดขยะแก่ท้องถิ่นได้ในช่วงปลายปี 2568 ปัจจุบันมีท้องถิ่นที่แสดงความจำนงเข้าร่วมกลุ่มแล้ว 96 แห่ง กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มของเทศบาลเมืองบ้านพรุ มีระบบฝังกลบและกำลังพัฒนาระบบกำจัดแบบเตาเผาเช่นกัน กลุ่มนี้มีศักยภาพในการรองรับปริมาณขยะค่อนข้างน้อยปัจจุบันมีท้องถิ่นเข้าร่วม 17 แห่ง กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มของเทศบาลเมืองสะเดา มีท้องถิ่นร่วมอยู่ในกลุ่ม 21 แห่ง แต่คาดว่าปริมาณขยะในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากยุทธศาสตร์การค้าชายแดนและแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีระบบกำจัดขยะด้วยการฝังกลบและกำลังพัฒนาโครงการเตาเผาขยะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยจะให้เอกชนลงทุนและบริหารจัดการ กลุ่มที่สี่เป็นโรงงานคัดแยกขยะเพื่อผลิตเชื้อเพลิงขยะซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองหอยโข่ง มีท้องถิ่นที่ร่วมใช้บริการ 4 แห่ง และจะมีเทศบาลนครหาดใหญ่มาร่วมใช้บริการ กลุ่มที่ห้าคือกลุ่มของเทศบาลนครหาดใหญ่ รับผิดชอบเฉพาะขยะในพื้นที่นครหาดใหญ่และเมืองควนลัง แต่ปัจจุบันไม่สามารถกำจัดขยะรายวันได้แม้กระทั่งของตนเอง

Advertisement

หลังจากที่เตาเผาขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ต้องหยุดเดินระบบจากคำสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในเดือนเมษายน 2566 เทศบาลนครหาดใหญ่พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตขยะล้นเมืองด้วยการขนขยะรายวันขึ้นไปเทกองในพื้นที่ฝังกลบเดิม และแล้ว เมษายน 2567 เทศบาลควนลังได้ออกหนังสือห้ามไม่ให้เทศบาลนครหาดใหญ่นำขยะเข้าไปเทกองในที่ฝังกลบเดิม เนื่องจากการร้องเรียนของชุมชนเรื่องผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น และนั่นเองที่เทศบาลนครหาดใหญ่จำเป็นต้องนำขยะรายวันกว่า 200 ตันไปจัดการที่โรงงานคัดแยกขยะในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหอยโข่ง

การจัดการขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่จะไปในทิศทางเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตกับนครหาดใหญ่อีกหรือไม่ เป็นปัญหาที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดสงขลาที่ควรเข้าไปช่วยคลี่คลายให้เทศบาลนครหาดใหญ่มีทิศทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาขยะย้อนกลับเข้าสู่เมืองจนมีสภาพขยะล้นเมืองกระทบต่อสุขภาวะของชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของจังหวัด และที่สำคัญคือกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพร่วมในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2025 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image