เหมือนเดินตามกรอบเดิมๆ 

เหมือนเดินตามกรอบเดิมๆ 

หลังจากที่ได้มีการพิจารณางบประมาณปี 2568 วาระหนึ่ง ไปเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ พร้อมกับที่มีถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการกระตุ้นตลาดเงินตลาดทุน ที่เรียกเป็นทางการว่า มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ต้องเรียกว่าเป็นครั้งแรกของรัฐบาลนี้ เพราะมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ถูกรับรู้มาอย่างกว้างขวางแล้ว และประสบกับปัญหาในการดำเนินโครงการมาโดยตลอด ทั้งแง่กฎหมาย และแง่การจัดสรรเงินทำโครงการ

จากเดิมที่บอกจะไม่กู้ ก็ต้องกู้กันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นโครงการที่หันหลังให้กันกับธนาคารกลาง แต่กว่าจะเข็นมาตรการกระตุ้นตลาดทุนออกมาได้ ก็ต้องรอจนตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยตกต่ำลงจนน่าใจหาย เรียกว่าซุปเปอร์บ๊วยระดับภูมิภาค น่าจะบ๊วยกว่าตลาดฮ่องกงเสียอีก นี่ถ้าไม่มีปัญหาตลาดหุ้นตกต่ำลงมากมายขนาดนี้ ผมเชื่อว่าคงไม่ได้เห็นมาตรการกระตุ้นที่ออกมาเป็นแน่แท้

แต่ปัญหาที่ตลาดมันบ๊วยได้ขนาดนี้ ก็คงคล้ายคลึงกันกับประเทศจีน คือประเทศขาดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะมัวแต่เล่นการเมือง เพียงแต่ว่าประเทศจีน ประสบปัญหาเฉพาะตลาดฮ่องกงเท่านั้น ที่เป็นแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์หลักในเซียงไฮ้ หรือเซินเจิ้น ไม่ได้มีปัญหาที่ระดับจีดีพีมากเหมือนเรา ภาคเอกชนเขายังทำเงินได้มาก ส่งออกได้มาก เพียงแต่ขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติคล้ายกัน นักลงทุนต่างชาติเขาย่อมต้องเลือกตลาดที่มีโอกาส และความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีนโยบายและจุดขายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

Advertisement

สิ่งที่ควรเขียนแปะไว้ข้างฝาเลยคือ นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเขามองที่นโยบายเศรษฐกิจก่อน เรื่องการกระตุ้นคือเรื่องระยะสั้น ตราบใดที่ยังไม่มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่คนยอมรับ ทำอะไรไปมันก็แค่ประคองตัว

จริงๆแล้ว การที่รัฐมองว่าตลาดหุ้นตกต่ำเพราะปัญหาจากสถานการณ์โควิด และเงินเฟ้อมันก็คงไม่ถูกต้องนัก เริ่มต้นแถลงข่าวก็โทษคนอื่นแล้ว ไม่เคยมองที่รอบตัว เพราะโควิดมันจบไปนานแล้ว ตลาดที่อื่นส่วนใหญ่ก็ฟื้นตัวเป็นรูปทรงตัววีด้วยซ้ำ หรือหันเหให้สัมภาษณ์อะไรก็โทษว่าเพราะปฏิวัติรัฐประหารมา ไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ตอนรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ เขาก็บริหารแล้วสถานการณ์ตลาดทุนก็ไม่ได้แย่มากเหมือนตอนนี้

บ้านเราก็ไม่ได้มีปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อสูง หรือดอกเบี้ยสูงเลย คนที่บ่นว่าดอกเบี้ยสูงส่วนใหญ่เป็น SME และเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีความพร้อมในการแข่งขัน ซึ่งเป็นธรรมชาติในการทำธุรกิจ คนอ่อนแอก็จะต้องบ่นและเหนื่อย ยิ่งยุคใหม่ต้องใช้เทคโนโลยี ต้องลงทุน แต่ธุรกิจบ้านเราไม่ค่อยชอบลงทุนด้านเทคโนโลยี รัฐยิ่งพยายามใช้มาตรการคลังในการประคองเศรษฐกิจทั้งหมด ยิ่งจะทำให้อนาคตเหนื่อยขึ้นไปอีก เพราะหนี้มันเพิ่มมาก การชำระหนี้และดอกเบี้ยก็ทวีตัวตาม ประเทศก็ต้องจำเป็นหารายได้ที่เรียกว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

การจะไปอ้างระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3 ที่เรียกว่า Base case ก็จะเป็นเรื่องไม่ได้ หรือไม่เพียงพอแล้ว ต่อไปถ้าจะโงหัวขึ้นให้ได้ ก็ต้องมากกว่า Base case อาจจะต้องเป็น 5 เป็น 6 การที่เราทำตัวเอง เร่งแจกเงิน แต่ไม่สร้างรายได้เข้าประเทศให้มากพอ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปเราจะมีปัญหาในภาพรวมเศรษฐกิจคือ ตกหล่มในกับดักหนี้ เศรษฐกิจจะอยู่ได้ต้องโตสูงกว่าเดิมมาก เสมือนประเทศมีเงินเฟ้อจากราคาสินค้าแพง ที่เรียกว่า Cost Push Inflation ซึ่งจะเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจเข้าสู่ภาวะยุคข้าวยากหมากแพง ฟันธงตอนนี้เลยว่า ถ้าจะให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภายใน คงจะเป็นไปไม่ได้เลย มันจึงเป็นคำตอบในตัวว่าโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีคุณูปการขนาดไหน

ท่านรัฐมนตรีคลังท่านพูดถูกในเรื่องว่า ต้องผลักดันนโยบายสองด้านใหญ่ๆ คือด้านการเกษตร เพราะเรามีศักยภาพด้านนี้ กับด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเคยส่งออกด้านนี้ได้มากๆ เพียงแต่ว่าปัจจุบันด้านอิเล็กทรอนิกส์มันใหญ่กว่าเดิมมาก ด้วยเทคโนโลยีสร้างความเสมือนจริง ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกันในประเทศเองว่า เราจะผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ด้านไหน ในขณะที่ทั่วโลก เขาตื่นตัวในการรองรับเซมิคอนดักเตอร์สำหรับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมันรวมถึงการจัดกับข้อมูลและประมวลผลข้อมูลด้วย เราคิดกันหรือยังว่าเราจะเป็นส่วนไหนในเทคโนโลยีนี้ ถึงจะกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนในอดีต เราแทบไม่มีหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ในกระดานเลย เท่าที่เห็น ก็มีเพียง Hana Delta นโยบายด้านเกษตรยุคใหม่ ที่ชอบเรียกกันว่า SmartFarm Industry ก็ไม่เห็นรูปธรรม รวมถึงการดำเนินงานด้านนี้ ที่ได้ฟังส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องด้านน้ำ น้ำแล้ง น้ำท่วม และการชลประทาน ไม่เคยได้ยินเรื่องอื่นเลย

ผมอยากให้รัฐบาลเข้าใจให้มากๆว่า หากท่านต้องการพัฒนาตลาดทุน ท่านต้องออกมาชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจให้กับนักลงทุนต่างประเทศ และสื่อมวลชนสายต่างประเทศ ให้ดังไปทั่วว่านโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของท่านคืออะไร ประเทศไทยในอีก 5 ปี จะก้าวไปอยู่ตรงไหน โดยไม่จำเป็นต้องพูดไปไกลกว่านั้น และการลงทุนในยุคปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่การลงทุนในเมกะโปรเจก หรืออสังหาริมทรัพย์ เราไม่พูดถึงเป้าหมายเกิน 5 ปีเป็นแน่แท้

เพราะโลกมันคาดคะเนยากมาก ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อะไรจะเป็นอย่างไร ดุลอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร ทุนในยุคปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และมันต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ในระบบทุนกับทุนด้วยกันเอง เพราะธุรกิจที่จะเติบโต ต้องลงทุนมาก ต้องลงทุนด้านวิจัย นวัตกรรมและการพัฒนามาก บางธุรกิจต้องเดินผ่านการเพิ่มทุนครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะมีกำไรได้ ดังนั้นระบบทุนจึงเชื่อมกับทุนด้วยกัน ถึงจะมีศักยภาพ ถ้าเป็นทุนเดียวๆ ลงหุ้นไปครั้งเดียวก็เงินหมดแล้วครับ

เฉกเช่นการใช้กองทุนวายุภักษ์ มันก็ทำได้นานๆครั้ง ต้องเข้าใจว่าตามคอนเซ็บเดิมของกองทุนนี้ คือต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจลง จะได้เอาเงินมาลดหนี้สาธารณะ และต้องการเพิ่มแหล่งเงินออมให้ประชาชน เพราะผลตอบแทนในตลาดเงินมันต่ำมาก มันก็คงทำได้แค่ครั้งเดียว หลังจากทำในครั้งก่อน เมื่อประมาณปี 2546 ซึ่งผมมีส่วนร่วมในการออกนโยบายในครั้งนั้นด้วย ดังนั้นการทำกองทุนวายุภักษ์ มันก็จะไปช่วยซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บางส่วนที่รัฐเป็นเจ้าของ เอามาออกกองทุน ขายประชาชน

โดยรัฐบาลรับความเสี่ยงแทนให้ ด้วยขนาดที่ท่านรัฐมนตรีบอกไว้ ประมาณ 5 แสนล้าน ก็คงประคองตลาดได้บ้าง    เพราะตลาดบ้านเรามันมีขนาดที่ไม่ใหญ่ เพียงแต่มันคงประคองได้ในแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น และก็คงจะเป็นบาง sector เช่น พลังงาน ขนส่ง ธนาคาร สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องประเมินด้วยว่า การรับความเสี่ยงของกองทุนแทนผู้ถือหน่วย ย่อมเป็นภาระทางการคลังในอนาคตด้วย ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประเมินภาระอย่างไร ทั้งของเก่าและของใหม่

การออกกองทุน LTF ก็คงช่วยได้อีกบ้างเช่นกัน แต่มันคงไม่ได้มีผลชัดเจนมากเท่ากองทุนวายุภักษ์ เพราะนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุน LTF จะต้องประเมินผลในระยะยาว ถ้าเขามองว่าอนาคตอันใกล้ สภาพเศรษฐกิจไทยไม่ดีแน่ เขาคงไม่มาลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวเป็นแน่แท้ แต่อาจลงทุนในรูปแบบอื่นที่ประหยัดภาษีได้เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันแบบบำนาญ อีกส่วนหนึ่งที่ผมว่าอาจช่วยได้มากกว่ากองทุน LTF คือ กองทุนการออมแห่งชาติ

เนื่องจากได้ผลตอบแทนจากกองทุน คล้ายกับกองทุนกบข. หรือกองทุนประกันสังคม และได้เงินสะสมจากรัฐเข้ามาบวกเพิ่มอีก ถ้าเพิ่มขนาดที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ผมมั่นใจว่าประชาชนจะให้ความสนใจอย่างมาก และจะได้ขนาดเม็ดเงินที่มาก ที่เข้ามาช่วยระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพียงแต่ก็เช่นกัน ภาระทางการคลังจากกองทุนก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ประกันชีวิต ประกันบำนาญ นักลงทุนยังนิยมน้อย เพราะผลตอบแทนต่ำเกินไป ผู้มีเงินเดือนประจำในขั้นปานกลางขึ้นไป หรือคนที่มีความรู้มากหน่อย อาจให้ความสนใจเกี่ยวกับ ประกันสุขภาพ เพราะรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมันถีบตัวสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น เหมือนกันทั้งภูมิภาค โดยไทยถือว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ผมจึงเห็นว่า หากรัฐสามารถเจรจากับกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพ ให้มีการควบคุมราคาในลักษณะของการประกันประชาชนจำนวนมาก ทำให้เบี้ยมีราคาถูกลงและสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น และกำหนดรูปแบบการนำเงินไปลงทุนของกลุ่มธุรกิจประกันให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ต่อสภาพตลาดบ้าง ไม่มากก็น้อย

แต่ทั้งหมดนี้ การออกมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน เป็นเรื่องการพยุงชั่วคราว จะเห็นได้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ฟื้นตัวไม่กี่วันก็กลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1300 จุดเหมือนเดิม การขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ในระยะปานกลางขึ้นไป จะขึ้นอยู่กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของรัฐบาล ศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรที่มาบริหารประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วัดกันที่ศักยภาพในการสอดแทรกตัวเองเข้าไปสู่ตลาดโลกได้มากน้อยขนาดไหน

ถ้าทั้งหมดนี้ตอบออกมาว่าเต็ม 10 ได้ต่ำกว่า 5 โอกาสที่ตลาดทุนไทยจะฟื้นตัวก็คงยาก เว้นแต่จะฟื้นตัวเพราะวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจมันจบแล้ว ถึงจุดต่ำที่สุดที่ยังไงก็ต้องเริ่มฟื้นตัว ด้วยปัจจัยราคาที่ถูกจนเกินความคุ้มค่าในการลงทุนที่หักค่าความเสี่ยงออกแล้ว เมื่อนั้นมันก็จะฟื้นตัวของมันเอง ไม่ใช่เพราะฝีมือใคร

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image