โพลรัฐบาล

โพลรัฐบาล

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อรัฐบาลรอบ 6 เดือน โดยสำรวจกลุ่มประชากร 6,970 คน ระหว่างวันที่ 22 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม

พบว่า ภาพรวมกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 44.3 พึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมากถึงมากที่สุด

ในจำนวนนี้ กลุ่มตัวอย่างในชายแดนภาคใต้พึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น

Advertisement

ผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป

ผู้มีรายได้น้อยมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก

ในด้านนโยบาย นโยบายที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดคือ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ร้อยละ 68.4

Advertisement

รองลงมา คือ มาตรการพักหนี้เกษตรกร ร้อยละ 38.9 มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ร้อยละ 33.1 มาตรการลดค่าไฟร้อยละ 32.8 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ร้อยละ 29.3

ในด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศในระดับมากถึงมากที่สุด และในระดับปานกลางที่ ร้อยละ 39.6

ขณะที่ความต้องการของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

ความต้องการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ร้อยละ 75.3 ลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 46.6 แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง ร้อยละ 29.5 แก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 26.3 และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ร้อยละ 16.9

มองภาพรวมแล้วกลุ่มตัวอย่างยังมีความหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาปากท้อง และคุณภาพชีวิต ให้พวกเขาได้

มองจากนโยบายที่ประทับใจ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และการลดภาระหนี้ ยังเป็นตัวนำ

พอหันไปมองความต้องการก็พบว่า ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ยังเป็นปัญหาในด้านรายจ่าย ขณะที่ปัญหาสังคมยังคงเป็นเรื่องยาเสพติด

แต่ที่ต้องตั้งคำถาม คือ ราคาพืชผลซึ่งที่ผ่านมา พืชเกษตรหลักๆ ของไทยมีราคาดี แต่ทำไมจึงมีความต้องการให้รัฐบาลแก้ไขเร่งด่วน

ดูจากภาพรวมความพึงพอใจยังเป็นของรัฐบาล แต่ความพึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 39.6 ยังมีจำนวนร้อยละเป็นอันดับรองลงมาจากพอใจมากและพอใจ

กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้อาจจะเอียงไปโหวตให้ฝั่งพอใจหรือไม่พอใจก็ได้

เท่ากับว่ารัฐบาลยังมีงานต้องทำอีกมาก เพื่อดึงความพึงพอใจจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ให้พอใจ

ความพอใจหรือไม่พอใจ หากคิดเร็วๆ ก็คือ การแก้ปัญหาเร่งด่วน 5 อันดับแรกให้เห็นผล

ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ปัญหายาเสพติด และราคาพืชผล คือ ความท้าทาย

และเชื่อว่าเป็นระดับความท้าทายอย่างสูง เพราะแต่ละอย่างผูกโยงกับโลก

ราคาพลังงาน ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ค่าไฟฟ้า ผูกโยงกับโลกและภูมิรัฐศาสตร์

ราคาพืชผลมีปัจจัยจากไคลเมท เชนจ์

ทั้งภูมิรัฐศาสตร์และไคลเมท เชนจ์ เป็นเรื่องที่ไทยบังคับไม่ได้

ด้วยปัจจัยที่บังคับ หรือทำนายการเกิดได้ยาก การบริหารจัดการจึงกลายเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็น

ไทยต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีทักษะการบริหารจัดการที่ได้ผล มีรัฐมนตรีที่นำกระทรวงให้รับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

คุณสมบัติเช่นนี้ไม่ได้หามาได้ง่ายๆ

หนักยิ่งไปกว่านั้นคือ คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้จะมีสักกี่คนที่สามารถอยู่บนเวทีการเมืองไทยได้นานจนสามารถมีโอกาสแสดงฝีมือ

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image