สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘สุ่ม-มั่ว’อย่างมีแบนแผน?

‘สุ่ม-มั่ว’อย่างมีแบนแผน?

กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็น “นวัตกรรม?” (หรือจริงๆ แล้วอาจพลิกผันกลายเป็น “บาปกรรม”) ทางการเมืองชิ้นล่าสุดของประเทศไทยและสังคมโลก อันมีสภาพเปรียบเสมือน “เขาวงกต” ที่แสนสับสน ซับซ้อน วุ่นวาย ชวนงงงวย ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันที่ 9 มิถุนายน

ประเดิมกันด้วยการเลือกกันเองของผู้สมัครที่ต้องเสียเงินคนละ 2,500 บาท ในรอบอำเภอ ซึ่งมีการเลือกในกลุ่มอาชีพเดียวกันหนึ่งครั้ง แล้วมีการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มอีกหนึ่งครั้ง

ผู้ผ่านสองด่านแรกนี้ (ทั้งด้วยการมีคะแนนเสียงที่มากพอ, การเข้ารอบแบบอัตโนมัติเพราะไม่มีคู่แข่ง และการจับสลาก) ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการเลือก ส.ว.ในรอบจังหวัดต่อไป

Advertisement

เท่าที่จับตาดูสถานการณ์ความเป็นไปในวันที่ 9 มิถุนายน ดูเหมือนว่าจะมีทั้งคนดังคนมีชื่อเสียงที่ได้ผ่านเข้าไปสู่กระบวนการเลือก ส.ว.รอบจังหวัด และมีผู้ที่ฝ่าด่านรอบอำเภอไม่สำเร็จ

เหตุปัจจัยของการผ่าน-ไม่ผ่าน ก็คงขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครแต่ละรายเป็นที่รู้จักของคนในแวดวงไหนบ้าง และเลือกลงแข่งขันในสนาม (กลุ่มอาชีพ/อำเภอ/จังหวัด) ใด

ก่อนการเลือก ส.ว.จะเริ่มต้นขึ้น หลายคนมองกระบวนการครั้งนี้เป็นเหมือนการซื้อ “กล่องสุ่ม” ในความหมายที่ว่า
เราคล้ายจะไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์หรือหน้าตาของ 200 ส.ว.ชุดใหม่ได้เลย

Advertisement

เพราะนี่ไม่ใช่การเลือกตั้งอันเรียบง่าย ชัดเจน ที่วัดกันด้วยคะแนนเสียงของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ดังเช่นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไปจนถึงการเลือกตั้ง ส.ส.

ด้านหนึ่ง การเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

อีกด้านหนึ่ง ผู้ออกแบบการเลือกตั้งคงเถียงว่า กระบวนการ “สุ่มเลือก” แบบนี้ คือการพยายามป้องกันการผูกขาดสนามเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหญ่ บ้านใหญ่ หรือกลุ่มอิทธิพลชนิดอื่นๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อเกมการเลือก ส.ว.2567 ดำเนินไปเรื่อยๆ เราจะได้พบว่านอกจาก “พลเมือง” ที่สมัครเข้าไปเล่นเกมนี้เพราะตั้งใจไปเป็น “ผู้โหวต” มากกว่า “ผู้ได้รับเลือก” หรือผู้ที่กลับไปลงสมัคร ส.ว.ในบ้านเกิดแบบตัวคนเดียวแล้ว

ผู้สมัครหลายคนหลายกลุ่มกลับมีการวางแทคติค-กลยุทธ์ในการเล่นเกมที่ละเอียดลออและหวังผลชัดเจนมากกว่านั้น

กระทั่งน่าจะเป็นที่รู้กันว่า คนที่จะเข้าถึงเส้นชัยในการเลือก ส.ว.หนนี้ จำเป็นต้องมีกลุ่ม มีพวก มีเครือข่ายอำนาจ หรือมีเพื่อนมิตรร่วมอุดมการณ์ คอยสนับสนุนและร่วมเล่นเกมนี้ไปพร้อมๆ กัน

มิใช่การ “สุ่มเลือก” ของผู้คนที่แทบไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดังที่ กกต.อยากให้เป็นในช่วงแรกๆ

การเลือก ส.ว.ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ จึงอาจดำเนินไปในลักษณะของการ “สุ่มและมั่ว” ตรงเบื้องหน้า

ทว่า ในความเป็นจริงทางการเมือง (ของทุกฝ่าย) นี่จะเป็นการ “สุ่มและมั่ว” อย่างมีแบบแผนและมีไวยากรณ์ทางสังคมการเมือง (มากกว่าหนึ่งแบบแผน/ไวยากรณ์) กำกับอยู่อย่างเคร่งครัดมากพอสมควรตรงเบื้องหลัง

จากสนามเลือกระดับอำเภอสู่ระดับจังหวัด เราจะค่อยๆ ได้รับทราบว่า การกำกับดังกล่าวนั้นมีความเข้มแข็งหรือทรงอิทธิพลขนาดไหน และกระบวนการเลือก ส.ว.คราวนี้จะไหลลู่ไปตามแบบแผนไวยากรณ์ประเภทใดมากกว่ากัน

ก่อนที่คำตอบสุดท้ายจะปรากฏเด่นชัด เมื่อได้เห็นใบหน้า-ตัวตนของ ส.ว.ชุดใหม่ ทั้ง 200 คน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image