สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขานรับนโยบายเชิงรุก ปั้นไทย‘ฮับการบิน’

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
ขานรับนโยบายเชิงรุก
ปั้นไทย‘ฮับการบิน’

หมายเหตุนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการบินในภูมิภาคตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

⦁ หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายฮับการบินแล้วได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

กระทรวงคมนาคมพร้อมส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

Advertisement

กระทรวงคมนาคมมีแผนจะเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานเพื่อการรองรับการจราจรทางอากาศที่จะเติบโตในอนาคต เชื่อมโยงสนามบินกับโครงข่ายการเดินทางทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับฮับการเดินทางภูมิภาค อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) และท่าอากาศยานสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet) เพื่อจูงใจสายการบินทั่วโลกให้เข้ามาเปิดเส้นทางใหม่ ต่อยอดโอกาสด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ไปพร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากความสะดวกสบายของการเดินทางในเส้นทางการบินที่หลากหลาย กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ไปจนถึงการสร้างความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน

รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ภายใน 5 ปี รวมทั้งจะพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับขยายอาคารคลังสินค้าให้รองรับปริมาณสินค้าได้กว่า 3.5 ล้านตันต่อปี โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทยซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน

กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักในการส่งเสริมนโยบายดังกล่าว โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงสนามบินกับโครงข่ายการเดินทางทั่วประเทศและเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสมกับจำนวนและประเภทเครื่องบิน ปรับปรุงบัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ

Advertisement

⦁ มีแผนการดำเนินการอะไรบ้างเพื่อผลักดันไทยเป็นฮับการบิน ช่วยยกตัวอย่าง

เรามีแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี ขณะนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทสภ. (SAT-1) เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารเป็น 60 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งเตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ในปลายปีนี้ ซึ่งจะสามารถรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวต่อชั่วโมง และมีแผนก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี รวมทั้งมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี และแผนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าอากาศยานเดิมทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ตลอดจนศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันและท่าอากาศยานล้านนา เพื่อให้รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น

⦁ ตอนนี้สนามบินแออัดมาก

ขณะนี้ได้แก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบินอย่างเร่งด่วน รัฐบาลมีแผนยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน 6 ท่าอากาศยานของ AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพิ่มประสิทธิภาพงานบริการและบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน อาทิ 1.ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment: CUTE) 2.ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) 3.ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) 4.ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS) และ 5.ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติขาออก (Auto Channel) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) เป็นต้น

ทั้งนี้ การบูรณาการหน่วยงานที่อยู่ในความกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมจะช่วยส่งเสริมศักยภาพฮับการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย AOT ในฐานะ Airport Operator จะมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพการให้บริการ รวมถึงการกำหนดทิศทางการเชื่อมต่อที่เหมาะสมสำหรับเส้นทางการบินที่ควรจะเป็นสำหรับแต่ละท่าอากาศยาน ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะ Regulator มีบทบาทในการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงดูแลบริหารการจัดสรรเวลา (Slot) ให้แก่เที่ยวบินในแต่ละฤดูกาล โดยการพิจารณาจัดสรร Slot ให้เหมาะกับเที่ยวบินโดยจะพิจารณาขีดความสามารถทางวิ่งร่วมกันกับขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารและหลุมจอดอากาศยาน

สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเปิดใช้งานทางวิ่งที่ 3 จะทำให้ขีดความสามารถของทางวิ่งเพิ่มขึ้น และสามารถจัดสรร Slot ให้สายการบินเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งเที่ยวบินประจำ เที่ยวบินไม่ประจำ และเที่ยวบินผ่าน (transit) ทั้งนี้ กพท.มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าและความพร้อมในการเปิดใช้งานทางวิ่งที่ 3 เพื่อเตรียมการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารให้สอดรับนโยบายฮับการบิน โดยมีการจัดประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ AOT และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ตลอดจนการบริหารจัดสรร Slot ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการใช้กลไกการติดตามตรวจสอบ Slot Performance ของสายการบิน และการกำกับสายการบินให้วางแผนตารางการบินให้สอดคล้องกับจำนวนอากาศยานที่สามารถปฏิบัติการบินได้

และเพื่อให้มี Slot ว่างเพียงพอต่อการนำไปจัดสรรให้แก่เที่ยวบินใหม่อื่นๆ ได้ การเพิ่มความสามารถในการเป็นศูนย์กลางด้าน Transit hub ต้องเน้นด้านการเจรจาเพื่อเปิดสิทธิให้มีสนามบินต้นทางใหม่ๆ บินเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น มากกว่าการคำนึงถึงความต้องการของสายการบินสัญชาติไทยอย่างเดียว กพท.ได้เจรจาเพิ่มสิทธิการบินระหว่างประเทศกับประเทศคู่ภาคีต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รวมถึงการกำหนดนโยบายการแข่งขันด้านราคาให้มีความเหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และนำความอยู่ดีกินดีมาสู่พี่น้องประชาชน

⦁ อะไรที่เป็นอุปสรรค

ในส่วนของเรื่อง regulations ที่เป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน จะมีการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายด้านการบินให้เป็นระบบและไม่ซับซ้อน โดยสามารถพิจารณาโครงสร้างกฎหมายของประเทศชั้นนำบางประเทศที่เป็น Best Practices และปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่พยายามจะคุ้มครองผู้ประกอบการไทยมากเกินไปจากการมีมุมมองด้านเดียว เช่น การจ้างที่ปรึกษา การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ฯลฯ และการปรับปรุง พ.ร.บ.การเดินอากาศ เพื่อให้ พ.ร.บ.มีหมวดเฉพาะสำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ในการกำกับดูแล ส่งเสริม และการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันให้เกิดความชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาได้อย่างทันสถานการณ์

ทั้งนี้ กพท.จะสำรวจและทบทวนเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้การให้บริการ จดทะเบียน และอำนวยความสะดวกรวดเร็วกับการส่งเสริมเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเครื่องบิน Private Jet รวมทั้งการลดขั้นตอนหรือกระบวนงานที่ไม่จำเป็น และการพัฒนาระบบและวิธีการเผยแพร่ข้อมูลในด้านกฎหมายและกระบวนการเกี่ยวข้องที่ครบถ้วนและง่ายต่อการนำไปใช้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ของอุตสาหกรรมการบินให้ดีขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ บวท.ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ ดำเนินการจัดการจราจรทางอากาศน่านฟ้าไทย เกิดความปลอดภัย (Safety) และเกิดประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้สูงสุด (Optimize) รวมถึงด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (Security) ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล

ทราบว่า บวท.มีแผนการขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ได้แก่ การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพิ่มเติมขึ้นจากในปัจจุบันที่เป็นแบบเส้นทางบินเดียว หรือ One way route รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้วงอากาศและเส้นทางบินเข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง หรือ Metroplex จำนวน 3 กลุ่มสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง
อู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน (พังงา) และกลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง ล้านนา (ลำพูน) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้งาน เช่น ระบบหอบังคับ การบินอัจฉริยะ (Digital Tower) ระบบเชื่อมต่อข้อมูลการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (ATFM and ACDM Integration) และระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม (Satellite Base Navigation) เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และขยายขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน บวท.ยังได้ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานห้วงอากาศของประเทศร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการดำเนินการตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล ที่กระทรวงคมนาคมได้สั่งการปรับปรุงรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานทางการบินต่างๆ เพื่อยกระดับศักยภาพการให้บริการภาคการบินของประเทศไทย ให้มีความพร้อมรองรับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

หมายเหตุ เนื้อหามาจากฉบับพิเศษมติชน-ข่าวสดเรื่องฮับการบิน อิกไนต์ ไทยแลนด์ ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2567

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image