วัชชพล ปริสุทธิ์กุล นักบริหารท้องถิ่นคนรุ่นใหม่ของเทศบาลเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา

คนเปลี่ยนเมืองชวนล่องปักษ์ใต้สู่เมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ดินแดนที่มีพื้นที่ติดกับเพื่อนบ้านมาเลเซีย ขึ้นชื่อว่าเป็นด่านการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงแห่งหนึ่ง เป็นเมืองแห่งความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม และมีธรรมชาติสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ และนับวันก็ยิ่งมีการพัฒนาในแต่ละด้านได้อย่างน่าจับตา

จากการขับเคลื่อนของนักบริหารท้องถิ่นไฟแรงที่ได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากพี่น้องชาวสะเดาเมื่อปี 2564 อย่าง ‘นายกแบงค์’วัชชพล ปริสุทธิ์กุล

นายกเทศมนตรีเมืองสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เล่าว่าที่นี่เป็นเมืองชายแดน แต่ตำบลไม่ได้อยู่ติดชายแดน เป็นศูนย์กลางของอำเภอซึ่งมี 2 ด่านชายแดนสำคัญ ได้แก่ ด่านปาดังเบซาร์ กับด่านสะเดาอยู่ติดตำบลสำนักขาม เป็นเมืองที่มีประเพณีวัฒนธรรมหลากหลาย เพราะพี่น้องชาวสะเดามีหลายเชื้อชาติศาสนา สถานที่สำคัญทางศาสนาจึงมีทั้งโบสถ์คริสต์ มัสยิด และวัด

“ด้วยวิสัยทัศน์ ‘เมืองศูนย์กลางการค้าขายของอำเภอ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืน’ ความท้าทายในการพัฒนาเมืองจึงมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานถนนหนทาง เพราะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เส้นทาง ด้านการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย เพราะมีชาวมาเลเซียเข้ามาตลอด รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ”

Advertisement

พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ช่วยเกษตรกรหารายได้เสริม

“เมื่อเป็นศูนย์กลางของอำเภอ นอกเหนือไปจากการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว จึงต้องมีการบริหารจัดการหลายเรื่อง ทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การค้าขาย กระตุ้นเเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมตลาดสดเทศบาลเมืองสะเดา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ค้าขายตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน มีครบทุกอย่างของสดของแห้ง เป็นแหล่งจับจ่ายสำคัญ ทำให้เป็นตลาดน่าซื้อ และยังมีตลาดนัดต่างๆ หลายแห่ง ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน มีศูนย์อาหารของเทศบาล 2 แห่งสำหรับเช่าพื้นที่ค้าขายในราคาถูกมาก”

Advertisement

เทศบาลเมืองสะเดาให้การสนับสนุนหลายกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งปลูกยางพาราเป็นหลัก แต่ด้วยราคายางตกต่ำมานาน กองทุนสวนยางฯ กับเทศบาลเมืองสะเดา จึงต้องหาพืชผลอื่นๆ มาปลูกแซม จนได้มาเป็นต้นโกโก้ สามารถปลูกแซมระหว่างร่องยาง และเติบโตได้ดี

“จากเดิมที่เข้าใจกันว่าโกโก้ปลูกได้ดีเฉพาะภาคเหนือ แต่ปรากฏว่า พื้นที่ภาคใต้ที่อากาศร้อนชื้นก็สามารถขึ้นได้ดีเหมือนกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกโกโก้ไปแล้วประมาณพันไร่ เหมือนกับนำร่อง เพราะหลายคนไม่มั่นใจเรื่องตลาดรับซื้อผลผลิต ซึ่งปีนี้เกษตรกรชาวสะเดาปลูกเป็นปีที่ 3 เริ่มออกผลิตผลแล้ว ก็ต้องเร่งหาตลาดให้กับเกษตรกร”

ด้วยความตั้งใจจริงของนายกแบงก์ ร่วมมือกับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ทดลองเรียนรู้การแปรรูปโกโก้ให้เป็นช็อกโกแลตและโกโก้นิบส์ (Cacao Nibs) กระทั่งสำเร็จ ทำให้เกษตรกรคนอื่นๆ หันมาสนใจมากขึ้น เพราะเป็นอีกช่องทางหารายได้เสริม”

“นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว เลี้ยงร่วมกับสวนผลไม้หรือสวนยางพารา ราคาของชันโรงมีมากกว่าน้ำผึ้ง แค่ขวดเล็กก็ราคาเป็นพันแล้ว ผลิตได้เท่าไรมีคนรับซื้อตลอดทั้งปี เป็นรายได้ที่ดีมาก”

ที่ได้ทั้งเงินและกล่องก็คือ โครงการนำร่อง ‘ศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์ครบวงจร’ จากการรวบรวมขยะอินทรีย์ เช่น ผักตบชวา เศษผักจากตลาดสด และและสิ่งปฏิกูล ฯลฯ มาเข้ากระบวนการปุ๋ยหมัก บรรจุถุงเป็นปุ๋ยสามสหายวางจำหน่าย จนได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดีจากโครงการรวบรวมขยะอินทรีย์ครบวงจรอันดับ 3 ของประเทศ เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวสะเดา

ปลูกฝังทักษะสื่อสารภาษา-เทคโนโลยี

ความเป็นผู้บริหารท้องถิ่นคนรุ่นใหม่ สะท้อนได้จากการคิดเปิดห้องเรียน 2 ภาษาในโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านสะเดา จ้างครูชาวต่างชาติมาสอน ให้สื่อสารกับนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เน้นไปที่วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สุขศึกษา น้องๆ กล้าทักทายและโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติมากขึ้น

“อย่างที่รู้กันว่าเด็กไทยไม่ค่อยกล้าพูดภาษาอังกฤษ พอทำได้อย่างนี้ก็ดีใจ ผลพลอยได้ยังทำให้คุณครูคนไทยมีโอกาสเสริมทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษกับคุณครูต่างชาติไปด้วย ได้เรียนรู้หลักสูตรอินเตอร์แล้วนำมาปรับใช้กับการสอนในห้องเรียน”

มีการเปิดหลักสูตรศิลป์ภาษาจีน ภาษามลายู ของชั้นมัธยมปลาย เพราะพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่สะเดารวมถึง 3 จังหวัด นิยมใช้ภาษามลายูเป็นหลัก บวกกับความเป็นเมืองชายแดน มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามามาก ภาษาจีนกับภาษามลายูจึงมีความสำคัญเช่นกัน

“การเสริมทักษะภาษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน จะเป็นพื้นฐานที่ดีกับน้องๆ รวมถึงทักษะคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน เช่น การเขียนโค้ดดิ้ง โดยนำโดรนมาให้เด็กๆ ฝึกเขียนโปรแกรมควบคุมบังคับโดรน ต่อไปก็จะเป็นหุ่นยนต์มาให้น้องๆ ฝึกเขียนโค้ดดิ้งเช่นกัน”

ใส่ใจคุณภาพชีวิต-สร้างสุขคนทุกกลุ่ม

อีกหนึ่งนโยบายสำคัญเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ เขาบอกว่า เน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำของพี่น้องประชาชนในชุมชน ผู้ยากไร้ ผู้พิการ โดยมี  ‘ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน’ เป็นทั้งธนาคารรับบริจาคกายอุปกรณ์ รถเข็น ฯลฯ พร้อมกับฝึกผู้พิการเรียนรู้งานซ่อมแซมเบื้องต้น นอกจากนี้ยังประสานงานกับโรงงานหรือสถานประกอบการจ้างผู้พิการตามโควต้า

‘โรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองสะเดา’ ที่มีผู้สูงอายุมาเรียนประมาณ 200 กว่าคน เสริมทักษะการใช้ชีวิต แนะนำการออกกำลังกายให้เหมาะสม อาหารการกิน วัยเกษียณบางคนที่มีปัญหาปรับตัวไม่ได้ เพราะเคยทำงาน พออยู่บ้านแล้วเหงา ก็จะมาที่นี่ มีกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้มีความสุขขึ้น จากที่เคยเดินช้าๆ ก็คล่องแคล่วมีชีวิตชีวา เพราะเมื่อสุขภาพใจดี ส่งผลให้สุขภาพกายดีและแข็งแรงตามมา

และโครงการส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ สำรวจว่าคนไหนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ฐานะค่อนข้างยากจน มีภาวะแท้งง่าย เรามีโครงการสนับสนุนนม ไข่ ให้รับประทานทุกวัน จนถึงวันที่ลูกน้อยคลอดและกินนมแม่ต่อไปอีก 6 เดือน ช่วยให้สุขภาพดีทั้งแม่และลูก

โครงสร้างพื้นฐานดี ชีวีมีความสุข

มาถึงเรื่องสำคัญการพัฒนาเมืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน นายกแบงก์เล่าว่า จากการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการที่เทศบาลได้รับอย่างจำกัด หลักๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำไปแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน อีกส่วนสำหรับเป็นทุนพัฒนาตามนโยบายที่ให้ไว้กับสภาเทศบาลเมืองสะเดา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน

“ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานมาจากพี่น้องประชาชนทั้ง 27 ชุมชน ต้องทำประชาคม 27 ครั้ง ให้ทุกคนได้มีโอกาสบอกโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่ต้องการจริงๆ ให้ลิสต์ 1-2-3 ต้องการให้ทำอะไรก่อน จะได้แก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง”

เขาย้ำว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่ผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศให้ความสำคัญอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเรื่องการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ก่อนหน้านี้กล้องทุกตัวต้องใช้สายไฟเบอร์ออฟติกไปที่วอร์รูม แต่ด้วยสายไฟเบอร์ออฟติกมีราคาสูง ขณะที่งบประมาณจำกัด จึงปรับเปลี่ยนให้ทั้ง 27 ชุมชนจัดการตัวเอง ด้วยการนำกล้องวงจรปิดไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ในที่ทำการชุมชน กระจายสายไปรอบๆ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเรื่องสายแล้วนำไปเพิ่มจำนวนกล้อง ชุมชนเองก็จะได้ดูแลพื้นที่ตัวเอง ถ้าเกิดเหตุอะไรก็แจ้งประธานชุมชน เปิดดูกล้องวงจรปิดได้เลย ลดขั้นตอนไม่ต้องผ่านเทศบาล”

ปัญหาหลักของเทศบาลเมืองสะเดาก็อาจไม่ได้แตกต่างไปจากเมืองอื่นๆ ก็คือเรื่องของงบประมาณ เมื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการหาแนวทางพัฒนา บางชุมชนก็นำเสนอ 5-6 โครงการ บางโครงการจำเป็นต้องใช้งบประมาณนับล้านบาท

“เฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานประมาณปีละ 20 ล้านบาท ไม่ครอบคลุมทุกชุมชน ยังไม่รวมการพัฒนาด้านอื่นๆ สนามกีฬาดีๆ จริงแล้วควรมี แต่พี่น้องประชาชนไม่ได้แจ้งมา ส่วนใหญ่เลือกเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นก่อน ถ้าได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากรัฐบาล จะทำให้ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น

แล้วเทศบาลเมืองสะเดายังมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ตั้งใจว่าหลังจากนี้จะแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งมาทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สินค้าต่างๆ ที่ชุมชนผลิตก็มีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจะได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่านี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image