สมโภชพระอาราม 230 ปี ‘วัดโพธิ์’ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดประจำรัชกาลที่ 1 : โดย พระราชปริยัติมุนี

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ จะมีอายุครบรอบ 230 ปีในปี 2561 และจะมีการจัดพิธีสมโภชพระอารามในวันที่ 1-11 พฤศจิกายน 2561 ณ วัดพระเชตุพนฯ เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน

วัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษหรือที่เรียกว่า “เอกอุ” ซึ่งประเทศไทยมีเพียง 6 วัดเท่านั้น ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดอรุณราชวราราม วัดพระปฐมเจดีย์ และวัดพระพุทธบาท

วัดโพธิ์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย

พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ 50 ไร่ 38 ตารางวา อยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน

Advertisement

มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่ามีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง 2 วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก หรือวัดมหาธาตุฯ ในปัจจุบันด้านใต้คือ วัดโพธาราม ซึ่งเป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช 2231 ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยาเมืองธนบุรี

ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

ครั้นมาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นนครหลวง ได้ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง วัดโพธาราม ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอยู่ในเขตพระมหานคร และได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุนนางเจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2331 ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ.2344 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง 16 ปี 7 เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์สวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้ บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี พ.ศ.2525 เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ

เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่ ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวง ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทยหลายแขนง (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น

กระทั่ง องค์การยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2551 และวันที่ 16 มิถุนายน 2554 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

230 ปี ของวัดโพธิ์ จึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งช่วงหนึ่งภายในพระอารามของวัดโพธิ์ ยังได้เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร โดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงพนมเปญ โดยพฤตินัย มาแล้ว

ปี 2561 ครบรอบ 230 ปี วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนฯ ทางวัดจึงจัดงานสมโภชพระอาราม 230 ปี ระหว่างวันที่ 1-11 พฤศจิกายน 2561 โดยจะเป็นการจัดงานระดับโลกอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 10 วัน 10 คืน เพื่อจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านรูปแบบการจัดนิทรรศการที่มีความวิจิตรสวยงามเป็นอย่างยิ่งโดยจะจัดทำเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งจำลองรูปแบบชีวิตชาวกรุงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สร้างวัดผ่านการแสดงแสง-สี-เสียง พร้อมทั้งจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลตลอด 10 วัน 10 คืน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาชมความงามของวัดพระเชตุพนฯ ที่ล่าสุดจากทริปแอดไวเซอร์ เว็บไซต์ท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก จัดอันดับวัดพระเชตุพนฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับที่ 17 ของโลก และอันดับที่ 3 ของเอเชีย และอันดับที่ 1 ของไทย ประจำปี 2561

ที่สำคัญงานสมโภช พระอาราม 230 ปีวัดพระเชตุพนฯ ทางวัดยังได้รับการประสานจากผู้แทนแห่งนครรัฐวาติกัน โดยมองชินญอร์อินดูนิลและท่านฯ อายูโซ แห่งสมณกระทรวงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ณ นครรัฐวาติกัน แจ้งเรื่องที่ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือโป๊ปฟรานซิส พระสันตะปาปาพระองค์ที่ 266 ได้มีพระสมณประสงค์จะส่งผู้แทนในฐานะทูตจากวาติกันและคณะเดินทางมายังวัดโพธิ์ ประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมพิธีสมโภชพระอาราม 230 ปี วัดพระเชตุพนฯ ด้วย เพราะพระองค์ท่านทราบว่าวัดโพธิ์จะจัดงานสมโภชวัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก โดยทางคณะทูตวาติกันมีความประสงค์ที่จะเข้านมัสการพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ รวมถึงเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ของวัดพระเชตุพนฯ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน ที่มีความสวยงามและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ยักษ์วัดโพธิ์ จารึกวัดโพธิ์ พระอุโบสถรวมถึงชมฤๅษีดัดตน เพื่อศึกษาประวัติเรื่องราวสำคัญ ที่สามารถนำไปเผยแพร่ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกชมได้

นอกจากจะมีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังจะมีการสาธิตงานช่างไทยชั้นสูง การจัดตลาดชาววัง การแสดงมหรสพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโขน ลิเก ลำตัด การแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงเพลงดาบ รำมวยไทย ฤๅษีดัดตน การบรรเลงเพลงดนตรีไทย โปงลาง มโนราห์ การขับร้องเพลงลูกทุ่งไทย การเสวนา และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-24.00 น. ของทุกวัน มีการห่มผ้าองค์พระและตักบาตรสตางค์พระพุทธรูป 230 องค์ ถวายสังฆทาน เพื่อความเป็นสิริมงคลส่งท้ายปีก่อนจะเริ่มต้นปีที่ 231 ปีในปี 2562

พระราชปริยัติมุนี
(เทียบ สิริญาโณ ป.ธ.9)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image