ไทยพบพม่า : พลวัตของขบวนการต่อต้านรัฐประหาร และหนทางสู่ความสำเร็จ ตอนที่ 1/2

ไทยพบพม่า : พลวัตของขบวนการต่อต้านรัฐประหาร และหนทางสู่ความสำเร็จ ตอนที่ 1/2

ลักษณะสำคัญของการเมืองและสังคมของพม่าอยู่ที่ “ความหลากหลาย” (diversity) ในทุกรูปแบบ หลายคนมักเปรียบเทียบพม่ากับไทย เพียงเพราะพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เรียกว่าใกล้ชิดกับเรามากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์การเมืองและการก่อตัวของสังคมพม่าสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มขึ้นในยุคอาณานิคม หรือตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา ความหลากหลายนี้ คือ การก่อตัวของพหุสังคม ระบอบอาณานิคมดึงดูดผู้คนร้อยพ่อพันธุ์แม่เข้ามาจากอินเดีย จีน และจากพื้นที่ อื่นๆ จากทั่วโลก ที่สำคัญ กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่มีอยู่นับร้อยกลุ่มก็มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แรงงานพม่าจากพม่าตอนบนถูกดึงมาทำงานในแปลงปลูกข้าวขนาดใหญ่ในพม่าตอนล่าง คนไทใหญ่ทุกเผ่าพันธุ์ถูกพลังเศรษฐกิจดูดเข้าไปทำงานตามเมืองใหญ่ในรัฐฉาน คนอินเดียหลายล้านคนกลายเป็นแรงงานสำคัญในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และในระบบราชการ

เราจึงสรุปได้ว่าความหลากหลาย หรือ “ปัญหา” ของพม่านั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นมาในช่วงร้อยกว่าปีนี้เอง ตลอดยุคอาณานิคม กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ “บริติช ราช” (British Raj) ที่เปรียบเสมือน “ตะขิ่น” หรือนาย ออกคำสั่งให้บ่าวทำงานตามที่ตนต้องการ เป้าหมายคือเพื่อผลิตผลด้านการเกษตรสูงสุด และเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้รัฐบาลอังกฤษ ตลอดช่วงเวลานี้ ก็มีกบฏที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษอยู่บ้าง ยกตัวอย่างกบฏครั้งใหญ่ภายใต้การนำของสะยาซานในต้นทศวรรษ 1930 แต่กบฏผีบุญเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะประชาชนทั้งหลายต่างอยู่ภายใต้ระบอบอาณานิคมแบบเคยชินมาหลายสิบปี

จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กระแสชาตินิยมเริ่มก่อตัวขึ้น อาณานิคมทั่วโลกมีกลุ่มแกนนำเพื่อปลดแอกประเทศของตนจากการปกครองของชาติตะวันตก กระแสนี้เกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นเหมือนกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พัดอย่างรุนแรง ในหลายประเทศ การต่อต้านกลายเป็นสงครามกลางเมือง และในอีกหลายประเทศการเปลี่ยนผ่านเป็นไปแบบสงบเรียบ

Advertisement

สำหรับพม่า การปลดแอกจากระบอบอาณานิคมเรียกได้ว่าเกิดขึ้นแบบไม่เสียเลือดเสียเนื้อ ต่างจากประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่กว่าทั้งสองประเทศจะได้เอกราชอย่างสมบูรณ์ก็กินเวลาหลายปี อีกทั้งสงครามประกาศอิสรภาพสร้างความสูญเสีย ประชาชนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

กระบวนการเรียกร้องเอกราชของพม่าเป็นไปแบบรวดเร็วและรวบรัด กระแสชาตินิยมโหมกระหน่ำทั่วเอเชียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษรับศึกสองด้าน ด้านหนึ่งต้องต่อสู้กับกองทัพนาซีในสมรภูมิที่ยุโรป ในเอเชีย ก็ต้องเจอญี่ปุ่นบุก จนรัฐบาลอาณานิคมทุกแห่งต้องหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่อื่น พอสงครามจบ อังกฤษกลับเข้ามาในพม่า และเริ่มเจรจากับผู้นำอาณานิคม กรุยทางไปสู่การมอบเอกราชในพม่า อินเดีย และประเทศอาณานิคมของอังกฤษอื่นๆ

ผู้เขียนมองว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็วไปหน่อย เพราะอังกฤษถูกนักชาตินิยมในพม่ากดดันอย่างหนัก และตนเองก็บอบช้ำมากจากสงครามโลก กอปรกับในช่วงที่พม่ากำลังจะได้เอกราช เป็นยุคของรัฐบาลพรรคแรงงานของคลีเมนต์ แอทลีย์ (Clement Attlee) ที่มีนโยบายมอบเอกราชให้อาณานิคมอังกฤษทั่วโลกอยู่แล้ว

Advertisement

จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของการเจรจาระหว่างพม่ากับอังกฤษ คือ ขบวนการชาตินิยมในพม่าเป็นขบวนการที่นำโดยคนพม่า หรือคนบะหม่า (Bamar) แม้นายพล ออง ซาน จะเคยลงนามในข้อตกลง
ปางหลวง (Panglong Agreement) กับคณะกรรมการที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีก 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน ฉิ่น และกะฉิ่น แต่ข้อตกลงปางหลวงเป็นการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์เพียงหยิบมือ ย่อมมีคำถามตามมาว่าเหตุใดกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง หรือว้า จึงไม่ได้อยู่ในสมการของข้อตกลงปางหลวงด้วย

จุดอ่อนของการเจรจาสันติภาพในพม่าที่ผ่านมาทั้งหมดอยู่ที่ว่าไม่เคยมีการเจรจาครั้งใดที่สามารถรวมกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดไว้ได้ จะต้องมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ถูกกันออกไป เพราะต้องเข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดมีวาระ (agenda) ของตนเอง โดยเฉพาะสิทธิการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (self-determination) ไม่ต้องพูดถึงสิทธิในการแยกตัว (rights of secession) ที่มีกล่าวไว้ในข้อตกลงปางหลวง แต่ข้อตกลงนี้ก็กลายเป็นข้อตกลงบนหิ้งไป ภายหลังนายพล ออง ซาน ถูกลอบสังหารเพียงไม่กี่เดือนก่อนพม่าจะได้รับเอกราช

ที่ผ่านมาไม่มีเคยมีวันไหนที่กลุ่มชาติพันธุ์จะไว้ใจคนพม่า หมายความว่านี่ คือ ประเทศที่ผู้คนร้อยพ่อพันธุ์แม่อยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวง ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่ต้องการปล่อยให้คนพม่าบริหารประเทศแต่ผู้เดียว ผู้เขียนเคยนั่งคุยกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าหลายครั้ง ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความขัดแย้งในพม่าจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มได้รับสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรของตนเอง และมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา

ความล้มเหลวของการเจรจาสันติภาพทุกครั้ง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และต่อไปถึงอนาคต อยู่ที่ว่าเป้าหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ขัดกับนโยบาย หรือคำขวัญของกองทัพพม่า ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าพม่าเป็นสหภาพที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ใครก็ตามที่มีความคิดแบ่งแยกสหภาพ ก็เท่ากับเป็นศัตรูของ กองทัพด้วย จึงไม่แปลกที่กองทัพพม่าจะมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นศัตรูมากกว่าเป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนร่วมชาติ

การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนและเกิดขึ้นได้จริงในพม่า จึงไม่ได้ขึ้นแต่กับกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังขึ้นกับกองทัพด้วย พรรค NLD พยายามเจรจาสันติภาพทุกวิถีทางแล้ว แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถนำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมานั่งบนโต๊ะเจรจาได้ คีย์เวิร์ดของสันติภาพในพม่าอยู่ที่คำว่า “inclusiveness” หรือการรวมคนทุกกลุ่มเข้ามาให้ได้จริงๆ ไม่ใช่ให้กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มมาถ่ายรูปกับป้ายเจรจาสันติภาพ ต่างคนต่างแยกย้ายกลับบ้าน และไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ กองทัพต้องเข้าสู่การเจรจาด้วย

อย่างไรก็ดี กองกำลังทั้งหมดในพม่าต่างมองว่าการนำกองทัพเข้าสู่การเจรจาไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะกองทัพเองก็เปิดฉากโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้านทุกกลุ่มอย่างหนักหน่วง ในความคิดของกองกำลังเหล่านี้ คือ ต้องเผด็จศึกและต้องเอาชนะกองทัพพม่าให้ได้สถานเดียว

ผู้อ่านลองนึกดูนะคะว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าที่มีอยู่หลายสิบกลุ่มอยู่ในปัจจุบันจะเอาชนะกองทัพพม่าที่แสนยานุภาพเหนือกว่าทุกทางได้อย่างไร หลายคนอาจจะนึกถึงกองกำลังในเวียดนามที่เอาชนะสหรัฐอเมริกาได้ในสงครามเวียดนาม แต่สิ่งหนึ่งที่เวียดมินห์มีคือ สายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน มีวาระหลัก และทหารในกองกำลังทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด แต่ท่ามกลางความหลากหลายของกองกำลังน้อยใหญ่ในพม่า วาระหลักคืออะไร แล้วจุดร่วม และผู้นำที่แท้จริงของกองกำลังเหล่านี้คือใคร เมื่อไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ โอกาสที่จะรบชนะกองทัพพม่าก็เป็นไปได้ยากด้วย

ในสัปดาห์หน้า ผู้เขียนจะมาไล่เรียงให้เห็นว่าการต่อสู้ของกองกำลังในพม่าปัจจุบันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และกองกำลังแต่ละกลุ่มมีจุดแข็ง หรือจุดอ่อนอย่างไร อย่าลืมติดตามกันนะคะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image