‘สังคมนิยม’ กับการสร้างรัฐสมัยใหม่ในพม่ายุคหลังเอกราช ตอนที่ 1 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ตลอดศตวรรษที่ 19 ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นไทย ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก สำหรับอาณานิคมของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ทั้งสองชาติให้ความสำคัญกับการค้าและการส่งออกทรัพยากรของอาณานิคมออกไปทั่วโลก อังกฤษส่งออกข้าวและไม้สักจากพม่า และยางพารากับดีบุกจากมาลายา ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ใช้นโยบาย cultuurstelsel หรือระบบการเพาะปลูกพื้นที่ขนาดใหญ่ ส่วนฝรั่งเศส ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการค้าเท่ากับสองชาติแรก แต่ก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการประกาศความยิ่งใหญ่ของ “ชาติ” และวัฒนธรรมของตน รวมทั้งยังมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงให้คนพื้นเมืองเป็นคนฝรั่งเศสทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม การศึกษา และด้านอื่นๆ ด้วยความเชื่อตั้งต้นว่าวัฒนธรรมฝรั่งเศสเหนือกว่าวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองอื่นใดในอาณานิคมของตนในเอเชียและแอฟริกา

ระบอบที่กดขี่และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของอาณานิคมทำให้กระแสต่อต้านระบอบอาณานิคมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เป็นแรงบันดาลใจให้นักชาตินิยมหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตั้งคำถามต่อระบอบอาณานิคม และหาหนทางเพื่อล้มล้างระบอบที่กดขี่เสรีภาพของคนพื้นเมือง ความนิยมของลัทธิมาร์กซ์และแนวคิดสังคมนิยม ที่ชูประเด็นเรื่องความเท่าเทียม การปลดแอกประชาชนจากระบอบเดิมที่ไม่เป็นธรรม และการเน้นบทบาทของรัฐด้านการมอบสวัสดิการที่ทั่วถึงและเท่าเทียม กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก และไม่น่าแปลกใจที่ปัญญาชนและนักชาตินิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในต้นศตวรรษที่ 20 จะเลือกรับแนวคิดสังคมนิยมเข้ามาเป็นเครื่องมือของการปลดแอกประเทศของตนจากระบอบอาณานิคมตะวันตก

ภายหลังหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเอกราช ระบอบการเมืองที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดคือสังคมนิยมส่วนหนึ่งและประชาธิปไตยอีกส่วนหนึ่ง เพราะระบอบทั้งสองเน้นสิ่งที่นักชาตินิยมต้องการมากที่สุดคือเสรีภาพ และระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยผ่านตัวแทนที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภา

ทั้งในระบอบประชาธิปไตยและสังคมนิยม นอกจากประชาชนแล้วยังมีกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นพื้นฐานของขบวนการชาตินิยมในพม่าทั้งหมดคือพรรค AFPFL (Anti-Fascist Peoples Freedom League) ที่มีนายพล ออง ซาน เป็นแกนนำหลัก จนกระทั่งเขาและคณะรัฐมนตรีอีกหลายคนถูกลอบสังหารในปี 1947 ก่อนพม่าได้รับเอกราชไม่นาน

Advertisement

เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว AFPFL ยังเป็นพรรครัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และยิ่งมีความสำคัญขึ้นไปอีกตลอดทศวรรษ 1950 AFPFL มีลักษณะแตกต่างจากพรรคการเมืองในอังกฤษและโลกประชาธิปไตยอื่นๆ เพราะมีฐานเสียงหลักเป็นประชาชนในหมู่บ้าน ดังนั้นเครือข่ายของ AFPFL จึงมีขนาดใหญ่มากกว่าพรรคการเมืองในช่วงเวลาเดียวกัน เอ็ดเวิร์ด ลอ โยน (Edward Law-Yone) อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Rangoon Nation ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1948 และเลิกกิจการไปพร้อมๆ กับรัฐประหารของเน วิน ในปี 1962 เคยกล่าวไว้ว่า พรรค AFPFL เป็นเครื่องมือของชีวิตทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในพม่า ความเป็นไปของพรรคหมายถึงความอยู่รอดของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบแม้แต่กับชีวิตของเกษตรกรหรือคนธรรมดาที่สุดในประเทศ เพราะคนใน AFPFL ซึ่งล้วนขึ้นไปดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของอู นุ หลังพม่าได้รับเอกราช มีอำนาจควบคุมนโยบายด้านการเกษตรและการพัฒนาทั้งหมด รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินและการปล่อยกู้ให้เกษตรกร รวมทั้งแผนการด้านการพัฒนาจากโครงการ “ปยีด่อตา” (Pyidawtha แปลว่าดินแดนแห่งความสุข) สวัสดิการสังคมทั้งระบบ หรือแม้แต่รับซื้อพืชผล ก็ถูกควบคุมโดยรัฐบาล AFPFL

แม้ว่าแนวทางของ AFPFL และรัฐบาลอู นุ จะเป็นลูกผสมระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกกับแนวคิดสังคมนิยม แต่ก็เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเองพยายามเน้นบทบาทของสังคมนิยมในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับเกษตรกรและประชาชนในระดับล่าง แต่สังคมนิยมในแบบพม่าก็มีข้อเสีย ดังที่กล่าวไปแล้วว่ากลไกของรัฐทั้งหมดถูกผูกขาดโดยนักการเมือง/นักชาตินิยมของ AFPFL ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้นำหมู่บ้าน ดังนั้นการบริหารงานทั้งหมดถึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบบอุปถัมภ์ รวมทั้งความเกลียดชังระบอบทุนนิยมแบบตะวันตกได้ จริงอยู่ว่า “ประชาธิปไตย” ที่ AFPFL นำมาใช้ ก็เปรียบประหนึ่งร่างทรงหนึ่งของระบอบทุนนิยมแบบตะวันตก แต่ในยุคนั้น ผู้นำในรัฐบาลพม่าไม่ได้มีความเข้าใจแนวคิดสังคมนิยมที่ถ่องแท้ และมีความประสงค์เพียงจะปลดแอกสังคมจากมรดกยุคอาณานิคม จึงทำให้ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมนำแนวคิดสังคมนิยมมาใช้อย่างแพร่หลาย ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย หรือกษัตริย์สีหนุแห่งกัมพูชา ล้วนแต่เคยนำแนวทางสังคมนิยมมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางบริหารประเทศ

ประเด็นหนึ่งที่ลอ-โยนกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมแบบเลนินและมาร์กซ์ กับแบบของพม่า ที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจเป็นพิเศษคือ ในวัฒนธรรมการเมืองแบบพม่า ผู้นำมักจะมีความเชื่อมั่นเรื่องการจัดตั้งและฐานของมวลชน หรือ mass organizations เมื่ออู นุขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าเขาจะไปไหน ก็จะมีมวลชนจำนวนมากออกมาให้การต้อนรับ โห่ร้องคำขวัญของ AFPFL และขึ้นป้ายสนับสนุนแนวทางของอู นุ การเมืองแบบพม่าจึงเน้นโฆษณาชวนเชื่อ และการสร้างให้ผู้นำมีสถานะศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้นำของมวลชน มากกว่าที่จะเป็นผู้นำที่รับฟังความคิดเห็นต่าง หรือผู้นำที่พร้อมประสานประโยชน์เพื่อนำพาชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Advertisement

ในบทความ Burmas Socialist Democracy (ประชาธิปไตยสังคมนิยมของพม่า) ที่ลอ-โยนเขียนขึ้นในปี 1958 ก่อนอู นุจะมอบอำนาจให้เน วินเข้ามารับตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลรักษาการได้ไม่กี่เดือน เขาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของผู้นำรัฐบาลพม่าอย่างถึงพริกถึงขิง โดยมองว่าคนเหล่านี้ไม่มีความเข้าใจปรัชญาของทั้งสังคมนิยมและประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ สังคมนิยมแบบมาร์กซ์หรือประชาธิปไตยแบบกรีกเป็นเพียงแนวคิดที่พวกเขาเข้าใจแบบผ่านๆ หลายนโยบายที่รัฐบาลนำออกมาใช้ เช่น การประกันราคาข้าว ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอจะไปอุดหนุนเกษตรกร เป็นนโยบายที่คนในรัฐบาลคิดขึ้นแบบเร็วๆ และนำออกมาใช้เพื่อเพิ่มฐานเสียงให้ AFPFL ในยุคที่รัฐบาลต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง อีกทั้งคนในรัฐบาลยังไม่มีองค์ความรู้ที่ดีพอ ที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนา

ท้ายที่สุด ความล้มเหลวของรัฐบาลพม่าของอู นุ ในยุคที่พม่าเพิ่งโผล่พ้นจากระบอบอาณานิคม คือการเลือกพัฒนาและมอบอภิสิทธิ์ให้เฉพาะคนพม่า และละเลยข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องการสิทธิการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ความผิดพลาดของ AFPFL และการตีความสังคมนิยมแบบ “เข้าข้างตนเอง” เป็นหายนะที่จะทำให้พม่าดำดิ่งสู่ความยากจน ซึ่งเริ่มส่อเค้าลางเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 1962 แม้เมื่อ เน วิน เข้ามาเป็นผู้นำในรัฐบาลแล้ว ผู้นำเผด็จการยังยืนยันนำแนวทางสังคมนิยมมาเป็นหลักใหญ่ของนโยบายรัฐบาล ผู้เขียนจะพูดถึงประเด็นนี้อย่างละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image