ความฝันและความหวังสู่กอทูเลของชาวกะเหรี่ยง โดย ลลิตา หาญวงษ์

กอทูเล (Kawthoolei) เป็นคำหรือกระบวนทัศน์ที่พบได้บ่อยมากในข่าวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งและการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “รัฐกะยิน” (Kayin State) ในภาษาพม่า กอทูเล มีความหมายว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ หรือพื้นที่ที่ปลอดจากความชั่วร้าย กล่าวได้รวมๆ ว่า “กอทูเล” คือรัฐในจินตนาการและความฝันของผู้นำกะเหรี่ยง ที่ต้องการสร้างรัฐแยกตัวออกจากสหภาพพม่า นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

ในทางทฤษฎี “กอทูเล” หมายถึงพื้นที่ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาคริสต์ อาจารย์ขวัญชีวัน บัวแดง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเมินไว้ตั้งแต่ปี 2003 ว่าน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน และมีประวัติความเป็นมาที่สืบเนื่องสัมพันธ์กับตำนานและเรื่องเล่าของชาวกะเหรี่ยง แต่ในทางปฏิบัติ พื้นที่ที่ผู้นำกะเหรี่ยงขีดเส้นไว้คร่าวๆ รวมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รอบข้าง ที่เป็นพื้นที่ของมอญ พม่า รวมทั้งไทย

จุดกำเนิดของกอทูเล ในฐานะ “รัฐ” สมมุติของกะเหรี่ยง มีที่มาจากขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยง ที่ต่อมาจะกลายเป็นขบวนการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) ภายใต้การนำของ ซอ บา อู จี (Saw Ba U Gyi) วีรบุรุษชาตินิยมคนสำคัญของกะเหรี่ยง เมื่อครั้งที่เขาประกาศให้รัฐกะเหรี่ยงเป็นเอกราชจากการปกครองของสหภาพพม่าในปี 1949

แน่นอนว่าคำประกาศของ ซอ บา อู จี ในครั้งนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่าของอู นุ และนับตั้งแต่นั้น KNU ก็เข้มแข็งขึ้นตามละดับ และสู้รบกับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน

Advertisement

ความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับพม่าทำให้พื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทย เป็นพื้นที่การสู้รบ ประชาชนจำนวนมากหนีภัยสงครามเข้ามายังค่ายผู้ลี้ภัยในเขตไทย (ภาษาราชการไทยใช้คำว่าศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง) อเล็กซานเดอร์ ฮอร์สมัน (Alexander Horstman) วิเคราะห์ไว้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในรัฐกะเหรี่ยงมาหลายสิบปี ทำให้องค์กรทางศาสนาและองค์กรการกุศลทั่วโลกยื่นมือเข้าไปช่วยชาวกะเหรี่ยง แม้จะมีสัดส่วนคนกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์น้อยกว่าศาสนาพุทธ แต่แนวคิดชาตินิยมกะเหรี่ยงก็ได้รับการพัฒนามาพร้อมๆ กับการขยายตัวของเครือข่ายของคริสตจักรหลายนิกายจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ คริสตจักรคาทอลิก เซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ คาริสเมติก
อีแวนเจลิคัล และเพ็นเทคอสต์

แม้สังคมของชาวกะเหรี่ยงจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามกลางเมือง แต่ชาวกะเหรี่ยงยังคงมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด จากเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงโพ้นทะเลโดยเฉพาะที่อาศัยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา องค์กรด้านศาสนาดังที่กล่าวไปแล้ว รวมทั้งภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงที่เข้มแข็งทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือรัฐกะเหรี่ยงเองก็มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ดังที่กล่าวไปแล้ว แม้ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ภาพแทนของชาวกะเหรี่ยงในโลกมักเป็นภาพของกะเหรี่ยงคริสต์ และแกนนำขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยง โดยเฉพาะ KNU ก็ล้วนมีผู้นำเป็นกะเหรี่ยงคริสต์ ในส่วนของชาวกะเหรี่ยงพุทธเองก็มีกองกำลังเป็นของตนเองในนาม “กองทัพกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย” (Democratic Buddhist Karen Army) หรือ DBKA ที่ตั้งขึ้นเพื่อคานอำนาจกับ KNU เป็นหลัก

Advertisement

ภายใน KNU เองก็มีหลายมุ้งหลายค่าย ในยุคหนึ่ง KNU ทุกฝ่ายมาบรรจบกันที่ผู้นำที่มีบารมีสูงอย่างนายพลโบ เมียะ (Bo Mya) แต่เมื่อสิ้นบุญโบ เมียะ ไป ก็ไม่มีผู้นำกะเหรี่ยงคนไหนที่รวมจิตใจชาวกะเหรี่ยงคริสต์ทุกส่วนเข้าไว้ได้อีก แม้ในช่วงแรก นายพล เนอดา โบ เมียะ (Nerdah Bo Mya) บุตรชาย จะเข้ามาควบคุมองค์การพิทักษ์แห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organization) หรือ KNDO ที่อยู่ภายใต้ KNU และแม้จะเป็นผู้นำกะเหรี่ยงที่ได้รับการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรวมกลุ่มก้อนกะเหรี่ยงให้เป็นเอกภาพได้

ในเดือนสิงหาคม 2022 เนอดา โบ เมียะ ถูกขับออกจาก KNU หลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าสังหารหน่วยสืบราชการลับของกองทัพพม่าไป 25 คน ความคิดเห็นในชุมชนกะเหรี่ยงก็แตกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งที่สนับสนุนอดีตผู้นำ KNDO และฝ่ายที่ต่อต้าน หลังดราม่าครั้งนั้น นายพล เนอดา ไปตั้งกองกำลังของตนเองในนาม “กองทัพกอทูเล” (Kawthoolei Army) ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าทั้งที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพราะในเวลานี้ เท่ากับมีกองกำลังกะเหรี่ยงขนาดใหญ่อยู่หลายกลุ่ม ทั้ง KNDO KA และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งผู้นำต่างแข่งขันกันเพื่อสร้างบารมี และยังเอาชนะคะคานกันว่าใครมีความรักและอุทิศตนให้กับการปกป้องรัฐกะเหรี่ยงมากกว่ากันด้วย

KNU นั้นไม่ได้เป็นเพียงองค์กรของชาวกะเหรี่ยงธรรมดาๆ นอกจาก KNU จะมีกองทัพเป็นของตนเองแล้ว ยังมีสถานะเป็นเหมือนผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด เรียกว่าคล้ายกับเป็นสถาบันหรือรัฐบาลที่ปกครองชาวกะเหรี่ยงทั้งผองก็คงไม่ผิดนัก ดังนั้น เมื่อเกิดความระส่ำระสายภายใน KNU ก็จะเป็นสัญญาณเตือนว่าความเป็นเอกภาพขององค์กรเพื่อเอกราชกะเหรี่ยงลดลงไปด้วย

ในภาวะสงคราม ที่กองกำลังกะเหรี่ยงต้องต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างหนักหน่วงอย่างในขณะนี้ ความไร้เสถียรภาพภายใน KNU ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก กองทัพกอทูเลเป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของขบวนการเอกราชกะเหรี่ยง และความศักดิ์สิทธิ์ของ KNU ลดลงไป จนมีผู้ฝืนอำนาจและนโยบายของ KNU เนอดาไม่ใช่นายพลคนแรกที่ฝืนมติของ KNU และออกไปตั้งกองกำลังของตนเอง แต่ความแตกแยกระหว่างผู้นำ KNU นี้เกิดขึ้นมาตลอด นับตั้งแต่ KNU เกิดขึ้นมาแรกๆ เพราะผู้นำแต่ละคนก็มีความต้องการและวิธีการในการรบที่แตกต่างกัน

ในปี 1995 ผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธหลายคนลาออกจาก KNDO และออกมาตั้ง DBKA โดยให้เหตุผลว่าถูกเลือกปฏิบัติ และผู้นำ KNU มักให้ความสำคัญกับผู้นำที่เป็นคริสต์มากกว่า หรือกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด มาจากกรณีที่เกี่ยวพันกับนายพล โบ เมียะ เมื่อเขาเริ่มพูดคุยกับแกนนำของกองทัพพม่า ใน SPDC ซึ่งในเวลานั้นปกครองพม่าอยู่ เป้าประสงค์ของโบ เมียะไม่มีอะไรซับซ้อน เขาเพียงอยากให้ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยงจบลงเสียที หลังจากสู้รบกันต่อเนื่องมากว่า 5 ทศวรรษ ก็ไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้รับชัยชนะแบบเด็ดขาด บรรดาผู้นำและทหารใน KNU/KNDA ในครั้งนั้นไม่พอใจนายพล โบ เมียะ เป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องการให้ KNU ประนีประนอมกับ SPDC

อย่างไรก็ดี ความต้องการของโบ เมียะ ไม่ประสบผล เพราะไม่นานหลังจาก KNU ของเขาเริ่มเจรจากับ SPDC นายพล ขิ่น ยุ้นต์ ผู้นำอันดับสองของ SPDC และยังเป็นผู้ที่ริเริ่มกระบวนการสร้างสันติภาพในพม่าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ก็ถูกจับ และนับตั้งแต่นั้น KNU กับ SPDC ก็ไม่สามารถกลับมาเจรจากันได้อีก จนกระทั่งเกิดการเลือกตั้งในปี 2016 และพรรค NLD ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรก

ความฝันของชาวกะเหรี่ยงที่จะสร้างกอทูเล ขึ้นนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน นอกจากปัจจัยภายนอกที่ชาวกะเหรี่ยงต้องฝ่าด่านที่ยากลำบากจากกองทัพพม่าไปแล้ว ยังมีโจทย์ที่ยังต้องแก้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพภายในองค์กร หากไม่สามารถแก้โจทย์นี้ได้ โอกาสที่ชาวกะเหรี่ยงจะได้รับชัยชนะอย่างยั่งยืนก็เป็นไปได้น้อยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image