สื่อพม่ามองรัฐบาลชุดใหม่ของไทย โดย ลลิตา หาญวงษ์

ข่าวการเลือกตั้งมาจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลของไทยเป็นประเด็นที่สังคมพม่าให้ความสนใจอย่างมาก มากขนาดที่ว่าเพื่อนๆ นักข่าวพม่าของผู้เขียนต้องถามผู้เขียนสม่ำเสมอว่าเมื่อไหร่ไทยจะมีรัฐบาลใหม่ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเขา… ใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนต่อไป

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคนพม่านั้นสนใจการเมืองในไทยมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในไทยล้วนมีผลกระทบกับพม่า หากไทยมีรัฐบาลสายก้าวหน้า ฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหารก็จะใจชื้นขึ้นมาหน่อย เพราะคาดว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนนโยบายที่มีวาระเรื่องสิทธิมนุษยชน และท่าทีต่อกองทัพและคณะรัฐประหารพม่าที่ก็จะขึงขังตามไปด้วย ไม่แปลกใจที่ที่ผ่านมาเราจะเห็นพี่น้องแรงงานพม่าที่อาศัยในไทยไปเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อสนับสนุนพรรคก้าวไกล หรือเราได้เห็นกระแส “พิธาฟีเวอร์” ในหมู่คนพม่า ไม่ว่าจะอยู่ในไทย พม่า หรือประเทศอื่นๆ

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง รัฐบาลใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งห่างไกลจากคำว่า “ก้าวหน้า” แต่คนพม่าก็ยังมีความหวังว่ารัฐบาลนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวกับเขา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การดูแลผู้อพยพหนีภัยการสู้รบจากพม่าเข้ามาในไทย การกดดันกองทัพและคณะรัฐประหารพม่า และการเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทุกภาคส่วนให้หันมาจับมือกันเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ

ความหวังทั้งหมดนี้อยู่บนสมมุติฐานที่ว่ารัฐบาลใหม่ของไทยต้องมีธรรมาภิบาลและปราศจากการแทรกแซงของกองทัพ แต่เมื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเศรษฐา 1 ถูกนำไปผูกอยู่กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ค่อนข้างมาก ความหวังที่ภาคประชาสังคมในพม่ามีต่อรัฐบาลใหม่ของไทยก็ย่อมลดลงตามไปด้วย

Advertisement

ที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศของไทยผูกพันกับนโยบายด้านความมั่นคงอย่างมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เรามีกับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ที่ความมั่นคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลทุกยุคให้ความสำคัญสูงสุด ดังนั้น ทัศนคติของผู้นำไทยที่มีต่อพม่าจึงจะเป็นไปในเชิง “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” มีเพียงยุคของนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ที่ไทยเริ่มให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น และถูกมองว่าเดินตามนโยบายของโลกตะวันตก ทำให้ในยุคนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าไม่สู้ดีนัก

เมื่อไทยเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลกับกองทัพมีเอกภาพภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทหารไทยกับพม่าก็กลับไปกลมเกลียวกันอีกครั้ง แม้แต่ฝ่ายพลเรือนอย่างกระทรวงการต่างประเทศเอง ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีนี้ไว้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปเยือนพม่าหลายต่อหลายครั้ง กลายเป็นผู้นำอาเซียนเพียงชาติเดียวที่มีโอกาสได้เข้าพอผู้นำคณะรัฐประหาร SAC พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย มากที่สุด

ผู้เขียนสันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าแนวทางการวางความสัมพันธ์กับพม่าในยุคเศรษฐา 1 ก็จะไม่ต่างจากยุคพลเอกประยุทธ์มากเท่าใดนัก ไทยจะเน้นบทบาทเพื่อนและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับพม่า มากกว่าที่จะคอยไล่ประณามคณะรัฐประหารพม่าเหมือนกับชาติตะวันตกหรือชาติในอาเซียนอื่นๆ แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ และทีมงานด้านการต่างประเทศของพรรคก้าวไกล ในปาฐกถาที่เขากล่าวในงาน ThaiPublica Forum 2023 เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ฟูอาดี้กล่าวถึง “ความชอบธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดี” ที่จะทำให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่แหลมคมมากขึ้น เป็นที่ชื่นชมของโลก และจะทำให้ไทย ที่มักมองว่าตนเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ก้าวขึ้นมาเป็น Middle Power ที่สามารถกำหนดทิศทางนโยบายสำคัญๆ ของโลกได้

Advertisement

ในมุมมองของระบบราชการแบบไทยๆ ไทยไม่สามารถท้าชนกับรัฐบาลและกองทัพของพม่าได้ และต้องสงวนท่าทีใดๆ ที่จะกระทบความสัมพันธ์กับพม่า ทั้งในระดับอาเซียนและในระดับโลก เพราะไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายในพม่า และหากทำให้กองทัพพม่าไม่พอใจ จะทำให้ชายแดนไทยพม่า ที่ยาวถึงกว่า 2,400 กิโลเมตร เกิดความระส่ำระสายได้ แต่หากไทยจะยืนตัวตรงในเวทีโลกได้ ไทยจำเป็นต้องยืนยันรักษาผลประโยชน์ของชาติไปพร้อมๆ กับการปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังต้องปกป้องชีวิตผู้ลี้ภัยจำนวนหลายหมื่นคนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในฝั่งพม่าและหนีเข้ามาในไทย

สำหรับสื่อพม่า สถานการณ์ภายในประเทศของพวกเขาจะดีขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายเริ่มการเจรจาสันติภาพ แต่ที่ผ่านมา กองทัพพม่าไม่ทำตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนออกมาตั้งแต่กลางปี 2021 นอกจากกองทัพจะไม่ยอมรับว่ารัฐบาลคู่ขนาน NUG และคณะที่ปรึกษา NUCC มีตัวตนแล้ว ยังเรียกขบวนการต่อต้านในนามกองกำลัง PDF ว่าขบวนการก่อการร้ายอีกด้วย เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ (Bertil Lintner) นักวิเคราะห์คนสำคัญ เขียนบทความลงใน Irrawaddy ว่าภาคประชาสังคมมีความหวังว่าไทยจะช่วยผลักดันและช่วยเจรจาเพื่อให้คณะรัฐประหารพม่ายอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา แต่ลินเนอร์เองก็มองว่าการทูตของไทยพิสูจน์ให้เห็นมานักต่อนักแล้วว่า “ไม่ค่อยมีประโยชน์” (fruitless) ดังนั้น กระดุมเม็ดแรกที่จะช่วยลดความรุนแรงคือไทยต้องเปิดฉนวนมนุษยธรรม (humanitarian corridor) หรือเขตปลอดภัย ที่จะให้ประชาชนจากฝั่งพม่าอพยพออกจากพื้นที่การสู้รบมาพักพิงอย่างปลอดภัย นี่ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่หากไทยทำได้ จะเรียกความเชื่อมั่นในเวทีระหว่างประเทศกลับมาได้อย่างมาก

ข้อเสนอให้ไทยเป็นตัวกลางท่ามกลางวิกฤตการณ์ในพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ไทยผลักดัน Bangkok Process และเชิญผู้นำกองทัพ รัฐบาล และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ให้มาหารือกันที่กรุงเทพฯ และประสบความสำเร็จอย่างดี จนรัฐบาล SPDC ในขณะนั้นเปิดประชุมสภาแห่งชาติเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และยังเป็นหนึ่งในปัจจัยนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศด้วย

อย่างไรก็ดี วิกฤตในพม่าครั้งนี้หนักหนากว่าในยุคของ SPDC มากมายนัก ผู้เขียนเกรงว่ากระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยจะทำหน้าที่เพียงยืนดูสถานการณ์ในพม่าแบบห่างๆ และไม่มีนโยบายใหม่ๆ ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นผู้ประสานงานกระบวนการสร้างสันติภาพในพม่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือรัฐบาลไทยจะไม่ต้องการให้มีผู้อพยพเข้ามาในไทย และจะผลักดันคนเหล่านี้กลับพม่าให้มากที่สุด หากจะกู้ศักดิ์ศรีของการต่างประเทศของไทยกลับคืนมา นโยบายที่มีต่อพม่าคือกุญแจสำคัญที่สุด ซึ่งจะพิสูจน์ว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นตัวของตัวเองและมีดีเพียงพอที่จะนำพาไทยให้เป็น Middle Power หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image