ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับจินตนาการของ‘รัฐ’ในพม่าที่ไม่เคยเป็นจริง โดย ลลิตา หาญวงษ์

ผู้ที่คุ้นเคยกับการเมืองในพม่าคงคุ้นเคยกับคำว่า “ข้อตกลงการหยุดยิงทั่วประเทศ” (National Ceasefire Agreement) หรือ NCA มาก่อนอย่างแน่นอน เพราะนี่คือโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพและบ่อยครั้งที่ฝ่ายการเมือง แม้แต่พรรค NLD จะตอบรับการลงนามในข้อตกลงลักษณะนี้อย่างดี ไม่ว่าจะเพราะยึดสุภาษิตว่าไผ่ต้องลิ่วตามลม หรือเพราะเห็นดีเห็นชอบว่า NCA จะเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้พม่ากลับเข้าสู่เส้นทางสันติภาพก็ตาม

รัฐประหารปี 2021 เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า NCA ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในพม่าได้แต่อย่างใด เพราะแม้ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนจะยอมวางอาวุธ เข้าสู่โต๊ะเจรจา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถสร้างพม่าที่มั่งคั่งยั่งยืนตามแนวคิดของผู้นำในกองทัพได้ เพราะสำหรับโลกทัศน์ของคนเหล่านี้มีเพียงพม่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของคนพม่าพุทธ และกองทัพพม่าเท่านั้น ที่ผ่านมา NCA ไม่ว่าจะภายใต้ “แบรนด์” ใด NCA ทั่วไป หรือการประชุมเพื่อหาความสมานฉันท์ภายใต้กรอบ “การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21” เมื่อครั้งรัฐบาล NLD ยังอยู่ในตำแหน่งก็ตาม ไม่สามารถดึงดูดกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มให้เข้าร่วมการหารือได้แม้แต่ครั้งเดียว และตราบใดที่กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มยังถูกละเลย โอกาสที่จะเกิดสันติภาพจริงๆ ในพม่าก็คงเป็นไปยาก

ต้องเตือนความจำผู้อ่านสักนิดว่า แม้แต่การประชุมที่ปางหลวงในปี 1947 ก่อนพม่าได้รับเอกราชเพียง 1 ปี นายพลออง ซาน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษผู้สร้างรัฐพม่ายุคใหม่ เดินทางไปเมืองปางหลวงในรัฐฉานเพื่อหารือกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการดำรงอยู่ร่วมกัน (co-existence) หลังพม่าได้รับเอกราช ในการเจรจาครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมหลักและผู้ลงนามเป็นคนพม่า ฉาน กะฉิ่น และฉิ่น เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสำคัญอย่างมาก ผู้นำคะเรนนี มอญ และยะไข่ ไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากผู้นำพม่ามองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีพื้นที่อยู่ภายในเขตของพม่า หรือที่เรียกว่า ministerial Burma ไม่ได้อยู่บนเทือกเขาสูงเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์อีก 3 กลุ่ม นอกจากนี้ ผู้นำกะเหรี่ยงส่งผู้สังเกตการณ์ไปเพียง 4 คน

จะเห็นได้ว่าโลกทัศน์ของผู้นำพม่าที่มีต่อรัฐชาติค่อนข้างจำกัด มีเพียง “เรา” และ “เขา” ถัดจากที่ราบในพม่าตอนล่าง หรือพื้นที่ริมแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำอื่นๆ ในพม่าตอนบนไป ก็จะเป็นพื้นที่ของ “เขา” (hills) และ “พวกเขา” (them) ที่เหลือในเขตที่ราบก็จะเป็นพื้นที่ของ “เรา”

Advertisement

การรวมกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายไว้ภายใต้การปกครองของรัฐพม่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของกองทัพพม่า นอกจากภารกิจการรวมจักรวรรดิให้เป็นปึกแผ่นจะเป็นพระราชกรณียกิจของกษัตริย์องค์สำคัญของพม่าทั้ง 3 องค์ ได้แก่ พระเจ้าอโนรธา พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา แล้วนี่ยังเป็นเหมือนหัวใจหลักที่จะทำให้เราเข้าใจบทบาทและวิธีคิดของคนในกองทัพพม่า

เหตุการณ์ที่ผู้เขียนอยากยกขึ้นมาอีกตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน กองทัพพม่า นำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย จัดงานเฉลิมฉลองการลงนามใน NCA ครบรอบ 8 ปีอย่างยิ่งใหญ่ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ ณ กรุงเนปยีดอ ในงาน กองทัพเลือกเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเข้าร่วม และยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของ NCA ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพม่า

ความน่าสนใจสุนทรพจน์ของผู้นำกองทัพพม่าคือเขาชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations) หรือ EAO ที่มีมาแต่เดิม (เช่น KNU ของกะเหรี่ยง ที่ก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี 1947) กับกองกำลังที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ซึ่งกองทัพมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และผู้จ้องบ่อนทำลายเสถียรภาพและความสมัครสมานสามัคคีภายในชาติ นอกจากนี้ เขายังย้อนกลับไปถึงยุคอาณานิคมที่อังกฤษควบคุมพม่าด้วยนโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” (divide and rule) สร้างอัตลักษณ์ให้กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ศึกษาพม่าในยุคอาณานิคม ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจอย่างมากที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย นำนโยบายแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษขึ้นมาพูด แม้พม่าจะมีประสบการณ์ภายใต้ระบอบอาณานิคมอันเลวร้าย และขบวนการชาตินิยมของพม่าก็ขึ้นชื่อว่ามีความโดดเด่นและเข้มแข็ง แต่ในช่วงหลายสิบปีมานี้ หลังหมดยุคเน วิน ในปี 1988 เราไม่ค่อยเห็นฝ่ายปกครองในพม่ากล่าวถึงบาดแผลจากระบอบอาณานิคมมากนัก สุนทรพจน์นี้ยังมีนัยสำคัญเพราะกองทัพพยายามปรับเปลี่ยนทรรศนะที่เคยมีต่อกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ จากเดิมกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับกองทัพพม่า มาบัดนี้ กองกำลังฝั่งประชาชนกลับเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่า

คำกล่าวของมิน อ่อง ลาย คือการเรียกร้องไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ให้ร่วมมือกับรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่กำลังต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างดุเดือดในปัจจุบัน NCA จึงเป็นเหมือนเครื่องมือให้กลุ่มชาติพันธุ์กลับเข้ามาร่วมมือกับกองทัพ และโดดเดี่ยว NUG กับ PDF

อย่างไรก็ดี ไม่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดที่ไว้วางใจกองทัพพม่าแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกฝ่ายต่างอยู่ได้ด้วยผลประโยชน์ และข้อตกลงที่ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะประวัติศาสตร์พม่าสมัยใหม่สอนให้รู้ว่าแม้จะมี NCA แต่กองทัพพม่าก็เปิดฉากโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มได้ทุกเมื่อ ยกตัวอย่างในรัฐฉาน กองกำลังขนาดใหญ่ที่สุดที่ควบคุมรัฐฉานคือ SSA (Shan State Army) ซึ่งในปัจจุบันมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับกองทัพพม่า แต่ต้องยอมรับว่ารัฐฉานเป็นรัฐขนาดใหญ่ และมีกองกำลังอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ SSA อีกจำนวนหนึ่ง

ในงานเฉลิมฉลอง NCA ครบรอบ 8 ปี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานเลยหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ KNU ของกะเหรี่ยง รวมทั้ง All Burma Students Democratic Front และ Chin National Front รวมทั้ง PDF ด้วย กองกำลังเหล่านี้ต่างมีข้อขัดแย้งกับกองทัพพม่าอย่างรุนแรง และไม่มีทีท่าว่ากองทัพอยากจะพูดคุยกับกองกำลังเหล่านี้

ประเทศเพื่อนบ้านของพม่า ทั้งจีน อินเดีย และไทย ตอบรับคำเชิญของกองทัพพม่าและเข้าร่วมการฉลอง NCA ครบรอบ 8 ปีในครั้งนี้ด้วย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ตัวแทนของรัฐบาลไทยให้สัมภาษณ์ว่ากระบวนการสันติภาพในพม่าต้องมาจากการนำของพม่าและต้องเป็นของพม่า (Myanmar-led and Myanmar-owned) แต่ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำส่งท้ายว่า หากปล่อยให้การสร้างสันติภาพในพม่าเป็นเรื่องของพม่าเพียงอย่างเดียว ในชั่วชีวิตนี้เราจะไม่มีทางได้เห็นสันติภาพที่แท้จริงในพม่าอีกเลย ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายไปเบื้องต้น โลกทัศน์ของกองทัพพม่ามีความแตกต่างและแปลกแยก โดยมองว่าตนคือผู้ปกครองอันชอบธรรม ดังนั้น กองทัพจึงไม่มีเหตุผลที่จะเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ใดหรือคู่ขัดแย้งใดอย่างเท่าเทียม หากเราคาดหวังให้เกิดกระบวนการสันติภาพที่ดีและยั่งยืนขึ้นในพม่า เราจะปล่อยให้ประชาชนของพม่าอยู่เดียวดายและเผชิญกับการกดขี่ของกองทัพพม่าอย่างที่เป็นอยู่นี้ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image