รัฐบาลคู่ขนาน ปฏิบัติการ 1027 และการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมทางการเมืองพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

หลังเกิดปฏิบัติการ 1027 ที่กองกำลังสามพี่น้อง ในนามพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) เปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าในรัฐฉานตอนเหนือ และยัดเยียดความปราชัยให้ฝ่ายหลังได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น ก็มีบทวิเคราะห์และการประเมินจากหลายแหล่งที่มองว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างความเสียหายหนักให้กองทัพพม่าแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน และนี่เป็นโอกาสทองที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะรุกเข้าไปยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าในพื้นที่อื่นๆ

ยกตัวอย่างบทวิเคราะห์ของจ่อ ซาน หล่าย (Kyaw Hsan Hlaing) และนาย ลิน (Naing Lin) ใน The Diplomat ที่มองว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่ากองทัพพม่าอ่อนแอลง และสูญเสียพื้นที่ของตนอย่างน้อย 132 เมืองจาก 330 เมืองทั่วประเทศ ที่ทำให้กองทัพต้องนำกฎอัยการศึกมาใช้ใน 44 เมือง แซคคารี อาบูซา (Zachary Abuza) นักวิชาการจากวิทยาลัยสงครามแห่งชาติในวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารและกองทัพพม่ามีโอกาสชนะ เพราะกองทัพพม่ากำลังอ่อนแอ แต่ประชาคมโลกก็ต้องช่วยกันกดดันเพื่อช่วยฝ่ายต่อต้านให้ได้รับชัยชนะแบบเด็ดขาด อาบูซามองว่า
ที่ผ่านมาสงครามในยูเครนทำให้นานาชาติไม่ให้ความสนใจวิกฤตในพม่าเท่าที่ควร

บทความของอาบูซาตามแนววิเคราะห์กระแสหลักที่ว่ากองทัพพม่ามีกำลังพลน้อยกว่าที่เราคิด อีกทั้งยังมีทหารที่หนีสงครามอีกเป็นจำนวนมาก กองพันเกินครึ่งมีทหารที่พร้อมรบอยู่น้อยกว่า 150 นาย และยุทธการต่างๆ ที่กองทัพพม่านำมาใช้ โดยเฉพาะแนวคิด “4 ตัด” (Four Cuts) หรือการลงโทษประชาชนและหมู่บ้านที่ให้การช่วยเหลือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อย่างรุนแรง ยุทธศาสตร์นี้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการปราบปรามกองกำลังกะเหรี่ยงในทศวรรษ 1960 และอีกครั้งในการขับชาวโรฮีนจา
ออกจากรัฐยะไข่ในปี 2017 แนวทาง “4 ตัด”

นี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีประชาชนนับล้านคนในพม่าที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศของตนเอง อาบูซาสรุปให้ฟังง่ายๆ ว่ากองทัพพม่าไม่มีทางชนะในสงครามครั้งนี้  

Advertisement

จากการพูดคุยกับเพื่อนๆ นักวิชาการชาวพม่า ซึ่งทั้งหมดมีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร หลายคนมองว่าโอกาสที่กองทัพจะเสียฐานที่มั่นเพิ่มมีสูงมาก และยังมองต่อว่าโอกาสที่เนปยีดอจะแตกก็มีเช่นกัน จริงอยู่ว่ากองทัพพม่ากำลังอยู่ในสภาพอ่อนแอร่อแร่ถึงที่สุด ทหารตามกองพันต่างๆ ขาดขวัญกำลังใจ ไม่ต้องการไปรบ และยังขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยอีกมาก แต่เราต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังต่อต้านรัฐประหารยึดได้ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตเทือกเขา เมื่อไหร่ที่กองทัพพม่าเข้าไปก็จะเสียเปรียบทันที ดังนั้น การระดมสรรพกำลังเข้าไปเพิ่มในรัฐฉาน หรือพื้นที่ภูเขาอื่นๆ ในรัฐคะฉิ่น ฉิ่น คะยาห์ และกะฉิ่น จึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีนัก ทรัพยากรที่มีจำกัดในเวลานี้บีบให้กองทัพพม่าต้องรักษาฐานที่มั่นที่ตนยังมีอยู่ในเขตที่ราบพม่า (Burma Proper) ไว้

การจะเจาะเข้าไปตีเนปยีดอเป็นเรื่องลำบากมากสำหรับกองกำลังพันธมิตรกลุ่มต่างๆ ก่อนหน้านี้
เราเห็นภาพที่กองกำลังเหล่านี้ผลัดกันโจมตีกองทัพพม่าตามแนวทางที่ตนเองถนัด แต่เนปยีดอเป็นเมืองหลวงใหม่ ที่มีการวางผังไว้เพื่อรับมือกับการโจมตีทุกรูปแบบ ที่ทำการของแต่ละกระทรวงอยู่ห่างไกลกันมาก และยังมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา หรือแม้ว่าเนปยีดอจะแตก (เขตที่เป็นฐานที่มั่นของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารคือ มณฑลสะกาย มักก่วย และมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่รอบๆ เนปยีดอ)

แต่ทุกคนทราบดีว่าเนปยีดอไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และเป็นเพียงเมืองหลวงที่กองทัพพม่าสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลเรื่องที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ และความเกลียดชังระบอบอาณานิคม พื้นที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นอดีตเมืองหลวงอย่างย่างกุ้ง ที่อังกฤษพัฒนาขึ้นในยุคอาณานิคม และเมืองหลวงเก่ายุคราชวงศ์คองบองอย่างมัณฑะเลย์ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรมากกว่า  

Advertisement

ผู้ขียนมองว่าคำถามที่สำคัญมากไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ในระยะสั้น ในระยะยาว การสู้รบยังคงมีต่อไป และจะเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่าการยันกัน (stalemate) ไปเรื่อยๆ แบบที่หาผู้ชนะได้ยาก ผู้เขียนสนใจประเด็นที่ว่าหากการสู้รบยังไม่จบอนาคตของพม่าจะเป็นอย่างไรมากกว่า มองในมุมของไทย ตราบใดที่ยังมีสงครามกลางเมืองในพม่า ไทยก็ยังจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ผู้อพยพหนีภัยสงครามหลั่งไหลเข้ามา

รัฐไทยมีมาตรการบริหารจัดการคลื่นผู้อพยพที่คาดว่าจะมีจำนวนนับแสนคนนี้อย่างไร หรือประชาชนทั่วไปจะอยู่กันอย่างไรท่ามกลางสภาพทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนัก เยาวชนจะได้รับการศึกษาอย่างไรในสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไม่มีการเรียนการสอน และข้าราชการที่เข้าร่วมขบวนการ CDM หรือขบวนการอหิงสาและปฏิเสธไม่ทำงานให้กับรัฐบาลคณะรัฐประหารจะมีชะตากรรมอย่างไรในอีก 5-10 ปีข้างหน้า? คำถามเหล่านี้ต่างหากที่สำคัญที่เราควรเริ่มพิจารณากันอย่างจริงจัง

ในบทความของเทต มิน ลวิน (Htet Min Lwin) และธีหะ วิน อ่อง (Thiha Wint Aung) ชื่อ “Operation 1027: The End of the Beginning of Myanmars Spring Revolution” กล่าวถึงประเด็นนี้
ไว้อย่างน่าชื่นชม ผู้เขียนทั้งสองมองว่าปฏิบัติการ 1027 ชี้ให้เห็นว่าความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร SAC ลดลงไปอย่างมาก แต่การต่อสู้เพื่ออนาคตของพม่าเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ฝ่ายประชาชนผนึกกำลังกันต่อต้านคณะรัฐประหารมาประมาณเกือบ 3 ปี ในที่สุดความพยายามนี้ก็เริ่มออกดอกออกผล เพราะกองทัพแสดงให้เห็นความอ่อนแออย่างจริงจัง นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่กองกำลังฝ่ายประชาชนมีโอกาสจะยึดครองพื้นที่ทั้งหมดกลับคืนมาจากกองทัพได้

เมื่อประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเริ่มกำชัยชนะ ขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายประชาชนและประชาชนธรรมดาก็มีมากขึ้น รัฐบาลคู่ขนาน NUG ใช้โอกาสนี้ ระดมทุนเพิ่มตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน ภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง ธนาคาร Spring Development Bank (SDB) ที่เป็นธนาคารคู่ขนานของ NUG ขายเหรียญ SDB (เป็นเหรียญจำลอง คล้ายกับบิตคอยน์) ได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์

แต่ท้ายที่สุดผู้เขียนก็ยังมองว่าสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดคือกองกำลังของทั้งสองฝ่ายก็จะช่วงชิงความได้เปรียบแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันหากฝ่ายประชาชนคิดถึงชัยชนะที่ยั่งยืนจริง ก็ต้องวางแผนว่าจะสร้าง “สหพันธรัฐ” ขึ้นมาอย่างไร แน่นอนว่าย่อมมีประเด็นที่กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มขอแยกตัวออกมาเป็นอิสระ หรือประเด็นที่ซับซ้อนอื่นๆ การจะสร้างพม่าขึ้นมาใหม่จากเศษซากของสงครามกลางเมืองที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปฏิบัติการ 1027 เท่านั้น แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 75 ปีแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image