มีแต่ไทยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในพม่าได้ โดย ลลิตา หาญวงษ์

ปัญหาความขัดแย้งในพม่านั้นเหมือนปริศนาไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน เพราะไม่สามารถแก้ได้ด้วยคำตอบพื้นๆ เพราะเป็นปัญหาที่คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายมี “ธง” ของตนเอง แบบที่ไม่สามารถลดราวาศอกได้ ทำให้การกลับมาบรรจบกันหรือนั่งในโต๊ะเจรจาเดียวกันของคู่ขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่หนทางสร้างสันติภาพถาวรเป็นไปได้ยากยิ่ง หากไม่นับปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผู้เขียนขอยกให้ปัญหาพม่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด เพราะนี่คือสงครามที่มีระดับความขัดแย้งหลายชั้น ชั้นหนึ่งคือข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังที่ต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองของรัฐบาล/กองทัพพม่าจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะมีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาปกครองหรืออย่างไร กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ก็ยังจะยืนหยัดต่อสู้เพื่ออิสรภาพ กรณีนี้เห็นชัดเจนกับคนกะเหรี่ยง หรือคะยิน (Kayin) ที่ทั้งผู้นำและประชาชนมีฉันทามติไปในทางเดียวกันคือมีเป้าหมายเพื่อตั้ง “กอทูเลแลนด์” (Kawthoolei Land) ของตนให้ได้

ชั้นที่สองคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านกองทัพพม่า แต่ไม่ได้ต้องการแยกประเทศออกไปชัดเจน ยังอยู่กับพม่าได้ แต่ต้องการอิสระเพื่อการปกครองพื้นที่และทรัพยากรของตนเอง และชั้นสุดท้ายคือกองกำลังฝั่งประชาชน PDF ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร กองกำลังบางส่วนรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันโจมตีกองทัพพม่า ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็คือกลุ่มพันธมิตรสามภารดรภาพ ของโกก้าง ตะอาง และอาระกัน ปฏิบัติการ 1027 ที่กองกำลังสามพี่น้องร่วมกันโจมตีกองทัพพม่าจนแตกฉานซ่านเซ็นออกจากรัฐฉานตอนเหนือในปลายเดือนตุลาคม และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่ากองกำลังอื่นๆ ที่กำลังฮึกเหิมสุดๆ ในเวลานี้ก็อาจรวมกลุ่มและร่วมกันโจมตีกองทัพพม่าเช่นกัน

ในสภาพการณ์นี้ สื่อทุกสำนัก นักวิเคราะห์เกือบทุกคน มองตรงกันว่ากองทัพพม่ากำลังอ่อนแอสุดขีด ปัญหาหลักคือมีทหารเสียชีวิตในการสู้รบทั้งในสมรภูมิจริงๆ และการถูกซุ่มโจมตีจำนวนมาก ทหารที่ยังอยู่ก็ไร้กำลังใจ และยังมีอีกมากที่หนีทหารดื้อๆ เพราะรบยังไงก็ยากจะชนะ โดยเฉพาะในสมรภูมิที่เป็นพื้นที่หลักของฝ่ายชาติพันธุ์และ PDF หรือพื้นที่ชายแดนจีน ไทย อินเดีย และบังกลาเทศ รวมทั้งบางมณฑลในพม่าตอนกลางและตอนเหนือที่อันเป็นฐานที่มั่นของ PDF

แม้ผู้เขียนยังมองว่ากองทัพพม่าอาจจะไม่ได้แพ้ราบคาบเหมือนที่หลายฝ่ายประเมิน และท้ายสุดสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการปะทะกันเรื่อยๆ โดยไม่มีฝ่ายใดชนะแบบเด็ดขาด แต่ผู้เขียนก็มองว่าไทยมีความจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์และวิธีคิดทั้งหมดที่มีต่อสถานการณ์ในพม่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผู้เขียนมองว่าการทูตแบบไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy) ที่ไทยใช้มายาวนานตั้งแต่หลังสงครามเวียดนามสงบลงราวปี 1975 นั้นล้าสมัย และไม่สามารถตอบโจทย์ระเบียบการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกแล้ว ผู้เขียนเคยนำเสนอเรื่องนี้กับหน่วยงานความมั่นคง แต่ได้รับคำตอบว่าไทยยังจำเป็นต้องเป็นไผ่ลู่ลม เพราะ “เราไม่ใช่ประเทศใหญ่” และเรายังต้องการการยอมรับจากทุกประเทศ และไทยยังจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ จะตีตัวออกห่างกองทัพพม่าเลยก็ไม่ได้ และจะใส่เกียร์เดินหน้าไปพูดคุยกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาลคู่ขนาน NUG/PDF ก็ไม่ได้อีก

Advertisement

ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ไทยมีนโยบายที่เกี่ยวกับพม่าแบบตีสองหน้า ในขณะที่รัฐบาลและกองทัพไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ที่เรียกว่าค่อนข้างดี ผู้นำกองทัพมีความสัมพันธ์ส่วนตัวแน่นแฟ้นแบบที่สามารถต่อสายตรงหากันได้ แต่รัฐไทยก็ให้เกียรติผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ และฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่า ที่หลบเข้ามาในไทย แม้ไม่เคยออกตัวแรงสนับสนุนโดยตรงก็ตาม ตั้งแต่ก่อนปี 1969 เริ่มมีกระแสการต่อต้านรัฐบาลเน วิน โดยอู นุ
และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายคน เข้ามาลี้ภัยทางการเมืองในพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์และกรุงเทพฯได้ คนสำคัญคนแรกๆ ที่เข้ามาในช่วงหลังปฏิวัติของเน วินในปี 1962 คือนายพลจัตวา ทอมมี่ คลิฟฟ์ (Tommy Cliff) อดีตสมาชิกของสภาปฏิวัติของเน วิน และนายทหารระดับสูงในกองทัพอากาศพม่า คลิฟฟ์มีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ที่ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และยังมีนักเคลื่อนไหวพม่าระดับวีไอพีอีกมากที่เข้ามาเคลื่อนไหวในไทย รวมทั้งอู นุ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าด้วย

เมื่อสถานการณ์ในพม่าปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป และโมเมนตัมกลับมาอยู่ที่ฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารและกองทัพ ท้ายที่สุดก็จะเริ่มมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น แต่การเจรจาที่ผ่านๆ มาทุกยุคเป็นดำริของกองทัพและรัฐบาลที่ได้รับไฟเขียวจากกองทัพ การเจรจาสันติภาพจึงเกิดขึ้นแบบขอไปที ไม่ว่าจะรีแบรนด์กี่ครั้งก็ไม่เคยมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจาแบบครบๆ แม้แต่ครั้งเดียว ต่างฝ่ายต่างมีอัตตา และแทบไม่เห็นหนทางที่กองทัพพม่าและฝ่ายต่อต้านทุกกลุ่มจะเจรจาได้แบบลงตัว

ที่ผ่านมา อาเซียนพยายามเป็นตัวกลางที่จะนำคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนก่อนที่สถานการณ์จะบานปลาย แต่อย่างที่ทุกท่านเห็นว่าอาเซียนไม่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะใช้วิธีไหนเพื่อเจาะเข้าไปในพม่า นั่นเพราะผู้นำกองทัพไม่ไว้ใจอาเซียน และไม่ชอบประเทศที่ออกตัวแรงตั้งแต่ในครั้งที่มีปัญหาโรฮีนจา โดยเฉพาะประเทศอย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เมื่อไม่ชอบก็พยายามตัดโอกาสทุกทาง ทำให้กลไกใดๆ ที่อาเซียนสร้างขึ้นด้วยความปรารถนาดีที่จะเป็นตัวกลางสร้างสันติภาพในพม่า ไม่ออกดอกออกผล

Advertisement

ในบรรดาประเทศอาเซียน มีเพียงไทยเท่านั้นที่จะพูดคุยกับผู้นำกองทัพในพม่าได้ ผู้เขียนไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่พูดจากประสบการณ์หลังจากหารือกับผู้คนในกระทรวงและหน่วยงานความมั่นคงที่มีประสบการณ์ทำงานกับพม่าหลายคน ทุกคนลงความเห็นว่าไทยมีบทบาทในอันที่จะส่งเสริมสันติภาพในพม่าได้มากกว่านี้ หากมีนโยบายที่ดี เปิดกว้าง และเต็มเปี่ยมด้วยความปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพที่แท้จริง ลองนึกถึง Bangkok Process ในยุคนายกฯทักษิณ ที่ไทยเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมฝ่ายต่างๆ ในพม่าเพื่อให้เข้ามาเจรจาหาทางออกร่วมกันที่กรุงเทพฯ นี่น่าจะเป็นเหมือนสารตั้งต้นให้เห็นว่าไทยเองก็เคยมีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

สถานการณ์ที่พม่าในปัจจุบันมีความรุนแรงกว่าในยุคนายกฯทักษิณมากนัก หากไทยต้องการกอบกู้ชื่อเสียงด้านการต่างประเทศกลับคืนมา ไทยจำเป็นต้องช่วยประสานงาน (ไม่ว่าจะผ่านเครือข่ายส่วนตัวของผู้นำในกองทัพหรือเครือข่ายอื่นๆ) และเป็นตัวกลางให้เกิดการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทุกส่วนในพม่า ความมั่นคงของพม่าย่อมเป็นความมั่นคงของไทย ด้วยเหตุนี้ไทยจึงเป็นเพียงประเทศเดียวที่จะริเริ่มการเจรจาสันติภาพที่แท้จริงในพม่าได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image