เมียวดี : ศึกนี้อีกนาน โดย ลลิตา หาญวงษ์

“เมียวดี” ชื่อนี้วนเวียนอยู่ในข่าวมาหลายเดือน ทั้งในด้านการสู้รบระหว่างกองกำลังหลายฝ่ายเพื่อยึดเมืองชายแดนที่สำคัญที่สุดบนชายแดนไทย-พม่านี้ ไปจนถึงเรื่องบ่อนกับสแกมเซ็นเตอร์หลายสิบแห่งริมแม่น้ำเมย และการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสำคัญและเริ่มเฟสแรกไปแล้วใน 3 เมืองในจังหวัดเมียวดีตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม

ก่อนช่วงสงกรานต์ไม่นานนัก พื้นที่ส่วนใหญ่ในเมียวดียังถูกควบคุมโดย SAC หรือฝ่ายรัฐบาลคณะรัฐประหารของพม่า แต่หลังจากนั้นกองกำลังฝ่ายต่อต้านก็ร่วมมือกันเพื่อยึดเมียวดีได้สำเร็จ สัญลักษณ์ของการยึดเมืองยุทธศาสตร์แห่งนี้ได้โดยสมบูรณ์ คือการเข้ายึดฐานที่มั่นของกองพัน 275 ของกองทัพพม่า หรือฐานผาซอง ฐานสุดท้ายที่อยู่ใกล้เมืองเมียวดีมากที่สุดได้ ปฏิบัติการของกองกำลังร่วมนี้เกิดขึ้นได้เพราะกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มหลักๆ รวมตัวกันเพื่อเข้าโจมตีทหารพม่า แม้แต่กองกำลัง BGF (ปัจจุบันรีแบรนด์เป็น KNA หรือ Karen National Army) ภายใต้การนำของซอชิตตู่ และ
ตินวิน ที่เคยสวามิภักดิ์และส่งค่าคุ้มครองให้ SAC มาแต่ก่อน ก็เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ ร่วมกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านในรัฐกะเหรี่ยง ที่นำโดย KNLA (ปีกกองทัพของ KNU) โดยให้เหตุผลว่ากองกำลังกะเหรี่ยงทั้งผองมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อขับกองกำลังพม่าออกไปจากเมียวดีและรัฐกะเหรี่ยงให้ได้ก่อน

ชื่อของชิตตู่และตินวินไม่ใช่ชื่อใหม่ แต่เราคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะกองกำลังกะเหรี่ยง BGF เป็นผู้คุ้มครองกาสิโนและสแกมเซ็นเตอร์ขนาดมหึมาในเขตเมียวดี โดยเฉพาะชเวโกกโกที่ชิตตู่ควบคุมอยู่ และเคเคปาร์คของตินวิน เมื่อแรกมีข่าวกองกำลังร่วมของกะเหรี่ยงช่วยกันโจมตีฐานสำคัญของพม่าในเมียวดี ผู้เขียนมองไว้ว่าโอกาสที่กองกำลังกะเหรี่ยงทั้งหมดนี้จะรวมตัวกันได้เป็นเพียงปฏิบัติการเฉพาะกิจ

ที่ผ่านมากรอบการวิเคราะห์พลวัตของกองกำลังหลากหลายกลุ่มในรัฐกะเหรี่ยงมักเป็นในแนว Good Karens, Bad Karens คือมี BGF เป็นเหมือนฝ่ายร้ายที่มีธุรกิจผิดกฎหมายและผลประโยชน์มากมายอยู่ในมือ ในขณะที่ KNU/KNLA ถูกมองว่าเป็น Good Karens เพราะออกมาประกาศว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่เป็นความจริง เพราะตราบใดที่สงครามต้องใช้เงินและทหาร กองกำลังบางกลุ่ม แม้จะเป็นใน KNLA เองก็จำเป็นต้องมีแหล่งรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงกองกำลังของตนเอง อย่าลืมว่าเราไม่ได้อยู่ในยุคสงครามเย็นที่มีมหาอำนาจเข้าไปถือหางกองกำลังฝ่ายต่างๆ อีกต่อไปแล้ว

Advertisement

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีรายงานข่าวออกมาว่า BGF ช่วยให้ทหารพม่ากลับเข้าไปค่ายผาซองและนำธงชาติเมียนมากลับขึ้นสู่ยอดเสาอีกครั้ง หลังจากที่มีภาพว่ากองกำลังกะเหรี่ยงชักธงชาติกะเหรี่ยง การฉกชิงพื้นที่และการเมืองเรื่องธงชาตินี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ การที่กะเหรี่ยงชักธงขึ้นเสาเหนือเมียวดีได้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยพม่า หลายสิบปีมาแล้ว กะเหรี่ยงเคยมีฐานที่มันหลักที่เมอนาปลอ (Manerplaw) ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก แต่มาถูกพม่าตีแตกในปี 1995 ยุคที่ SLORC ปกครองพม่า ว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้เมอนาปลอแตกก็มาจากการแตกคอกันของผู้นำกะเหรี่ยง และนับแต่นั้นธงเมียนมาก็โบกสะบัดเหนือทุกพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตลอดมา

เวลาผ่านมาหลายสัปดาห์ การสู้รบในฝั่งเมียวดียังไม่มีทีท่าจะจบลง เหตุใดพม่าจึงยังไม่ยอมแพ้ในสมรภูมิที่เมียวดี และเหตุใดสถานการณ์ตรงนี้จึงพร้อมจะพลิกได้ทุกเมื่อ?

BGF เป็นตัวแปรสำคัญยิ่งในเมียวดี เพราะผู้นำ BGF ทั้งชิตตู่และตินวินจะไม่ยอมให้ SAC ใช้เครื่องบินไปทิ้งระเบิดแหล่งขุมทรัพย์ที่ชเวโกกโก เคเคปาร์ค และกาสิโนน้อยใหญ่ริมแม่น้ำเมยอย่างเด็ดขาด เพราะนี่คือลมหายใจและความอยู่รอดของ BGF ไม่ใช่เฉพาะตัวผู้นำ แต่พื้นที่ตรงนี้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องทหาร BGF ที่มีมากกว่า 1.4 หมื่นนาย ดังนั้น BGF ก็ต้องงัดทักษะการเจรจาทั้งหมดมาเจรจาเพื่อกันไม่ให้ SAC มีปฏิบัติการทิ้งระเบิดใกล้พื้นที่คอมเพล็กซ์ของ BGF แล้ว BGF จะทำอย่างไรเพื่อเจรจาตรึงพื้นที่ในความควบคุมของตนไว้ได้?

Advertisement

ในเร็ววันนี้เราอาจจะเห็น BGF กลับไปรวมกับ SAC อีกรอบก็ได้ หรือไม่ก็ประกาศตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างทั้ง SAC และกองกำลังร่วมของกะเหรี่ยง รักษาพื้นที่ผลประโยชน์ของตนเองต่อไป แต่หาก BGF เลือกหนทางนี้จริง ผู้เขียนมองว่า BGF คงจะอยู่ยากขึ้นในสภาพที่อิกอร์ บลาเซวิช (Igor Blazevic) มองว่าคือสมรภูมิที่สำคัญที่สุดตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และเป็นศึกที่จะทำให้กองทัพพม่าพ่ายแพ้ราบคาบเลยทีเดียว

แม้ว่ากองทัพพม่าจะทำทุกทางเพื่อกลับเข้ามายึดเมียวดีให้ได้ ขนรถถัง ยานเกราะและอาวุธหนักเข้ามาเมียวดีผ่านภูเขาด่อนา (Dawna) ถึง 3 ทาง ทางถนนสายเอเชีย (A1) ถนนสายเก่า และทางป่าบนเขา แต่การผ่านด่านเขาด่อนาเพื่อไปถึงเมียวดีไม่ง่ายเลย และเราก็เห็นภาพฝ่ายต่อต้านร่วมกันโจมตีรถยานเกราะของพม่าจนเดินทางต่อไม่ได้มาแล้ว ทางผ่านตรงนี้จึงเป็นเหมือนลมหายใจเฮือกท้ายๆ ของ SAC หากผ่านไปได้ก็จะใช้ความรุนแรงเพื่อโจมตีหมู่บ้านรอบๆ เพื่อกรุยทางไปสู่การยึดเมียวดีคืนมา

บลาเซวิชมองว่าแม้กองทัพ SAC จะฝ่าด่านเขาด่อนาได้ แต่ก็จะสูญเสียอย่างหนัก ทหารสูญเสียกำลังใจ และมีกำลังเหลือไม่มากนักสำหรับสมรภูมิอื่นๆ SAC รู้ดีว่าสิ่งที่ง่ายกว่าคือการยกหูโทรหาชิตตู่และยื่นข้อเสนอที่เขาไม่อาจปฏิเสธได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับบลาเซวิชที่ว่าพลวัตที่เมียวดีวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้ฝ่ายต่อต้านยังไม่มีชัยชนะเด็ดขาด แต่เราต้องยอมรับว่าโมเมนตัมของเกมนี้เอนมาทางฝ่ายต่อต้านแล้ว ลองนึกถึงว่ามีศึกใหญ่ปะทุอีกสักแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ยะไข่ คะฉิ่น หรือมอญ SAC จะเลือกรักษาพื้นที่ตรงไหน

สำหรับผู้เขียนแล้ว เมียวดีคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ SAC จะต้องรักษาไว้ให้นานที่สุด เพราะนี่เป็นช่องทางการค้าที่คึกคักที่สุด มูลค่าการค้าที่เป็นประโยชน์กับพม่ามีมากกว่าการค้ากับจีน บังกลาเทศ หรืออินเดีย ศึกที่เมียวดีจะยังมีต่อไปอีกสักพัก แต่ SAC จะไม่สามารถปกครองเมียวดีแบบเบ็ดเสร็จได้อีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมี BGF อยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม

https://m.facebook.com/story.phpstory_fbid=pfbid02c8LBj7rZW9MvWz7j9NZiyB6Fupy7fwvzyLTMuHG2efoyfLb4nJkw82j93e3zvyQbl&id=713096472

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image