หอเชียงตุงจากอดีตสู่โฆษณาชวนเชื่อของกองทัพพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

เชียงตุง (Kangtung) หรือจายโตง (Kyaingtone) ในภาษาพม่า เป็นทั้งเมืองและเขตในรัฐฉาน ตั้งอยู่ในรัฐฉานตอนใต้ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ติดกับเขตของจีนและไม่ห่างจากชายแดนไทยและลาวมากนัก ในอดีตเมืองต่างๆ ในรัฐฉานมีเจ้ามหาชีวิตหรือเจ้าฟ้า (ภาษาพม่าเรียก ซอ-บวา) เป็นผู้ปกครอง มีเจ้าฟ้าและผู้ปกครองทั้งสิ้น 30 เมือง

รัฐฉานมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ในอดีต การเดินทางสัญจรระหว่างเมืองเป็นไปอย่างลำบาก ไม่ต้องพูดถึงปฏิสัมพันธ์คนพื้นที่ราบลุ่มในพม่าตอนล่างที่ยิ่งลำบาก เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองเมียนมาอย่างเบ็ดเสร็จในปี 1885 อังกฤษเองพยายามนำรูปแบบการปกครองหลายอย่างเข้าไปในรัฐฉาน แต่ท้ายสุดก็ต้องถอดใจและเลือกปกครองรัฐฉานและเขตเทือกเขาสูงอื่นๆ แบบหลวมๆ รวมเรียกว่า Unadministered Areas หรือ Scheduled Areas ปล่อยให้เจ้าฟ้าในแต่ละเมืองปกครอง แต่ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอังกฤษมากถึงร้อยละ 50

แม้ระบอบอาณานิคมจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่และทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่มีข้อดีอยู่จุดหนึ่ง โดยเฉพาะในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ คืออังกฤษปล่อยให้กลุ่มชาติพันธุ์และผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่เข้าไปฉกชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่ามีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาของตนเองได้ ในขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของบริติชเอมไพร์ แต่ภาษาฮินดี (ฮินดูสตานี) และภาษาพม่าก็เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารโดยคนส่วนใหญ่ในอาณานิคมพม่าในขณะนั้น

ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เจ้าฟ้าฉานยังคงมีอำนาจในฐานะเจ้าเหนือหัวของผู้คนในพื้นที่ของตนเอง เจ้าฟ้าแต่ละเมืองมีความสัมพันธ์กันในทางเครือญาติผ่านการแต่งงานบ้าง แต่หลายเมืองก็ทำสงครามกัน เป็นเรื่องปกติของรัฐที่มีขนาดใหญ่และแต่ละเมืองก็มีเจ้าฟ้าที่มีบุญญาบารมีในแบบของตนเอง

Advertisement

หนึ่งในเมืองขนาดใหญ่ที่สุดและถือเป็นหนึ่งในเมืองเอกคือเชียงตุง หากดูในแผนที่ จะเห็นว่าเชียงตุงเป็นเหมือนชุมทางของพ่อค้าคาราวานและเส้นทางสินค้าจากจีน ลาว และไทย เข้าไปสู่พื้นที่พม่าตอนใน ด้วยความที่เชียงตุงอยู่ใกล้กับไทย และมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับภาคเหนือของไทย จึงมีความสัมพันธ์กับฝั่งไทยเรื่อยมาหลายร้อยปี ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เคยมีความพยายามผนวกดินแดนส่วนนี้เป็นของไทย ในนาม “สหรัฐไทยเดิม” มาแล้ว

ด้วยความสำคัญของเชียงตุง ที่โดดเด่นทั้งในทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เชียงตุงจึงเปรียบเป็นเมืองทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเชียงตุง อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับประชาชนในเชียงตุง รวมถึงผู้สืบทอดเชื้อสายจากเจ้าฟ้าแห่งเชียงตุงที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ค่อยจะดีนัก ในปี 1991 หลังสภาและสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SLORC ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าไม่นาน และเมื่อพรรค NLD ได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ SLORC เลือกตอบโต้ด้วยการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง หอเจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงตุงเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างจากยุคอาณานิคม (สร้างปี 1903) ที่ถูก SLORC สั่งให้ทุบทิ้ง แม้จะมีการประท้วงในท้องที่และการเรียกร้องจากทั้งพระภิกษุ แม่ชี รวมถึงประชาชนทั่วไปไม่ให้ทำลายสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองแห่งเมืองเชียงตุงแห่งนี้

หอเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทหอเจ้าฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน แต่หลังจากที่ถูกรื้อทิ้งไปบางส่วน หอเจ้าฟ้าเชียงตุงถูกถ่ายโอนไปเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลภายในรัฐฉาน และได้รับการบูรณะให้เป็นโรงแรมขนาด 108 ห้อง ในทางธุรกิจ การเก็บรักษาอาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นเรื่องยาก โรงแรมจายโตงจึงมีสภาพไม่ต่างจากโรงแรมร้าง ไม่เหลือเค้าของหอเจ้าฟ้าเดิมแห่งเชียงตุง

Advertisement

ก่อนรัฐประหารปี 2021 ไม่นาน คนเฒ่าคนแก่ในเขตเชียงตุงร่วมกันตั้งคณะกรรมการบูรณะหอเจ้าฟ้าเชียงตุงขึ้น และส่งจดหมายไปถึงรัฐบาล NLD ของด่อ ออง ซาน ซูจีในขณะนั้น เพื่อให้คืนพื้นที่ของหอกลับมาเป็นของประชาชนในเชียงตุง และยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าสร้างหอเจ้าฟ้าขึ้นมาใหม่ โดยเลียนแบบของเดิม และนำกลับมาใช้ประโยชน์เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเมือง

ข้อเรียกร้องของประชาชนในเชียงตุงครั้งนั้นไม่เป็นผล จนถึงยุคที่เกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำ SAC ประกาศว่าจะสร้างหอเจ้าฟ้าเชียงตุงขึ้นมาใหม่ และเพิ่งเดินทางไปเปิดหอเจ้าฟ้าเชียงตุงแห่งใหม่เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม รูปและข้อความจากสื่อของ SAC ที่ไปทำข่าวพิธีเปิดหอเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงเต็มไปด้วยความชื่นมื่นของคนในพื้นที่และของตัวพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลายเอง

คำถามที่เกิดขึ้นคือเหตุใด SAC จึงให้ความสำคัญกับเชียงตุง และเดินหน้าสานความสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐฉาน ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายบาดหมางกันมาแต่ก่อนเรื่องการรื้อหอเจ้าฟ้าตั้งแต่ยุค SLORC ในทรรศนะของผู้เขียน

ผู้เขียนมองว่ารัฐฉานใต้ยังถือว่าเป็นพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ “สงบ” เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ รอบข้าง ทั้งรัฐฉานเหนือ รัฐกะเหรี่ยง หรือรัฐคะเรนนี ที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารกองกำลังในรัฐฉานเหนือไม่ได้มุ่งมั่นเพื่อจะทำสงครามปลดปล่อยรัฐฉาน หรือต่อต้าน SAC แบบดุดันเหมือนพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นการยึดฐานที่มั่นและชนะใจบรรดาชนชั้นนำในรัฐฉานใต้จึงเป็นสิ่งที่มิน อ่อง ลายพยายามจะทำ

หากติดตามข่าวช่วงหลายเดือนมานี้ เรายังเห็นความเคลื่อนไหวของผู้นำ SAC ที่เดินทางมาฝั่งเชียงตุง-ท่าขี้เหล็กบ่อยครั้ง เพื่อคารวะเกจิอาจารย์ดังๆ ของรัฐฉาน เช่น ครูบาแสงหล้า หรือครูบาบุญชุ่ม พร้อมการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด การเยือนรัฐฉานใต้ท่ามกลางการสู้รบในพื้นที่อื่นๆ อย่างเข้มข้น ไม่ใช่เรื่องปกติ มีเพื่อนชาวพม่าเคยตั้งข้อสังเกตกับผู้เขียนว่าการฟื้นฟูหอเจ้าฟ้าเชียงตุงขึ้นมาอีกครั้งเหมือนเป็นการซื้อใจคนทั้งในเชียงตุงและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งผู้นำกองกำลังภายในรัฐฉาน ที่ต้องเรียกว่ามีท่าที “กลางๆ” มาตลอด นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร รัฐฉานเป็นรัฐใหญ่ หากเกิดความไม่สงบในพื้นที่ จะทำให้กองทัพพม่าต้องรับศึกหลายด้านจนเกินไป ดังนั้นการซื้อใจผู้นำในรัฐฉานครั้งนี้จึงเป็นนโยบายด้านการทูตที่มิน อ่อง ลาย ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image