พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : รบอย่าง วกวน การศึก มิหน่าย‘เล่ห์’ ‘รบ’ เมื่อพร้อม

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : รบอย่าง วกวน
การศึก มิหน่าย‘เล่ห์’
‘รบ’ เมื่อพร้อม

แม้โดยพื้นฐานบรรดาขุนพลต่างยึดกุมอนุศาสน์อันมาจากซุนวูอย่างมั่นแน่วโดยในบทที่หนึ่ง ประเมินศึก
“อันสงครามนั้น คือ การใช้เล่ห์เพทุบาย”
แต่เมื่อกำหนด “ยุทธวิธี” ออกมาอย่างเป็น “รูปธรรม” เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง
เล่ห์เพทุบายนั้นล้วนดำเนินไปอย่างยืดหยุ่น พลิกแพลง
จากการยุทธ์ครั้งแรกของหานซิ่นจึงสะท้อนออกลักษณะแห่งการยืดหยุ่น พลิกแพลง ออกมาอย่างแยบยล
นำไปสู่การประเมินและตีความอย่างหลากหลาย
เมื่อเรียบเรียง “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” บุญศักดิ์ แสงระวี จัดเป็น “ส่งเสียงบูรพา ฝ่าตีประจิม” แต่ใน “36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะภาคปฏิบัติ”
ก็จัดเป็น “ลอบตีเฉินซาง” (รบอย่างวกวน)

จงใจเปิดเผยการเคลื่อนไหวของเราให้ข้าศึกเห็น เมื่อข้าศึกตั้งมั่น ระวังรักษาอยู่ที่นั่น เราก็วกวนไปลอบตีทางด้านโน้น
ก็สามารถจะอาศัยจุดอ่อนบุกเข้าไปได้ เอาชนะด้วยการรบพิสดาร
“ลอบตีเฉินซาง” เป็นกลยุทธ์ลวงว่าจะโจมตีตำบล A หลอกให้ข้าศึกหลงกล แท้ที่จริงกลับโจมตีตำบล B
แนวคิดกลยุทธ์นี้คล้ายกับ “ส่งเสียงบูรพา ฝ่าตีประจิม”
ความจริง ต้องการจะโจมตีตำบล B แต่พยายามปกปิดเป้าหมายการโจมตีที่แท้จริงเอาไว้
แสร้งโจมตีลวงที่ตำบล A ก่อน
เบนความสนใจของข้าศึกไปอยู่ที่ตำบล A หลังจากนั้น จึงรวมศูนย์กำลังเข้าโจมตีตำบล B
สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับยุทธวิธี “ส่งเสียง บูรพาฝ่าตีประจิม”

จะมองการยุทธ์นี้ให้สมบูรณ์จำเป็นต้องมองอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ประสานเข้าด้วยกัน
นั่นก็คือ เล่าปัง จางเหลียง หานซิ่น
บุญศักดิ์ แสงระวี ประมวลแต่ละสถานการณ์มาให้พิจารณาและเสริมเติมสร้างความเข้าใจ
เริ่มตั้งแต่เมื่อจักรวรรดิแห่งฉินล่มสลาย
เซี่ยงอวี่ได้อำนาจจึงให้บำเหน็จรางวัลตามความดีความชอบแก่ผู้ร่วมมือ แต่งตั้งเล่าปังเป็นฮั่นอ๋อง
ไปครองดินแดนฮั่นจง
ในยุค 200 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช ห้วงแห่งการล่มสลายของราชวงศ์ฉินนั้นฮั่นจงถือว่าเป็นดินแดนเปลี่ยวร้าง ห่างไกล
ห่างไกลเสียนหยาง ห่างไกลกวนจง

Advertisement

การเดินทางจากกวนจง (ในด่าน) เข้าภูเขาฉินหลิ่งเข้าไปยังฮั่นจงนั้นจะต้องผ่านทางหน้าผาเสฉวนซึ่งมีชื่อว่ายากเข็ญยิ่งนัก
จะต้องเดินข้ามสะพานขอนไม้
เป็นสะพานขอนไม้อันเลียบอยู่ตามหน้าผาสูงชัน เต็มไปด้วยอันตรายตลอดรายทาง
เมื่อข้ามไปได้แล้วก็เผาสะพานทิ้ง
ที่ต้องทำเพราะต้องการแสดงให้เซี่ยงอวี่เห็นว่า จะไม่หวนกลับเข้ามากวนจงอีกเพื่อผ่อนคลายความระแวง
และความระมัดต่อเจตนาที่แท้
เซี่ยงอวี่ก็นอนใจยกพื้นที่กวนจงให้ขุนพลที่วางใจ 3 คนร่วมกันปกครองดูแล ตนเองนำทัพกลับไปยังเผิงเฉิง ฐานที่มั่นทางตะวันออก
1 ปีต่อจากนั้นสภาพการณ์เป็นอย่างไร

ฮั่นอ๋องตัดสินใจที่จะแย่งชิงอำนาจกับเซี่ยงอวี่หรือฌ้อปาอ๋อง จึงแต่งตั้งให้หานซิ่นเป็นแม่ทัพ
นำกำลังบุกตีกวนจง
ด้านหนึ่ง หานซิ่นแสร้งจัดส่งกำลังเข้าไปซ่อมแซมทางขอนไม้หน้าผาอย่างเร่งรีบ แสดงอาการบ่งชี้จะออกจากเสฉวนเข้าตีกวนจงทางนี้
เพื่อชักนำและสร้างความสนใจ
ด้านหนึ่ง ลอบนำกองทัพใหญ่ เดินทัพวกวนไปตามทางเล็กๆ เข้าโจมตีกวนจงในจุดที่ฌ้อปาอ๋องอ่อนแอ
มิได้สนใจคอยที่จะป้องกัน
นี่ก็คือกลยุทธ์ “ซ่อมทางหน้าผา เปิดเผย” ชณะเดียวกัน ก็ดำเนินกลยุทธ์ “ลอบตีเฉินซางลับๆ” โดยหานซิ่น
ดำเนินตามแนว “การศึกมิหน่ายเล่ห์” ครบถ้วน

หนังสือ “มหาพิชัยสงคราม” มิต้องรบก็สยบข้าศึกได้ คือสุดยอดของชัยชนะ จากการเรียบเรียงของ ประดิษฐ์ พีระมาน
ระบุในบทว่าด้วย “การสัประยุทธ์”
ซุนวูกล่าวว่า “การเคลื่อนทัพจะต้องรวดเร็วดุจลมพายุ หยุดทัพได้สงบนิ่งดุจใบไม้ในป่า
รุกโจมตีดุจเปลวไฟลุกลาม
ตั้งมั่นรับดังขุนเขา ซ่อนเร้นดุจเมฆปกคลุมฟ้า บุกโจมตีรุนแรงฉับพลัน ดุจสายฟ้าฟาด”
ทุกอย่างจึงดำเนินไปภายใต้ “กระบวนท่า”
รบได้ให้แสดงรบไม่ได้ จะรุกให้แสดงไม่รุก ใกล้ให้แสดงไกล ไกลให้แสดงใกล้ ให้ล่อด้วยประโยชน์
ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย

Advertisement

ไม่ว่าประเมินผ่านสำนวนแปล บุญศักด์ แสงระวี ไม่ว่าประเมินผ่านสำนวนแปล ประดิษฐ์ พีระมาน
ล้วนมีรากฐานมาจาก “ซุนวู”
แม้จางเหลียงจะได้รับการถ่ายทอดโดยตรงมาจากหวงสือกงอันสรุปความจัดเจนมาจากโจวกง
แต่ในที่สุดแล้วก็ล้วนสัมพันธ์กับอนุศาสน์แห่ง “ซุนวู”
“อันสงครามนั้น คือ การใช้เล่ห์เพทุบาย” (สำนวน บุญศักดิ์ แสงระวี) “การศึกสงครามคือวิถีแห่งกุศโลบาย” (สำนวน ประดิษฐ์ พีระมาน)
ดำรงความเหมือน ดำเนินไปในความต่าง
เมื่อถ่ายทอดมาจากหวงสือกง เมื่อเป็นผลึกแห่งซุนวูและโจวกง ไม่ว่าอยู่ในมือเล่าปัง ไม่ว่าอยู่ในมือจางเหลียง ไม่ว่าอยู่ในมือหานซิ่น
ล้วนดำเนินไปบนวิถีแห่งการยืดหยุ่น พลิกแพลง

ประดิษฐ์ พีระมาน อาจถอดออกมาได้ว่า การศึกสงคราม คือ วิถีแห่งกุศโลบาย มีพลานุภาพพึงแสดงว่าไร้พลานุภาพ
จะทำสงครามพึงแสดงว่า ไม่คิดทำสงคราม
โจมตีใกล้พึงแสดงว่าโจมตีไกล โจมตีไกลพึงแสดงวาโจมตีใกล้ ข้าศึกละโมบพึงใช้ผลประโยชน์หลอกล่อ
ข้าศึกระส่ำระสายพึงโจมตีพิชิต
ข้าศึกมีรี้พลมาก พึงเตรียมพร้อมเสมอ ข้าศึกเข้มแข็ง พึงหลีกเลี่ยง ข้าศึกฮึกเหิม พึงบั่นทอนขวัญกำลังใจ
ข้าศึกเยือกเย็น พึงยั่วให้ขาดสติ
ข้าศึกสบาย พึงรังควานให้อ่อนเปลี้ย ข้าศึกสามัคคี พึงยุให้แตกแยก จู่โจมเมื่อข้าศึกไม่คาดฝัน
รุกรบเมื่อข้าศึกไม่เตรียมพร้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image