เมืองศรีเทพ ถูกห้ามเล่นเพลงดนตรีจากข้าราชการไม่รู้จักเพลงดนตรี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองศรีเทพ ถูกห้ามเล่นเพลงดนตรีจากข้าราชการไม่รู้จักเพลงดนตรี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) เมืองโบราณต้นทางประวัติศาสตร์สยามและความเป็นไทย ซึ่งมีคุณค่ามหึมา และมีมูลค่ามหาศาล “ขาย” ได้เป็นนิรันดร์

แต่รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจ แล้วปล่อยทิ้งให้บริหารจัดการตามอำเภอใจ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ดูถอยห่างจากมาตรฐานสากลของความเป็นมรดกโลก

เพลงดนตรีมีอย่างรื่นเริงและรื่นรมย์ในกรมศิลปากร ส่วนผู้บริหารระดับสูงของกรมศิลปากรที่ผ่านมาก็ไม่ปฏิเสธการแสดงบรรเลงเพลงดนตรีท่ามกลางโบราณสถานในเมืองโบราณต่าง ๆ แต่ตรงข้ามที่กลับสนับสนุนแข็งแรงตลอดมา เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องสรรเสริญว่าดีวิเศษมากๆ

Advertisement

แล้วเหตุไฉนผู้ดูแลเมืองศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์ ) มีปัญหากับ “กันตรึม”ซึ่งเป็นเพลงดนตรีในพิธีกรรมสำคัญมาก ๆ ทั้งในประวัติศาสตร์ ไทยและกัมพูชา

“ไทยซิมโฟนี่ออเครสต้า” ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ให้ไปบรรเลงเพลงดนตรี ที่ลานหน้าปราสาทประธานเมืองศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) วันพฤหัส 20 มิถุนายน 2567 มีการเตรียมงานซักซ้อมล่วงหน้านานนับเดือน มีค่าใช้จ่ายก้อนโต แต่ต้องยกเลิกกะทันหัน

เหตุจากผู้ดูแลอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ขัดข้องต่อวงกันตรึมที่จะไปร่วมแสดงบรรเลง ด้วยเหตุผลว่า “กันตรึมไม่ใช่วัฒนธรรมในพื้นที่นี้ หมายถึงวัฒนธรรมทวารวดี” (มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน หน้า 11)

Advertisement

ศรีเทพ “คอนแชร์โต”

การแสดงบรรเลงเพลงดนตรีที่เตรียมไว้เพื่อเมืองศรีเทพโดยเฉพาะ สุกรี เจริญสุข บอกว่าชุดหนึ่งมีลักษณะของ “คอนแชร์โต” โดยเชิญวงกันตรึม (จาก จ.สุรินทร์) บรรเลงเพลงพิธีกรรม (วัฒนธรรมเขมร) แล้วห่อ (แบคอัพ) ด้วยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (วัฒนธรรมสากล) รวมผู้แสดงบรรเลงทั้งหมดราว 70 คน (ซิมโฟนี่ 50 คน, กันตรึม 20 คน)

“กันตรึม คอนแชร์โต” นี้เองที่ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมศรีเทพ

วัฒนธรรมศรีเทพ ของเมืองศรีเทพ มีพัฒนาการหลายพันปีมาแล้ว ผ่านกาลเวลา ดังนี้

(1.) สมัยเริ่มแรกชุมชนเกษตรกรรม 3,000 ปีมาแล้ว หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์(2.) สมัยเริ่มแรกการค้าระยะไกลทางทะเล 2,500 ปีมาแล้ว ราวหลัง พ.ศ. 1 หรือสมัยสุวรรณภูมิ (3.) สมัยการค้าโลก 1,500 ปีมาแล้ว ราวหลัง พ.ศ. 1,000 หรือสมัยทวารวดี (4.) สมัยการค้าจีน 1,000 ปีมาแล้ว ราวหลัง พ.ศ.1,500 หรือสมัยขอม (5.) สมัยอโยธยา 800 ปีมาแล้ว เรือนพ.ศ. 1,700 หรือสมัยไทย

ทวารวดี มีความเป็นมาดังนี้

(1.) ชื่อเมืองของพระกฤษณะ ในมหากาพย์มหาภารตะของอินเดีย (2.)อุษาคเนย์ยกย่องเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ ต่างเชิญเป็นชื่อเมืองในพิธีกรรมของตน พบทั้งในไทยและในกัมพูชา (3.) ในไทยเป็นชื่อเมืองในพิธีกรรม (คนทั่วไปไม่รู้จักและไม่เรียก) และเป็นชื่อวัฒนธรรม ที่สมมุติเรียกวัฒนธรรมทวารวดี แต่ในความจริงสมัยนั้นไม่มีเรียกวัฒนธรรมชื่อนี้ (4.) ทวารวดีถูกบังคับเป็นมอญโดยนักปราชญ์ฝรั่งเศส หลังจากนั้นนักโบราณคดีไทยยึดถือตายตัวสืบเนื่องทุกวันนี้ว่าทวารวดีเป็นมอญ แต่ในโลกจริงเป็นที่รับรู้ทั่วกันของวิชาการสากลทุกวันนี้ว่าชุมชนบ้านเมืองหลัง พ.ศ.1,000 แรกรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ จากอินเดีย ได้ผสมผสานความเชื่อเดิม (คือผี) เป็น “ผี-พราหมณ์-พุทธ” นับแต่บัดนั้น (จนบัดนี้) ประชาชนมีหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ไม่มีชาติพันธุ์เดียว (อย่างที่เคยถูกบังคับให้เชื่อจากเจ้าอาณานิคม)

ทวารวดีศรีเทพ (1.) เป็นทวารวดีตรงตาม “โถโลโปตี” ในจดหมายเหตุจีน ตามที่ อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ บอกนานแล้ว (2.) ประชากรไม่เป็นมอญพวกเดียว แต่มีหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่”นับไม่ถ้วน และ (3.) มีวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์เหมือนที่อื่นๆ ในสมัยเดียวกัน

ศรีเทพวัฒนธรรมเขมร

ศรีเทพมีวัฒนธรรมหลายสมัยทับซ้อนปะปนกันดังนี้

1.ปรางค์เมืองศรีเทพ มีทั้งปรางค์แบบเขมรเมืองพระนคร และแบบเขมรเมืองพิมาย

2.ศรีเทพมีวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ดังนั้น ในศรีเทพมีครบหมดคล้ายคลึงกันทั้งวัฒนธรรมเขมร,มอญ,มลายู,ลาว,อินเดีย,จีน,ตะวันออกกลาง ฯลฯ

3.เพลงดนตรี เนื่องในพิธีกรรมเป็นหลักเกี่ยวกับผี-พราหมณ์-พุทธ แม้ “เทวราช” ก็นำด้วยผี แล้วตามด้วยพราหมณ์-พุทธ พบหลักทั่วไปมากมายก่ายกองในภาพสลักทั้งในไทย (ลุ่มน้ำมูล) และในกัมพูชา (โตนเลสาบ)

ส่วนตุ้มโมง (เขมร) เป็นต้นตอวงปี่พาทย์ทั้งของเขมรและของอยุธยา ตราบจนปัจจุบัน

เพลงดนตรีแบบเขมร (โดยเฉพาะเพลงดนตรีจะเรียกันตรึม หรือเรียกอะไรก็ตาม) เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ และมีในวัฒนธรรมศรีเทพ ตั้งแต่ก่อนทวารวดี จนถึงทวารวดี สืบเนื่องถึงสมัยขอม, สมัยไทยอยุธยา

การปฏิเสธกันตรีมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร สะท้อนหลายอย่าง ดังนี้

1.การวางอำนาจเหนือราษฎรของข้าราชการ

2.ข้อมูลวิชาการโบราณคดีที่มาจาก “เบ้าหลอม” (เดียวกัน) ยังย้อนยุคไกลมากอยู่ในหลุมดำอำมหิตของแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ สมัยเผด็จการฟาสซิสม์ ที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

3.ถ้าไม่รีบจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งจะเท่ากับ “ราดน้ำมันใส่กองเพลิง” ที่ทัศนะคลั่งเชื้อชาติกำลังขัดแย้งรุนแรงกับเพื่อนบ้านในโลกโซเชียล

4.เรื่องแค่นี้ปล่อยให้มีปัญหาเป็นขวากหนามความก้าวหน้าของซอฟต์ เพาเวอร์และบั่นทอนพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลที่โหมทำงาน

5.แสดงว่ากระทรวงวัฒนธรรม “เอาไม่อยู่” เพราะผู้บริหารอ่อนแอแพ้พ่ายต่อ “ลูกไม้ข้าราชการ” ที่มีประสบการณ์เหนือดิน, ใต้ดิน, และใต้น้ำ ทำยึกยักเพื่อผลประโยชน์ตอบรับ

จะทำยังไงดีล่ะ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image