ทางสายกลาง 112

ทางสายกลาง 112

นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 35 คน เสนอโดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

สัดส่วนประกอบด้วยผู้แทนคณะรัฐมนตรี 8 คน ที่เหลือเป็นของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และประชาชาติ

กรรมาธิการประชุมแล้ว ประชุมอีก จนถึงวันนี้ยังไม่ได้บทสรุป

Advertisement

ขณะที่มีประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 1,938 คน เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 286 ราย

คดีทั้งหมด 1,264 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 469 คดี เหลือ 700 กว่าคดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ

คนเหล่านี้เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่อิสรภาพของพวกเขาจะกลับคืนมา

Advertisement

ยิ่งผลการศึกษายังไม่เกิดรูปธรรม เป็นร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้สำเร็จ เขาเหล่านั้นก็คงต้องเผชิญกับความทุกข์ โศก เศร้าหมอง เพราะถูกดำเนินคดี ถูกจองจำ ไร้อิสรภาพต่อไป

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนิรโทษกรรมเกิดขึ้นล่าช้า มาจากความเห็นต่างในเรื่องขอบเขตแห่งคดี ครอบคลุมคดีประเภทใด ผู้ต้องหากลุ่มไหน ในห้วงเวลาใด เข้าข่ายควรได้รับการนิรโทษบ้าง

ประเด็นถกเถียงมากที่สุดก็คือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริต

พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านบางพรรคไม่เห็นด้วย ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันสนับสนุน เพราะประกาศเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะแก้ไขมาตรา 112

ระหว่างกรรมาธิการวิสามัญยังทำคลอดร่างกฎหมาย ภาคประชาชนโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกับผุู้มีสิทธิเลือกตั้ง 36,722 คน ได้รวบรวมรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน มารอเข้าสุู่การพิจารณาแล้ว

รัฐสภาเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายภาคประชาชน สิ้นสุดวันที่ 12 มิถุนายนนี้

ขอบเขตกำหนดให้นิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ โดยมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน เป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษ

ยกเว้นความผิดที่คณะกรรมการไม่ต้องพิจารณา 5 คดี

คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.

คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557

คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมภาคประชาชน ยืนยัน รวมถึงฐานความผิดมาตรา 112 ด้วย

ระหว่างที่การถกเถียงเพื่อหาบทสรุปมาตรา 112 ยังดำเนินต่อไป พรรคไทยสร้างไทยซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย เสนอทางออกใหม่ เป็นทางสายกลางให้ทุกฝ่ายนำไปพิจารณา

คุณชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย อดีต ส.ส.นครพนม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หลายสมัย ผมชอบเรียก “ท่านนายอำเภอ” จนติดปาก

มีบทบาทผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาตลอด ตั้งแต่กว่าสิบปีที่แล้ว

เคยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ครบเครื่อง รอบด้าน เสียดายกฎหมายออกไม่สำเร็จ เพราะเกิดเหตุรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เสียก่อน

มาเที่ยวนี้ย้ายออกจากเพื่อไทยมาสังกัดพรรคไทยสร้างไทย คงเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ

เล่าให้ฟังว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธานเห็นชอบในหลักการ นำหลักคุณธรรม อภัย มาใช้ในการยุติปัญหาความขัดแย้งเพื่อสร้างความสมานฉันท์

นิรโทษกรรมคดีการเมืองและคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองยกเว้นคดีทุจริต เว้นแต่กระบวนการพิจารณาคดีทุจริตไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ส่วนคดีความผิดมาตรา 112 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในหมวดพระมหากษัตริย์ ควรแก้ไขกฎหมายให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะ “พระราชทานอภัย” สำหรับกรณีความผิดตามมาตรา 112 ได้

ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดสามารถทำหนังสือขอพระราชทานอภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำซ้ำอีก ในระหว่างดำเนินคดีก่อนที่ศาลจะมีพิพากษาถึงที่สุด
แนวทางนี้เรียกว่าการขอพระราชทานอภัยซึ่งต่างจากขอพระราชทานอภัยโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว

ส่วนคดีมาตรา 112 ให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองในการดำเนินคดีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาเพื่อเป็นหลักประกันป้องกันการ กลั่นแกล้งในการดำเนินคดี
ตรงนี้ยังไม่ชัด กลั่นกรองคดีเก่าที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือคดีใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีกฎหมายนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอใหม่ทั้งหมดนี้น่าสนใจ ผมเลยนำมาเล่าต่อเพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญฯและประชาชนที่ติดตามการนิรโทษกรรม ได้ร่วมนำไปคิดพิจารณา หาทางให้เป็นจริงต่อไป

ไม่เช่นนั้น ความหวังดี ความคิดดีๆ จะสูญเปล่า เพราะการเมืองไทยและสังคมไทยไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาความแตกแยกขัดแย้ง

ความปรองดองสมานฉันท์ที่ว่าๆ กันมา ก็แค่วาทกรรม เพื่อหาเสียง สวยหรู ดูดีเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image