พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : รุกรบ จู่โจม เหนือ การคาดคิด ลวง ใน จริง

พยัคฆ์ซ่อน มังกรซุ่ม : รุกรบ จู่โจม เหนือ การคาดคิด ลวง ใน จริง

การมองผ่าน “36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะ ภาคปฏิบัติ” ของหานซิ่น อาจมองเห็นยุทธการลอบตีเฉินซางของหานซิ่น
ดำเนินไปตามยุทธวิธี “รบอย่างวกวน”
และเมื่อลงลึกเข้าไปในรายละเอียดก็จะสัมผัสกับละครโบราณเรื่อง “แม่ทัพหานซิ่นลอบตีเฉินซาง”
อันวาดพรรณนาผ่าน “เนื้อร้อง” ที่ว่า
“ให้ขุนพลฝานไคว่ซ่อมทางขอนไม้หน้าผาอย่างเปิดเผย เราจะข้ามไปยังเฉินซางทางโบราณลับๆ
ทหารฌ้อไม่รู้ว่าเป็นอุบาย
คงจะนำทหารไปตั้งคอยรับมืออยู่ที่ทางขอนไม้หน้าผา เราจะวกไปทางเฉินซางตีให้พ่ายไปโดยไม่ทันให้ระวังตัว”
ทุกอย่างเป็นไปตามสำนวนแปล บุญศักดิ์ แสงระวี

แต่เมื่อมีหนังสือ “พิชัยยุทธ์ซุนวู ฉบับหัวซาน” สำนวนแปลและเรียบเรียงโดย ชาญ ธนประกอบ อยู่ในมือ
พลิกไปยังหน้า 69
ก็จะเข้าใจลึกยิ่งขึ้นในรากฐานแห่งกลยุทธ์อันมาจากอนุสาสน์แห่งซุนวู “ใกล้ให้แสดงไกล ไกลให้แสดงใกล้”
ในการตีความของ “หัวซาน” อธิบายออกมาได้ว่า
ที่เรียกว่า “กลยุทธ์หลอกล่อ” หัวใจสำคัญ คือ “การลวงให้ไม่ทันระวัง” ทำให้อีกฝ่ายไม่ทันระวัง
พร้อมทั้งยืนยันด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูง
“เพราะถ้าอีกฝ่ายระวังตัวเราก็จะไม่มีโอกาสชนะ ถ้าเขาไม่ทันระวังแล้วเราทุ่มกำลังโถมเข้าใส่เขาก็เจ๊งแล้ว”
กรณีตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคงเป็นกรณีหานซิ่นลอยโอ่งไม้ข้ามแม่น้ำ

แคว้นฌ้อกับแคว้นฮั่นรบกัน สถานการณ์ของเล่าปังไม่สู้ดี เว่ยอ๋องเป้าคิดจะเปลี่ยนข้างจึงอ้างว่ามารดาไม่สบาย
ขอลาเล่าปังเพื่อกลับบ้านไปเยี่ยมแม่
จากนั้นก็ไปเข้ากับเซี่ยงอวี่ หรือฌ้อปาอ๋อง เล่าปังส่งแม่ทัพหานซิ่นไปตามล่า และแล้ว 2 ทัพก็เผชิญหน้ากัน
โดยมีแม่น้ำขวางกั้น
หานซิ่นทุ่มสุดตัวหาเรือได้เพียงร้อยกว่าลำ เรียงหน้ากระดานที่ริมฝั่ง ทำทีจะข้ามแม่น้ำทุกวัน
เว่ยอ๋องเป้าก็เตรียมรับศึกตลอดเวลา
มองลักษณะที่ประจันหน้าเด่นชัดอย่างยิ่งว่าหานซิ่นหมายมั่นปั้นมือว่าจะจัดการเว่ยอ๋องเป้าตามบัญชาฮั่นอ๋อง
ทั้งที่ในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น

Advertisement

“หัวซาน” ระบุว่า ในสถานการณ์ที่เว่ยอ๋องเป้าเตรียมรับศึกตลอดเวลานั้น หานซิ่นลอบสั่งคนใช้ขอนไม้ทำโอ่งน้ำเตรียมไว้
และนำทัพใหญ่ไปที่เฉินซาง
ใช้โอ่งไม้ผูกกันเป็นแพข้ามลำน้ำที่เฉินซางลอบจู่โจมที่อำเภออาน ตีปีกขวาของเว่ยอ๋องเป้า
ในที่สุดก็จับตัวเว่ยอ๋องเป้าได้
พอเว่ยอ๋องเป้าได้ข่าวว่าหานซิ่นยกพลขึ้นบกที่เฉินซางก็ตกใจถามขึ้นว่า “เฉินซางไม่มีเรือนี่นามันหาเรือมาจากไหน”
นี่เป็นเพราะเขามองข้ามและไม่เคยนึกถึง
นั่นก็คือ มิได้นึกถึง “สิ่งตอบแทน” เพื่อแก้ปัญหา ในความเป็นจริง มิได้มีเรือมิได้เท่ากับไม่มีเครื่องมือในการข้ามแม่น้ำ
จากกรณี “ลอบตีเฉินซาง” ของหานซิ่น “หัวซาน” ก็ไอเดียกระฉูด

ปลายยุคชุนชิว หรือวสันตสารท แคว้นอู๋กับแคว้นเยว่รบกัน อู๋กับเยว่มีแม่น้ำคั่นกลาง แคว้นเยว่ส่งทหารไปห่างจากต้นน้ำและปลายน้ำ 5 ลี้
ลั่นกลองเข้าบุกยามราตรี
แคว้นอู่จำต้องแยกกำลังพลเป็น 2 จุด ในความเป็นจริงนี่เป็นละครกลางคืนของแคว้นเยว่
เพราะที่ส่งไปใช้กำลังพลน้อยนิด แต่นำกลองไปมากมาย
เป็นการปล่อยม่านควัน จนกระทั่งแคว้นอู่แยกทัพออกไป เมื่อถึงจังหวะอันเหมาะสมกำลังหลักของทัพเยว่ก็ข้ามลำน้ำซึ่งหน้าเลย
ตีใส่ทัพกลางของอู๋และได้รับชัยชนะ
นี่เป็นการแสร้งข่มขวัญ เป็นแผนส่งเสียงตะวันออกแต่ตีตะวันตก ทั้งสองฝ่ายต่างรู้ดี แต่การแสร้งข่มขวัญใช่ว่าจะเสแสร้งเสมอไป
ส่งเสียงตะวันออกก็ใช่ว่าต้องตีตะวันตกเสมอไป อาจตีตะวันตกจริงก็เป็นได้

เช่นเดียวกับการยิงจุดโทษของฟุตบอล ผู้รักษาประตูรู้ทั้งรู้ว่าแกต้องใช้ลูกเล่นหลอกฉันแน่
และลูกสับขาหลอกนั่นอาจกลายเป็นจริงก็ได้
ที่สับขาหลอกคือ เดี๋ยวหลอก เดี๋ยวจริง หลอกเช่นนี้แล้วใครล่ะที่ชนะ สำหรับคนยิงประตูแล้วต้องยิงได้แม่น
คมและแรง
ถ้าเตะพลาดเอง อีกฝ่ายจะพลาดอย่างไรก็ยิงไม่เข้า ส่วนผู้รักษาประตูหรือโกลนั้นปฏิกิริยาต้องฉับไว แล้วต้องมีโชคด้วย
ขณะเดียวกัน ไกลก็แกล้งทำท่าหลอกคนยิงได้เช่นกัน
แล้วปกติ กองหน้ากับโกลฝึกซ้อมกันอย่างไร ฝึกสับขาหลอกหรือ ย่อมไม่ใช่ 1 ฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย 2 ฝึกเทคนิค 3 ฝึกทีมเวิร์ก
เหล่านี้จึงจะเป็นแก่นแท้ของการต่อสู้

Advertisement

จากนั้นก็เป็นบทสรุปของ “หัวซาน” ตามสำนวนแปล ชาญ ธนประกอบ ระบุถึงความสามารถในการทำสงคราม
สะท้อนแบบฉบับของ “หานซิ่น”
ที่บันทึกในพงศาวดาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าการทำสงครามต้องทำกันเช่นนี้
โดยพื้นฐาน แม่ทัพเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรี ต้องใช้ฝีมือการบริหาร
ด้วยเหตุนี้เอง หานซิ่นจึงเคยบอกเล่าปังว่า ตัวเล่าปังเองมีความสามารถในการนำทัพ 10 หมื่น
ถ้ามากกว่านี้จะเล่นไม่เป็น
ส่วนหานซิ่นเองนำทัพยิ่งมากยิ่งดี ให้กำลังพลเขา 100 หมื่น เขายังคงบัญชาการได้อย่างสบายเหมือนบังคับแขนของตนเอง
นี่ต่างหากที่เป็นความสามารถแท้จริงของหานซิ่น

ทั้งหมดล้วนมีรากฐานทางความคิดมาจากบทว่าด้วย “ประเมินศึก” บนพื้นฐานแห่งแนวทาง
ด้านหนึ่ง อันสงครามนั้น เป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ
เป็นแหล่งแห่งความเป็นความตาย เป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ ดับสูญ จักไม่พินิจพิเคราะห์มิได้
ด้านหนึ่ง อันสงครามนั้น คือ การใช่เล่ห์เพทุบาย
รบได้ให้แสดงรบไม่ได้ จะรุกให้แสดงไม่รุก ใกล้ให้แสดงไกล ไกลให้แสดงใกล้ ให้ล่อด้วยประโยชน์
ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย
ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม ข้าศึกสบายให้เหนื่อยล้า ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย
ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวัง ให้รุกรบเมื่อไม่คาดคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image