ที่มาและพัฒนาการของการปฏิวัติแห่งชาติกะเหรี่ยง (ตอนจบ) โดย ลลิตา หาญวงษ์

รัฐหรือพื้นที่ของคนกะเหรี่ยง (แต่ก่อนเรียก Karen ปัจจุบันภาษาทางการพม่าเรียก Kayin) มีขนาดกว้างใหญ่ แม้จะไม่ใหญ่เท่ารัฐฉาน แต่ด้วยเป็นพื้นที่ราบเสียส่วนใหญ่ และคาดว่ามีประชาชนชาวกะเหรี่ยงทุกกลุ่มอาศัยในพม่ามากถึง 3-7 ล้านคน กระจัดกระจายในที่ราบลุ่มของพม่าตอนล่าง ในบรรดาคนที่พูดภาษากะเหรี่ยงเองก็แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม มีภาษา วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ การเรียกร้องเอกราชให้เกิดรัฐอิสระของชาวกะเหรี่ยงเองจึงเป็นขบวนการที่มีพลวัต และทำให้ขบวนการเอกราชกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐบาล กับกองทัพพม่ามายาวนานกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ที่ผ่านมาเกือบ 80 ปี กองทัพพม่าพยายามปราบปรามกองกำลังกะเหรี่ยงในปฏิบัติการทางทหารสำคัญๆ หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ วิธีการที่กองทัพพม่าพยายามใช้คือการใช้ความแตกต่างและขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงคริสต์และกะเหรี่ยงพุทธให้เป็นประโยชน์ แต่เดิมขบวนการเอกราชกะเหรี่ยงในนามสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU นั้น มีศูนย์บัญชาการใหญ่ที่มาเนอปลอ (Manerplaw) ริมฝั่งแม่น้ำเมย ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สามแลบ จังหวัดตาก ตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 โดยนายทหารกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง

เมื่อเวลาผ่านไปมาเนอปลอกลายเป็นศูนย์บัญชาการที่เข้มแข็ง ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำกะเหรี่ยงที่ต้องการรวมกะเหรี่ยงทั้งผอง ร่วมมือกันเพื่อต่อต้านกองทัพพม่า และตั้งรัฐกะเหรี่ยงในนาม “กอทูเล” ให้จงได้ ตลอดทศวรรษ 1970 ผู้นำกะเหรี่ยงหลายฝ่ายกลับเข้ามาร่วมมือกันอีกครั้ง หลังจากแตกฉานซ่านเซ็นอยู่นาน และกลับมาทำงานในนาม KNU จน KNU เติบโตขึ้นตามลำดับ โดยมีผู้นำกะเหรี่ยงคนสำคัญ มาน โรเบิร์ต บาซาน (Mahn Robert Ba Zan) เป็นผู้นำ

การร่วมกะเหรี่ยงหลายฝ่ายให้เป็นปึกแผ่นไม่เป็นผลดีกับกองทัพพม่า แม้กองทัพพม่าจะมียุทธการสี่ตัด (Four Cuts) เพื่อตัดกำลังและเสบียงไม่ให้เข้าไปถึงพื้นที่ของกะเหรี่ยงได้ แต่ก็ไม่สามารถเผด็จศึก KNU ได้ ยุทธการของพม่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพที่หนีภัยสงครามเข้ามาในเขตของไทย ซึ่งเริ่มอพยพเข้ามาในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนก่อน

Advertisement

ความเข้มแข็งของ KNU ในยุคของมานบาซาน ยังสะท้อนออกมาจากความพยายามของเขาที่ต้องการให้ KNU ทำงานร่วมมือกับกลุ่มการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ นำไปสู่การตั้งแนวหน้าเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NDF ขึ้นมา และมีสมาชิกจากกลุ่มชาติพันธุ์ 9 กลุ่มมาเข้าร่วม

ในยุคมานบาซาน ความเคลื่อนไหวของกะเหรี่ยงที่มาเนอปลอและพื้นที่ใกล้เคียงมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางการทหาร และการหาแนวร่วมจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่เมื่อมานบาซานลงจากตำแหน่ง และนายพลโบเมี๊ยะขึ้นมาเป็นประธาน KNU ต่อ ภารกิจของ KNU เริ่มเปลี่ยนไป และกลายเป็นประหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งตามแนวชายแดนไทย-พม่าไปในตัว สำหรับโบเมี๊ยะ เขามองว่า KNU จำเป็นต้องหาเลี้ยงตัวเอง เพื่อนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนกองทัพ เพื่อชนะศึกกับพม่าอย่างเด็ดขาด และการตั้งมหารัฐกอทูเล การค้าชายแดนในยุคของโบเมี๊ยะจึงคึกคักเป็นพิเศษ กองกำลังกะเหรี่ยงกลายเป็นผู้คุมตลาดมืดที่สำคัญ ในบรรยากาศการเมืองในพม่า ที่รัฐบาลของเนวินปิดประเทศและจำกัดการนำเข้าสินค้าจากภายนอก กองกำลังของ KNU ควบคุมด่านการค้าชายแดนมากถึง 11 แห่ง สร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้นำกะเหรี่ยง รวมทั้งคู่ค้าของกะเหรี่ยงทั้งพ่อค้าและคนในเครื่องแบบจากฝั่งไทยด้วย

ผลประโยชน์ที่มากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลของกะเหรี่ยงที่มีมากขึ้น ทำให้ผู้นำกะเหรี่ยงเริ่มแตกกัน ในความเป็นจริง กะเหรี่ยงไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เงินและอำนาจทางเศรษฐกิจทำให้กะเหรี่ยงพุทธกับกะเหรี่ยงคริสต์แตกคอกันรุนแรงขึ้น แต่ในที่สุดจะนำไปสู่การล่มสลายของศูนย์บัญชาการใหญ่ที่มาเนอปลอในทศวรรษ 1990

Advertisement

กองทัพพม่าใช้โอกาสไม่เปลือง และพยายามเข้าไปยุให้กะเหรี่ยงพุทธเกลียดชังกะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งมีผลกระทบมากกับความสามัคคีของกองกำลังกะเหรี่ยง อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของกองกำลังในนามกองทัพกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ที่ประกาศเป็นคู่แข่งกับกองทัพของ KNU เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปลดแอกของกะเหรี่ยง ที่มีการแบ่งแยกกะเหรี่ยงพุทธและกะเหรี่ยงคริสต์ ความขัดแย้งระหว่างศาสนายังคงมีอยู่มาจวบจนปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันกันระหว่าง KNLA ซึ่งเป็นปีกกองทัพของ KNU กับ DKBA และ BGF สาเหตุของความแตกแยกระหว่างสองกลุ่มมาจากเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก คือการสร้างเจดีย์ของกะเหรี่ยงพุทธที่มาเนอปลอ เมื่อมีการโต้เถียงกันระหว่างกะเหรี่ยงพุทธและคริสต์เรื่องการสร้างเจดีย์ของกะเหรี่ยงพุทธ ผู้นำกะเหรี่ยงที่เป็นคริสต์ใน KNU (คนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ผู้นำ KNU ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์) ก็เริ่มไม่พอใจ และทำให้อดีตผู้นำ KNU ที่เป็นพุทธแยกออกมาตั้ง DKBA

เมื่อกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มใหญ่แตกคอกัน กองทัพพม่าก็เข้าไปสนับสนุน DKBA แบบเต็มรูปแบบ และเห็นสบโอกาสที่จะทำลายฐานที่มั่นในมาเนอปลอด้วย ในต้นปี 1995 ทหารพม่าสนธิกำลังกับกะเหรี่ยง DKBA โจมตีมาเนอปลอหลายวันหลายคืน กะเหรี่ยงพุทธเป็นผู้ให้ข้อมูลกองทัพพม่าเพื่อให้โจมตีกองกำลังของ KNU ได้ง่ายขึ้น จนในที่สุดก็สามารถยึดพื้นที่ทั้งในมาเนอปลอและรอบๆ ได้ทั้งหมด

ผลกระทบที่เด่นชัดที่สุดจากเหตุการณ์การบุกมาเนอปลอคือ KNU สูญเสียฐานที่มั่น และความเชื่อมั่น อีกทั้งธุรกิจที่ผู้นำ KNU มี โดยเฉพาะธุรกิจการขายไม้ และการควบคุมตลาดมืด ยังทำให้ KNU มีอิทธิพลน้อยลง ไม่สามารถหาเงินมาหาเลี้ยง
กำลังพล และจัดหาอาวุธที่ทันสมัยให้กับกำลังพลเหมือนแต่ก่อน

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าปัญหาในรัฐกะเหรี่ยง ไม่ได้เป็นปัญหาการสู้รบระหว่างกะเหรี่ยงกับทหารพม่าเท่านั้น แต่ปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน อย่างน้อยก็ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คือความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงพุทธกับกะเหรี่ยงคริสต์ บ่อยครั้งที่ผู้นำทั้งสองกลุ่มพยายามเจรจา และเน้นย้ำว่ากะเหรี่ยงต้องรวมมือกันเพื่อเป้าหมายเดียว เพื่อร่วมมือกันโค่นล้มการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าให้ได้ แต่สำหรับกะเหรี่ยงคริสต์ สิ่งที่อยู่ในหัวของพวกเขาคือถ้าเขาเลือกเข้ากับ KNU เขาก็จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกะเหรี่ยงที่เป็นคริสต์ แต่ถ้าเขาเลือกอยู่กับกองทัพพม่า เขาก็จะต้องน้อมรับคำสั่งของคนพม่าไม่ใช่คนกะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเลือกทางใด
พวกเขาก็ถูกปฏิบัติเหมือนประชากรชั้นสองอยู่ดี

นับตั้งแต่เหตุการณ์การสู้รบในเมียวดี ที่เราเห็นกองกำลังของ KNU ที่ผนึกกำลังกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านในนาม PDF เข้าโจมตีฐานที่มั่นหลายแห่งของกองทัพพม่าจนสำเร็จ และเหตุการณ์ “ช็อตฟีล” ที่กะเหรี่ยง BGF กลับไปช่วยกองทัพพม่าโจมตีกองกำลังของ KNU ที่เป็นกะเหรี่ยงด้วยกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนไว้ เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนคาดการณ์ไว้ เพราะตลอดประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของกะเหรี่ยงในช่วงหลังปี 1988 ศัตรูที่เป็นตัวบ่อนเซาะทำลายความสมัครสมานสามัคคีของกะเหรี่ยง และเป็นอุปสรรคไม่ให้ “มหารัฐกอทูเล” เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่กองทัพของพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นความแตกต่างในเชิงอุดมการณ์ ศาสนา และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลในรัฐกะเหรี่ยงอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image