ภาพเก่าเล่าตำนาน : ที่มา-ที่ไปของชื่อ…มักกะสัน

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ที่มา-ที่ไปของชื่อ…มักกะสัน

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ผู้เขียนเดินทางไปราชการประเทศอินโดนีเซียถึง 2 รอบ ร่วมกับคณะของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม …เลยนึกถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันระหว่าง 2 ดินแดน..ไทย-อินโดนีเซีย

กว่า 300 ปีที่ผ่านมา มีมุสลิมกลุ่มหนึ่งจากอินโดนีเซีย ลงเรืออพยพหนีสงครามมาถึงอยุธยา โยงไปถึง ชื่อ มักกะสัน….

มากัซซาร์ (Makassar) เป็นเมืองหลักของจังหวัดซูลาเวซีใต้ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะซูลาเวซี

Advertisement

ชาวเมือง “มากัซซาร์” นับถือศาสนาอิสลาม ถูกกองเรือของฮอลันดาโจมตีระหว่างปี พ.ศ.2159-2210 ลงเรือหนีตาย กระจัดกระจายไปหลบอยู่ตามเกาะต่างๆ ในอินโดนีเซียและแหลมมลายู รวมทั้งแล่นเรือเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา

ในเรือผู้อพยพมี “เจ้าชายองค์หนึ่ง” พาผู้ติดตามหนีร้อนมาพึ่งเย็นในราชสำนักอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเมตตา พระราชทานที่ดินและบ้านให้อยู่ที่บริเวณปากคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาที่แห่งนั้นเรียกว่า “ทุ่งมักกะสัน”

ในเวลานั้น ราชสำนักแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯมีขุนนางต่างชาติถวายงานอยู่ 2 กลุ่มหลัก คือ ขุนนางฝรั่ง กับ ขุนนางแขก ที่ต่างก็คุมเชิง ชิงดีชิงเด่นกัน

Advertisement

กลุ่มขุนนางฝรั่ง มีทั้ง คอนสแตนติน ฟอลคอน (ชาวกรีก) มีกลุ่มของฝรั่งเศส ที่มีอิทธิพลมากกว่า กลุ่มแขกที่นับถือศาสนาอิสลาม

ขุนนางแขกคับแค้นใจที่ขุนนางฝรั่งที่มีอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก

พ.ศ.2229 กลุ่มแขกจาก “มากัซซาร์” ถูกลดอำนาจโดยเจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงวางแผนจะยกพวกจู่โจมเข้าจับสมเด็จพระนารายณ์ฯ สำเร็จโทษ แล้วยกเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชา ขึ้นครองราชย์ โดยบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นับถือศาสนาอิสลาม

แผนการชิงอำนาจ “รั่ว” ขุนนางแขกคนหนึ่ง นำความไปแจ้งกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีก ที่ใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์ฯ

วิชเยนทร์ จัดกำลังทหารราว 7,000 คน ไปปราบกบฏ มีทั้งชาวฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส ฮอลันดา ประกาศจะจับหัวหน้ากบฏให้ได้ พวกแขกมักกะสันก็ประกาศสวนออกมาว่า ถ้าใครเข้ามาจับก็จะฆ่าทุกคน ขุดสนามเพลาะรอบหมู่บ้านพระราชทาน

เมื่อกำลังฝ่ายปราบยกไปถึง พวกแขกมากัซซาร์แสดงลวงว่าแตกพ่ายหนี นายทัพฝรั่งก็นำทหารไล่ติดตาม ลวงทหารให้แตกเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้ว มักกะสันก็หันมาสู้ นายทัพฝรั่งตายไป 17 คน ทหารไทยก็ตายไปมาก วิชเยนทร์เองก็เกือบไม่รอด ต้องโดดน้ำหนีจนเกือบจมน้ำตาย ผู้ติดตามช่วยให้เกาะเรือแล้วพายเรือหนี ขณะที่แขกมากัซซาร์ว่ายน้ำไล่ติดตาม…. วิชเยนทร์รอดตาย

แขกกลุ่มนี้ ถูกปราบปรามจนต้องลงเรือหนีล่องตามแม่น้ำผ่านไปทางบางกอก เมื่อถูกสกัดกั้นจากกองทหารยุโรปที่รักษาเมือง พวกทหารพื้นเมืองกับพวกแขกมักกะสันเลยผสมโรงกันก่อความวุ่นวายทั่วเมืองธนบุรี ทั้งๆ ที่มีอาวุธประจำตัวเพียงอย่างเดียวคือกริช แต่กองทหารยุโรปมีปืนทันสมัยกว่า จึงปราบลงได้ ที่เหลือแยกย้ายกันไป (มีบันทึกไว้หนังสือจดหมายเหตุของบาดหลวงฟอร์บังของฝรั่งเศส)

ปิดฉาก “กบฏมักกะสัน”

กรุงเทพฯ ในตอนต้นรัตนโกสินทร์ เวิ้งว้าง ผู้คนเบาบาง บริเวณที่เรียกกันว่า มักกะสันปัจจุบัน มีวัดชื่อ “วัดบางกะสัน” เป็นวัดประจำชุมชนที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2376 ตั้งอยู่บริเวณคลองบางกะสัน

พ.ศ.2448 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มุสลิมจากมากัซซาร์ อีก 1 กลุ่ม ก็อพยพเข้ามาในสยาม และได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ พื้นที่หมู่บ้านของมุสลิมกลุ่มนี้มีหนองบึงที่มียุงชุกชุม เป็นบ่อเกิดของไข้เลือดออก และเป็นแหล่งรองรับน้ำท่วมที่ตั้งอยู่ระหว่างคลองสามเสนและคลองแสนแสบ ปัจจุบันเรียกกันว่า “บึงมักกะสัน”

ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ ในหลวง ร.5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรก 9 มี.ค.2413-15 เม.ย.2413 ในหลวง ร.5 ครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์เสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรก มีพระชนมายุ 17 พรรษา โดยเรือพระที่นั่ง “พิทธยัมรณยุทธ” เสด็จฯเยือน สิงคโปร์และปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา)

เสด็จทอดพระเนตรคุกและทรงเที่ยวชมรอบๆ เมืองปัตตาเวีย โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล การไปรษณีย์ ศาล และสถานที่สำคัญๆ ทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศาสนา พระองค์ใช้เวลาในปัตตาเวีย 5 วัน ก่อนจะออกเดินทางโดยเรือพระที่นั่งไปยังเมืองเซอมารัง (Semarang) ชวากลาง

หลังจากเสด็จกลับมา ทรงส่งรูปปั้น “ช้างสำริด” มอบให้เป็นของขวัญแก่ปัตตาเวีย

ในปัจจุบัน ช้างสำริด ตั้งอยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงจาการ์ตา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีชื่อเล่นว่า “พิพิธภัณฑ์ช้าง”

เมื่อเสด็จกลับมา โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่ โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ถูกชาวดัตช์ (ฮอลันดา) เข้าปกครองนานราว 100 ปี (ค.ศ.1800-1900) มีความเจริญแบบตะวันตก อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศที่มีคุณภาพ ชาวดัตช์ต้องการผูกขาดการค้าเครื่องเทศและกาแฟ จากการแข่งขันทางการค้าในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่เมืองบันทัม

พ.ศ.2439 เสด็จชวาครั้งที่ 2 เพื่อไปพักผ่อนตามคำแนะนำของคณะแพทย์เพื่อฟื้นฟูพระวรกายหลังหายจากอาการประชวร พระองค์ได้เสด็จเมืองโบกอร์ หรือบุยเต็นซอก (Buitenzorg) ทรงชื่นชอบสวนพฤกษชาติที่เมืองนี้มาก หลังเสด็จกลับจากชวา พระองค์ทรงโปรดให้สร้าง “พระราชอุทยานสวนดุสิต” จัดสร้างสวน ปลูกต้นไม้ ตามแบบอย่างสวนบุยเต็นซอก ซึ่งมีความหมายว่า “ไร้กังวล”

พ.ศ.2444 เสด็จชวาอีกเป็นครั้งที่ 3 ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า“เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถเหมือนครั้งที่สอง ด้วยเหตุว่าที่ในเกาะชวายังมีของที่น่าดู”

เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติก ทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ทำให้ทรงมีผ้าบาติกกว่า 300 ผืน

ความผูกพัน-เชื่อมโยง ทำให้เกิดวรรณกรรมเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งมาจากเรื่อง (Panji) ของชวา คนไทยเลยเรียกประเทศและชาวอินโดนีเซียในสื่อต่างๆ ของไทยว่า อิเหนา

7 มีนาคม 2493 ไทยและอินโดนีเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 เดือนเศษหลังจากที่อินโดนีเซียได้รับการรับรองเอกราชอย่างเป็นทางการจากประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้เป็นเจ้าอาณานิคม

ขอย้อนไป พ.ศ.2444 เมื่อคราวในหลวง ร.5 เสด็จประพาสเกาะชวา (อินโดนีเซีย) เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ฮอลันดาปกครองชวาเป็นอาณานิคมยาวนาน ชวาเจริญก้าวหน้าเหมือนเมืองใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะเรื่อง “ผังเมือง” บริเวณหน้าพระราชวังสุลต่านเจ้าผู้ครองเมือง มีสนามหญ้าเป็นลานขนาดใหญ่คล้าย “สนามหลวง” ในกรุงเทพฯ

ในหลวง ร.5 โปรดบรรยากาศสนามหญ้าที่มีต้นไม้รายรอบ ดูสวยงามเรียบร้อย เลยนำแบบอย่างมาปรับปรุงสนามหลวง พระองค์ทรงให้ชาวชวาที่ชำนาญการตกแต่งและปลูกต้นไม้จากชวาเดินทางมาจัดและตกแต่งต้นไม้ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ

โปรดฯให้ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง เนื่องจากเป็นไม้ใหญ่ คงทนถาวรและมีชื่อ “มะขาม” เพราะเป็นชื่อที่เป็นสิริมงคล ทรงให้ปลูกไว้รอบสนามหลวงจำนวน 365 ต้น และต่อมาปลูกเพิ่มเติมอีกในหลายโอกาสเป็น 708 ต้น

ในกรุงเทพฯ ยังมีชุมชน “คนไทยเชื้อสายชวา” ย่านเขตสาทร และมีมัสยิดยะวา (ชวา) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายชวาที่มาตั้งรกรากในบริเวณดังกล่าวด้วย ในปัจจุบันคนไทยเชื้อสายชวาดังกล่าวสามารถพูดภาษาชวาและอินโดนีเซียได้อย่างน้อยนิด แต่ยังคงมีสำนึกถึงรากเหง้าดั้งเดิมของตนเอง

“มักกะสัน” เพี้ยนมาจากชื่อหมู่เกาะมากัซซาร์ ของอินโดนีเซีย แต่คนที่ถูกเรียกว่า แขกมักกะสัน มีทั้งมาจากเกาะมากัซซาร์และเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส)

ปัจจุบัน แขวงมักกะสัน กลายเป็นพื้นที่อยู่ในเขตราชเทวี กลางกรุงเทพฯ เจริญรุ่งเรืองที่ดินราคาแพงลิบลิ่ว….

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image