คะเรนนี-คะยาห์ ผู้คนและการต่อสู้ โดย ลลิตา หาญวงษ์

รัฐคะเรนนี หรือรัฐคะยาห์ (Karenni/Kayah) เป็นรัฐหนึ่งของพม่า ตั้งอยู่ระหว่างรัฐฉานใต้และรัฐกะเหรี่ยง และอยู่ทางตะวันออกสุดของพม่า ติดชายแดนไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเทือกเขาสลับซับซ้อนกั้นระหว่างสองประเทศ ด้วยเป็นรัฐที่มีขนาดเล็ก ห่างไกลจากทะเล และยังไม่มีเส้นทางการค้าที่เชื่อมรัฐคะเรนนีกับไทยอย่างจริงจัง มีเพียงจุดผ่อนปรนการค้าไม่กี่แห่ง ทำให้เศรษฐกิจในรัฐเล็กๆ แห่งนี้มีข้อจำกัด และเป็นรัฐที่ถูกจัดอันดับว่ายากจนที่สุดในบรรดารัฐทั้ง 14 รัฐที่พม่า

ชาวคะเรนนี หรือ “กะเหรี่ยงแดง” (Red Karen) เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มในพื้นที่ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือชาวคะยาห์ (Kayah) แต่ละกลุ่มมีภาษาเป็นของตนเอง แต่มีความคล้ายคลึงกัน และอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับภาษากะเหรี่ยง-คะยาห์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบัน ระบบราชการพม่าเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่ารัฐคะยาห์ แต่ก็มีข้อเรียกร้องจากคนในพื้นที่ให้เปลี่ยนชื่อรัฐเป็นรัฐคะเรนนีอย่างเป็นทางการ เนื่องจากคะยาห์เป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ไม่ได้เป็นตัวแทนของความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ในรัฐคะเรนนี

ผู้คนจากรัฐคะเรนนีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือชาวปะด่อง (Padaung) หรือที่เรามักเรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว คนกลุ่มนี้อาศัยในเขตเทือกเขาตามแนวชายแดนรัฐคะเรนนีกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ผ่านมาผู้คนทั้งสองฝั่งเขาเดินทางไปมาหาสู่กัน เพื่อนชาวคะเรนนีคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าจากท่าข้ามที่อำเภอขุนยวม หากต้องการเดินเท้าเข้าไปในรัฐคะเรนนีต้องใช้เวลา 1.5 วัน แต่หากเดินทางด้วยรถก็จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่ถนนหนทางไม่สะดวกเหมือนเมืองชายแดนขนาดใหญ่อย่างอำเภอแม่สอดที่จังหวัดตาก ที่มีสะพานข้ามแม่น้ำเมยถึง 2 แห่ง และมีถนนรองรับการขนส่งโลจิสติกส์สะดวกสบายกว่าฝั่งรัฐคะเรนนีอย่างมาก

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่สนใจระบอบอาณานิคมในพม่า แต่เดิมผู้เขียนไม่ได้คุ้นเคยกับรัฐคะเรนนีนัก จนกระทั่งได้เรียนรู้ว่ารัฐคะเรนนีมีพื้นที่ในทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่ง ในปี 1875 ก่อนสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3 (ค.ศ.1885) อังกฤษบรรลุข้อตกลงกับ “เมี้ยวซา” หรือเจ้าเมืองของคะเรนนี (เมี้ยวซา แปลตรงตัวว่ากินเมือง) เพื่อมอบเอกราชให้รัฐคะเรนนี อังกฤษการันตีว่าจะไม่เข้าไปยุ่งในกิจการภายในของรัฐคะเรนนี โดยมีพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่าในขณะนั้นทรงร่วมลงพระนามในสนธิสัญญาด้วย นี่เท่ากับว่าทั้งพม่าและอังกฤษยอมรับในทางนิตินัยว่ารัฐคะเรนนีไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของทั้งอังกฤษและพม่า

Advertisement

เมื่อพม่าเสียเมืองให้กับอังกฤษแล้ว อังกฤษเขียนสนธิสัญญากำหนดให้รัฐคะเรนนีเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษในปี 1892 และเมื่อพม่ามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก พื้นที่ที่เคยรวมกันหลวมๆ ก็กลายเป็นรัฐคะเรนนี ซึ่งก็คือหน้าตาของขอบขัณฑสีมารัฐคะเรนนีที่เราเห็นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐคะเรนนีจะไม่ได้มีบทบาทมากนักตลอดยุคอาณานิคม แต่ด้วยอังกฤษไม่ได้ต้องการเข้าไปปกครองพื้นที่ตรงนี้อย่างจริงจัง ทำให้ภายใต้กรอบสนธิสัญญาปางหลวง คะเรนนีได้รับสิทธิเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถแยกตัวออกจากการปกครองของพม่าได้ หลังพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว 10 ปี

ในความเป็นจริง เขตแดนของรัฐคะเรนนีเปลี่ยนแปลงไปบางส่วนหลังพม่าได้รับเอกราช สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือเส้นเขตแดนเป็นสิ่งสมมุติ ในพื้นที่ของรัฐคะเรนนีเองก็ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มคนคะเรนนีอย่างเดียว แต่ยังมีคนฉาน (ไทใหญ่) พม่า และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กันมาตลอด ภายใต้ระบอบอาณานิคมของอังกฤษ ผู้คนหลากหลายกลุ่มอยู่ร่วมกันแบบหลวมๆ ไม่ได้มีการปักปันเขตแดนอย่างจริงจังว่ารัฐคะเรนนีมีขอบเขตถึงที่ใดอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว เขตแดนของแต่ละรัฐจึงเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ

ตัวอย่างที่สำคัญของความลักลั่นของเส้นเขตแดนและความเป็นรัฐในพม่า คือรัฐกะเหรี่ยง ในสายตานักชาตินิยมกะเหรี่ยง พวกเขามองว่าพื้นที่ของ “กอทูเล” หรือมหารัฐของพวกเขานั้นรวมพื้นที่ที่มีคนพูดภาษากะเหรี่ยงเข้าไว้ทั้งหมด รวมทั้งในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตอนล่างของพม่า ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพม่าด้วย ดังนั้น ข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายในพม่า จึงมีสาเหตุมาจากการมองเส้นเขตแดนไม่เหมือนกัน และการยึดติดที่เชื้อชาติ-ชนชาติมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ดี ปัญหาทางชาติพันธุ์ที่เรื้อรังในเมียนมาไม่ได้มาจากเส้นเขตแดนเพียงอย่างเดียว หากมาจากเกิดขึ้นของแนวคิดคนพม่าเป็นใหญ่ (Burmese-centric) และลัทธิบูชากองทัพ ที่ให้ความสำคัญกับคนพุทธและกลุ่มชาติพันธุ์พม่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ในพม่า รวมทั้งยังมีความเชื่อว่าความอยู่รอดและความเป็นปึกแผ่นของประเทศขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของกองทัพ แนวคิดเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนพม่าจะได้รับเอกราชเสียอีก แต่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งหลังรัฐประหารปี 1962 จนเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อที่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองทัพพม่านับเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว

สำหรับผู้นำคะเรนนี พวกเขามองว่าอังกฤษไม่เคยปกครองรัฐของพวกเขาโดยตรง กลุ่มคนที่มีอิทธิพลสูงในรัฐคะเรนนีกลับเป็นศาสนจักรโรมันคาทอลิกจากวาติกัน ที่ทำให้รัฐคะเรนนีมีประชากรคาทอลิกมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในเมียนมา นอกจากนี้ มรดกตกทอดของวัฒนธรรมแบบคาทอลิกในรัฐคะเรนนียังทำให้คนคะเรนนีที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีความรู้สึกว่าแตกต่างจากชาวคริสต์อื่นๆ ในพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์นิกายต่างๆ

ท่ามกลางการสู้รบอย่างดุเดือดหลังรัฐประหารปี 2021 ประชาชนในรัฐคะเรนนีลุกขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพพม่าและ SAC อย่างเข้มแข็ง ภายใต้องค์กรการเมืองที่สำคัญที่สุดในนามพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party) หรือ KNPP และกองทัพในนามกองทัพคะเรนนี (Karrenni Army) หรือ KA และได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ก้าวหน้าที่สุดในพม่า พื้นที่ในรัฐคะเรนนีส่วนใหญ่ในปัจจุบัน (ยกเว้นในเขตเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐ และเมืองอื่นๆ รอบข้าง ที่ยังมีการสู้รบกันอยู่ระหว่าง KA และกองทัพพม่า) อยู่ภายใต้การควบคุมของ KNPP ซึ่งมีนโยบายเก็บภาษีประชาชน เพื่อนำมาดูแลประชาชนในทุกๆ ด้านรวมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการจัดหาบริการพื้นฐานอื่นๆ ให้กับประชาชนด้วย นอกจากนี้ ชาวคะเรนนียังมีสภาบริหารชั่วคราว (Interim Executive Council) หรือ IEC ที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อประชาชนของตนเอง และเพื่อให้โลกได้รู้จักและเข้าใจการต่อสู้ของพวกเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image