กระตุ้นเมืองน่าเที่ยว ด้วยสตอรี่บ้านๆ และเฟสติวัลบึ้มส์ๆ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เขาหลวงมีนิทานพระร่วงลูกนางนาค สนุกตื่นเต้นเร้าใจ ส่วนวัดพระพายหลวงมีตำนานกำเนิดรัฐศรีสัชนาลัยสุโขทัย เป็นพลังสร้างสรรค์มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดเป็นทรัพยากรชุมชนท้องถิ่นมีค่ามหาศาลที่สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมหัศจรรย์ แต่ถูกบดบังด้วยประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยม

รัฐบาลกำหนดนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ผลักดันประเทศไทยเป็น Tourism Hub ของโลก โดยกลยุทธ์เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว

(1.) เชื่อมโยงเส้นทางเมืองหลักสู่เมืองน่าเที่ยว ซึ่งอยู่ใกล้เคียงให้ต่อเนื่องกันได้ และ (2.) กระจายนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง

[“เมืองน่าเที่ยว” ฟังเข้าหูกว่าและน่าเที่ยวกว่าที่เรียก “เมืองรอง”]

เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว (ทั้งอยู่ใกล้เคียงและไม่ใกล้เคียง) มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ที่มีทั้งคล้ายคลึงและแตกต่าง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสตอรี่ คือ เรื่องเล่าประวัติความเป็นมา ที่มีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ อันควรแก่การเลือกสรรและเจียรไนใช้งาน กระตุ้นและดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและตามสภาพ

Advertisement

เฟสติวัลในไทยแต่ดั้งเดิมถึงปัจจุบันมีทั้งปี เรียกรวมๆ ว่า “ประเพณี 12 เดือน” จำแนก 2 กลุ่ม ตามความเชื่อทางศาสนา ได้แก่ กลุ่มศาสนาผีดั้งเดิม และกลุ่มศาสนาผี-พราหมณ์-พุทธ

แต่ที่ผ่านมาถูกพูดถึงไม่มาก และส่วนมากไม่ถูกพูดถึง จึงไม่ถูกใช้งานกระตุ้นการท่องเที่ยวเท่าที่ควรจะเป็น

รัฐบาลถ้าต้องการสร้างรายได้ทางวัฒนธรรมจาก Tourism Hub ของโลก ต้องปรับรื้อโครงสร้างระบบการศึกษาและแนวคิดทางวัฒนธรรม เพราะที่ผ่านมาอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ ด้วยเหตุเท่าที่พบขณะนี้ ดังนี้

Advertisement

(1.) ระบบการศึกษาไทย ด้อยค่าเรื่องเล่าบอกประวัติความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่นที่นับถือศาสนาผี ซึ่งพบในพงศาวดาร, ตำนาน, นิทาน ฯลฯ

เพราะยกย่องประวัติศาสตร์ราชธานี แล้วเหยียดหยามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อโบราณวัตถุ, โบราณสถานของชนชั้นนำ เนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ แล้วมองข้ามงานช่างของชุมชนท้องถิ่นที่เจือศาสนาผี

(2.) ระบบราชการไทย รวบอำนาจรวมศูนย์ ด้วยการยกตนเป็นนาย เหยียดชาวบ้านเป็นบ่าวไพร่ข้าทาส

ข้าราชการด้านวัฒนธรรมเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาไทย ยกย่องเชิดชูประวัติศาสตร์ราชธานี (อยุธยา, สุโขทัย, ธนบุรี, กรุงเทพฯ) แล้วด้อยค่าเหยียดหยามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

แม้พยายามรวบรวมเรื่องราวของชุมชนท้องถิ่น แต่เป็นไปแบบผิวเผินหรือผักชีโรยหน้า ไม่เข้าถึงสาระสำคัญ จึงประยุกต์ใช้ไม่ได้ในกิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ซ้ำมิหนำบางแห่งสมคบคิดปลอมปนตำนานเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า ได้แก่

“เมืองร้อยเอ็ดประตู” สร้างความเท็จเป็น “เมืองสิบเอ็ดประตู” (เพื่องบประมาณจัดกิจกรรมมีขบวนแห่ 11 ขบวน)

“เมืองอโยธยา” มีหลักฐานคูน้ำ ก็ว่าไม่มีเมืองอโยธยา (เพื่อสนับสนุนการทำลาย จะได้เพิ่มมูลค่าให้ที่ดินตรงนั้น)

ทางแก้ไขเฉพาะหน้าเพื่อได้งานเร็วที่สุดกระตุ้นเมืองน่าเที่ยว ดังนี้

ขั้นแรก รวมกลุ่มนักค้นคว้าที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะ รวบรวมข้อมูลนิยามและคำอธิบายซึ่งมีอยู่แล้วทุกระดับตั้งแต่ชุมชนหมู่บ้านจนถึงเมืองใหญ่น้อย เพื่อป้อนให้หน่วยงานสร้างสรรค์ของรัฐบาล

สตอรี่ของชุมชนหมู่บ้านสำคัญมาก เพราะเลือกสรรและจัดสรรสร้างเฟสติวัลได้เยี่ยมๆ ถ้าเอาขึ้นโซเชียลจะกระตุ้นพลังสร้างสรรค์เป็นเรื่องสั้น, นิยาย, บทภาพยนตร์ ตลอดจนเพลงดนตรี วิเศษมาก

ขั้นต่อไป สร้างสรรค์คำอธิบายเฟสติวัลและสถานที่ท่องเที่ยว ตามต้องากรเบื้องต้นเฉพาะหน้า แล้วพัฒนาต่อไป ซึ่งมีตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน, ตำบล, จนถึงระดับเมือง

ขั้นที่สุด สร้างเครือข่ายทำระบบข้อมูลต่อไปจนกว่าจะครบตามต้องการ

ถ้าทำสม่ำเสมอ อีกไม่นานก็ได้เฟสติวัลและสตอรี่ชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image