สถานีคิดเลขที่ 12 : ของไม่ปกติ ที่กลายเป็น เรื่องปกติ

สถานีคิดเลขที่ 12: ของไม่ปกติ ที่กลายเป็น เรื่องปกติ

“…ในช่วงหลังๆ เราจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุอะไรก็ตามที่เราบ้าตามยุโรป ตอนปี พ.ศ.2540 ความจริงเราไม่ต้องไปรับมาก็ได้

“ตอนนั้น ผมไม่ได้เป็นกรรมการยกร่าง ผมเป็นอาจารย์เด็กๆ สอนหนังสือ คนที่เป็นอาจารย์ผมไปยกร่างคือ ลิขิต ธีรเวคิน กับ วิสุทธิ์ โพธิแท่น ผมเป็นอาจารย์เด็กๆ สอนหนังสืออยู่ และทั้งสองคนก็มาคุยโตโอ้อวด โอ้โห รัฐธรรมนูญ 2540 ดีอย่างนั้นอย่างนี้

“สุดท้าย อาจารย์ลิขิตก็ไปอยู่พรรคความหวังใหม่ ไปอยู่กับไทยรักไทย อาจารย์วิสุทธิ์ก็ไปอยู่ กกต. ป.ป.ช. ไม่ยอมกลับมาแล้ว

Advertisement

“ผมเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยกเลิกไม่ได้ เพราะโครงสร้างต่างๆ จากรัฐธรรมนูญ 2540 ก็แก้นู้นแก้นี่ ปะนู้นปะนี่ แต่ก็ดำเนินต่อมาถูกไหม

“การที่เรารับมา มันทำให้โลกทางการเมือง ข้อเท็จจริงมันเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าระบบทุกอย่างมันทำงานปกติไม่ได้ เพราะคำสั่งของอธิการบดี ของอธิบดี ของปลัดกระทรวง มันไม่จบในตัวมันเอง มันขึ้นศาลอะไร ศาลปกครอง

“เมื่อก่อนมีใครกล้าฟ้องอธิการบดี คุณเจออธิการบดี คุณยกมือไหว้ท่านอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้มีใครกลัวอธิการ สั่งมาสิ ฟ้องเลย แม้กระทั่งลูกศิษย์ผม ตอนที่ปรับปรุงโรงอาหาร มันยังร้องศาลปกครองเลย ย้ายร้านอาหาร ปิดร้านอาหารโดยไม่ชอบ คุณจะเอาอะไร

Advertisement

“เพราะฉะนั้น ระบบโครงสร้างอำนาจมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น คำสั่ง ความเห็นของอธิบดี รวมทั้งอธิการบดี ปลัดกระทรวง มันไม่เป็นที่จบในตัวมันเองแล้ว มันร้องได้หมด

“ทีนี้ โครงสร้างแบบนี้มาจากไหน เราคิดเองหรือเปล่า เราก็รับมาจากยุโรป ไม่ใช่มาจากอเมริกัน อเมริกันยังเป็นระบบทุกอย่างแบ่งแยกอำนาจชัดเจนมาก คดีพวกนี้ไม่มีหรอก ไม่มีศาลปกครองในอเมริกา ทุกอย่างขึ้นศาลปกติ อย่างนี้

“อันนี้คือข้อเท็จจริง ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม คุณปฏิเสธองค์กรพวกนี้ไม่ได้ ปฏิเสธโครงสร้างลักษณะอำนาจแบบนี้ไม่ได้…”

ข้างต้นคือคำสัมภาษณ์ของ “ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ “ว่าด้วยรัฐ : 75 ปี ศาสตร์การเมือง สำนักธรรมศาสตร์” (มี “พีระ เจริญวัฒนนุกูล” และ “พชร ล้วนวิจิตร” เป็นบรรณาธิการ)

สาระสำคัญของเนื้อหาบทสัมภาษณ์ที่คัดลอกมา น่าจะอยู่ที่การยอมรับว่า ด้านหนึ่ง บรรดาองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา (และยกเลิกไม่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557) ก็เป็น “ของนอก” ที่ไม่ใช่ “สิ่งปกติ” ในสังคมไทย

แต่อีกด้านหนึ่ง ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เตือนว่า โครงสร้างทางอำนาจและข้อเท็จจริงทางการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเพราะ “สิ่งที่ไม่ปกติ” เหล่านี้ และการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นระบบที่เราปฏิเสธไม่ได้

หากลองคิดต่อเพิ่มเติมจากข้อคิดดังกล่าว เป็นไปได้ไหมว่านอกจากองค์กรอิสระแล้ว ตลอด 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เคยแลดู “แปลกแยก-ผิดฝาผิดตัว” ซึ่งค่อยๆ กลืนกลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกับสังคมการเมืองไทยจนยากที่จะขจัดองค์ประกอบเหล่านั้นทิ้งไปให้สิ้นซาก (แม้บางคนอาจอยากทำ)

ไม่ว่าองค์ประกอบที่ว่า จะดำรงสภาพเป็นพรรค การเมือง กลุ่มการเมือง หรือความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองก็ตามที

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image