ยุบพรรค เพื่อ?

ยุบพรรค เพื่อ?

ศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษายุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ห้ามมิให้ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี หรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน

ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92

หลักฐานที่ กกต.ยกขึ้นอ้างให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล ก็คือ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2567 นั่นเอง

Advertisement

เมื่อ กกต.ไม่มีหลักฐานใหม่ อะไรพิสูจน์ ยืนยันเพิ่มเติม การตัดสินครั้งใหม่นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะให้เหตุผลอย่างไรในการเขียนคำพิพากษา จึงน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง

ยุบหรือไม่ยุบ ก็ตาม

ประเด็นที่ผู้คนยังถกเถียงกันต่อไปไม่จบก็คือหลักการที่ว่าพรรคการเมืองควรถูกยุบหรือไม่

Advertisement

โดยเฉพาะการสั่งยุบจากสาเหตุที่มีการกระทำและความคิดเห็นตรงข้าม สวนทางกับอุดมการณ์ ความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคม

คำถามนี้ แม้กระทั่ง กกต.ผู้ยื่นเรื่องก็ยังไม่ยอมให้ความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการยุบพรรคการเมือง

ได้แต่เพียงอ้างข้อกฎหมาย ว่าต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เขียนไว้อย่างไร กกต.มีหน้าที่ทำตามนั้น

พรรคการเมืองเป็นสถาบันอันเป็นที่รวมของเจตนารมณ์ของสมาชิกจำนวนมาก การยุบพรรคนอกจากเกิดผลกระทบกับคนเหล่านั้นแล้ว ยังกระเทือนถึงระบอบการเมืองโดยรวมอีกด้วย

หากเกิดการกระทำผิดขึ้น ความรับผิดชอบน่าจะเป็นของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแกนนำพรรค การลงโทษ การตัดสิทธิทางการเมืองต่างๆ ควรจำกัดอยู่เฉพาะกรรมการบริหาร โดยที่ความเป็นสถาบัน ความเป็นพรรคยังคงอยู่ เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณะต่อไป

ยกเว้นแต่อ้างเหตุว่า เพราะสมาชิกพรรคไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมกำกับผู้บริหาร เมื่อทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหาย สมาชิกทั้งหมดต้องรับผิดชอบด้วย ต้องรับโทษโดยการยุบพรรค

ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ระบบพรรคไร้ความมั่นคง เพราะสมาชิกต่างแตกกระสานซ่านเซ็นครั้งแล้วครั้งเล่า

การเมืองเชิงอุดมการณ์ ระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งจึงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพรรคที่เกาะเกี่ยวของผุู้มีอุดมการณ์เดียวกันไร้เสถียรภาพ

กรณีการยุบพรรคด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ เกิดข้อถกเถียงตามมาอีกว่า อุดมการณ์เรื่องอะไร

อุดมการณ์มิอาจเกิดขึ้นและลอยอยู่โดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับบริบทสังคม

อุดมการณ์ที่เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ จึงถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบของสังคม

อุดมการณ์บางอย่างไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะสังคมไม่ยอมรับ

พรรคการเมืองที่เสนอขายอุดมการณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จึงประสบปัญหาจนไม่มีที่ยืนในสังคม

ความสวยงามจากความหลากหลายทางความคิด หลากหลายอุดมการณ์ จึงไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่ถูกจำกัดความคิด ความเชื่อ

ความเห็นต่างในบางเรื่องเกิดได้ บางเรื่องเป็นไปไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ต้องถูกทำลายลงให้หมดสิ้นไป

สภาพการณ์เช่นนี้ 2 ความเชื่อไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะคิดว่าโลกมีแค่สีขาวกับดำ ไม่มีสีเทาและสีอื่นๆ ความสมานฉันท์ ปรองดองจึงเป็นไปได้ยาก

ความคิดที่ว่าพรรคการเมืองควรถูกยุบได้ จึงเป็นฝ่ายอำนาจนำที่เหนือกว่า ไปจนกว่าความคิดที่แตกต่างจะได้รับการยอมรับ

อุดมการณ์แตกต่างกันควรอยู่ร่วมกันได้ เพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เพียงแต่คิดไม่เหมือนกันเท่านั้น

หลักคิดพรรคการเมืองควรถูกยุบได้ จึงอาจกลายเป็นช่องทาง เครื่องมือกลั่นแกล้ง ทำร้าย ทำลาย พรรคการเมืองคู่แข่งที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน

หลักการยอมรับเสียงส่วนใหญ่แต่ก็เคารพเสียงส่วนน้อย จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ในเมื่อเสียงส่วนน้อย ฝ่ายความคิดพรรคการเมืองไม่ควรถูกยุบ ยังไร้อนาคต อยู่จนถึงวันนี้

ยุบแล้ว ยุบอีก ไม่จบสิ้น

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ก็คือ หลักการยุบพรรคไม่เกิดสภาพบังคับที่แท้จริง เพราะยุบแล้วก็เกิดพรรคใหม่ขึ้นตลอดมา

พรรคการเมืองถูกยุบได้หรือไม่ควรถูกยุบ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ต้องการบทสรุปร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image