ดุลยภาพดุลพินิจ : จับตาปัญหาเด็กเกิดน้อยในจีน

ดุลยภาพดุลพินิจ : จับตาปัญหาเด็กเกิดน้อยในจีน

ประชากรจีนลดลงเกือบ 3 ล้านคน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2564 จีนมีประชากร 1,412.6 ล้านคน แต่ในปี 2565 ลดลง 8.5 แสนคน เหลือ 1,411.75 คน และในปี 2566 ลดลงอีก 2.08 ล้านคน เหลือ 1,409.7 ล้านคน (NBS อ้างโดย Statista 2024)

จีนกำลังตามรอยประเทศที่เด็กเกิดน้อยลง อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพราะประเทศใหญ่ๆ อย่างจีนถ้าเกิดอะไรขึ้นคงมีผล กระทบไปทั่วโลก

Advertisement

ปี 2565 GDP ของจีน 655.7 ล้านล้านบาท เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา (929.4 ล้านล้านบาท) มีรายได้ต่อหัวประชากร 4.6 แสนบาท เทียบกับ 2.5 แสนบาทของไทย 1.2 ล้านบาทของญี่ปุ่น และ 1.2 ล้านบาทของเกาหลีใต้ นับว่าเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลางขั้นสูงที่กำลังขยับไปเป็นประเทศรายได้สูง และในช่วง 45 ปี ระหว่าง 2522-2566 เศรษฐกิจจีนโตโดยเฉลี่ย ร้อยละ 9 ต่อปี

จีนเคยเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของโลกมานานกว่า 70 ปี แต่เพิ่งถูกอินเดียแซงไปเมื่อปีที่แล้ว

ในปี 2566 จีนมีเด็กเกิดน้อยลง 6 แสนคน จาก 9.6 ล้านคนของปี 2565 เหลือ 9 ล้านคน คิดเป็น 6.4/1,000 ประชากร (ลดลงจาก 6.8/1,000 ประชากร ในปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับจากปี 2492 ที่มีการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

Advertisement

ขณะที่ในปี 2566 จีนมีจำนวนผู้เสียชีวิต 11.1 ล้านคน (เพิ่มจาก 10.4 ล้านคนในปี 2565) อัตราการตายของจีนเพิ่มขึ้น เป็น 7.9/1,000 ประชากร เทียบกับในปี 2565 อัตราการตาย 7.4/1,000 ประชากร จึงทำให้ประชากรจีนลดลงเป็นปีที่สอง

ที่จริงอัตราเกิดในจีนลดลงมานานแล้ว (อัตราเกิดเคยสูงถึง 46/1,000 ประชากร ในปี 2543) แต่ลดลงชัดเจนเหลือ 21/1,000 ในปี 2521 เมื่อจีนใช้นโยบายลูกคนเดียว (One child policy) และลดเหลือ 12.2/1,000 ประชากร ในปี 2559 ซึ่งจีนใช้นโยบายลูก 2 คน ขณะที่อัตราตายก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับสาเหตุสำคัญการลดลงของอัตราเกิดช่วงปี 2565 น่าจะมาจากการปิดประเทศช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งอัตราเกิดอาจจะกลับมาสูงขึ้นในปี 2567 ส่วนหนึ่งจากการสมรสที่ถูกเลื่อนเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาดและให้กำเนิดบุตร และอีกประการหนึ่งคือปี 2567 คนจีนถือว่าเป็นปีมังกรทองซึ่งคนจีนนิยมมีบุตรในปีดังกล่าว แต่หลังจากนั้นประชากรจีนมีโอกาสลดลงอีก

ที่น่าสนใจคือ การลดของประชากรครั้งนี้มาเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว (แม้ทางการจีนจะแถลงว่าในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 5.2 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 5 และสูงกว่าการขยายตัวเพียงร้อยละ 3 ในปี 2565 (ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี)) และปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ในตอนนี้ อาทิ นักลงทุนย้ายออก ภาวะเงินฝืด ตลาดอสังหาริมทรัพย์ถดถอย การบริโภคลดลง ราคาบ้านใหม่ลดลงมากที่สุดในรอบ 9 ปี และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลงเกือบร้อยละ 10 เป็นปีที่ 2 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนให้ความเห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะลดเหลือ ร้อยละ 4 ในปี 2567 (China Center for Economics and Business, the Conference Board Inc.)

การลดลงของอัตราการเกิดที่ผ่านมาทำให้ประชากรในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) ลดลง 11 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น โดยมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปมีเกือบ 300 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20 ของประชากร

จีนจึงกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยหนักขึ้น มีคนสูงอายุมากขึ้น แต่แรงงานลดลง

ดังนั้น ในระยะสั้นจีนจึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นด้านสุขภาพและที่อยู่อาศัย และลงมือแก้ปัญหาสังคมสูงวัย ที่สำคัญ คือ เมื่อมกราคม 2567 รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “เศรษฐกิจสีเงิน หรือเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver economy)” เพื่อยกระดับดูแลผู้สูงวัยที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น

นโยบายเศรษฐกิจสีเงินประกาศ 26 แนวทาง เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของผู้สูงอายุ ตั้งแต่การดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (smart healthcare) ไปถึงการวางแผนการเงินเพื่อต่อสู้กับการสูงอายุ การส่งเสริมการพัฒนาเวชภัณฑ์เพื่อต่อสู้โรคของผู้สูงอายุ นโยบายเศรษฐกิจสีเงินเป็นนโยบายที่เป็นเอกสารฉบับแรกที่มุ่งแก้ปัญหาสังคมสูงอายุในระดับชาติ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีการพูดถึงตั้งแต่ปี 2565 เมื่อ สภามนตรี (State Council) ของจีนวางกรอบและเป้าหมายเพื่อ “ระดมประชาสังคมเพื่อตอบสนองปัญหาสังคมสูงอายุอย่างจริงจัง”

สำหรับในระยะยาว การลดลงของประชากรจีนย่อมกระทบเศรษฐกิจของจีน อาทิ ผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศเมื่อจำนวนผู้บริโภคลดลงปีละนับล้านคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มที่บริโภคเป็นหลักคือเด็กเกิดใหม่ รวมทั้งตลาดที่อยู่อาศัยก็ถูกกระทบ

ที่จริง จีนให้ความสำคัญต่อนโยบายประชากรมาโดยตลอดและควบคุมจำนวนประชากรอย่างจริงจังมาหลายทศวรรษแล้ว ตั้งแต่ยุคประธานเหมา เจ๋อตุง (2492-2519) กับนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (2501-2505) ที่เชื่อว่าประชากรคือพลังและอำนาจของประเทศ จึงมี นโยบายส่งเสริมการเพิ่มประชากรทำให้ประชากรจีนเพิ่มจาก 540 ล้านในปี 2492 เป็น 940 ล้านในปี 2519 จนต้องแก้ปัญหาประชากรมากเกินไปด้วยนโยบายลูกคนเดียวในสมัย เติ้งเสี่ยวผิง ปี 2521 (อัตราเกิด 26/1,000 ประชากร) ซึ่งต่อมายกเลิกปลายปี 2558 (เมื่ออัตราเกิดเหลือ 12/1,000 ประชากร) และปรับเป็นนโยบายลูก 2 คน
เมื่อต้นปี 2559 แต่นโยบายลูก 2 คนไม่ค่อยได้ผลด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น คู่สมรสกังวลว่าจะเลี้ยงดูบุตรคนที่สองไม่ไหว การขาดแคลนบริการดูแลเด็กอ่อนและค่าใช้จ่าย และผลกระทบต่อการทำงานของมารดา รวมทั้งอิทธิพลของนโยบายลูกคนเดียวที่ปลูกฝังให้ประชาชนเห็นดีงามกับการมีลูกเพียงคนเดียวและไม่อยากมีลูกมาก และผล กระทบที่ทำให้จีนมีประชากรหญิงน้อยกว่าชาย

ต่อมาสำมะโนประชากรปี 2563 พบว่าเด็กเกิดใหม่เพียง 12 ล้านคน (อัตราเกิด 11.4/1,000 ประชากร) ลดลงจาก 18 ล้านคน ในปี 2559 และมีจำนวนต่ำที่สุดเทียบกับช่วงปี 2503 รัฐบาลจีนจึงประกาศใช้นโยบายลูก 3 คน โดยกฎหมายที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงลงนามเมื่อสิงหาคม 2564 โดยรัฐสัญญาว่าจะปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีบุตรเพิ่มขึ้น เช่น การทำงาน การเงิน การดูแลเด็กอ่อน รวมทั้งการศึกษา แต่นโยบายลูก 3 คน ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนดังกล่าวข้างต้นรวมทั้งเหตุผลที่ตลาดแรงงานหดตัวมีคนทำงานน้อยลง คนหนุ่มสาวต้องทำงานหนักขึ้นถ้วนหน้า ผู้หญิงก็เลือกที่จะเรียนต่อหรือหางานทำแทนที่จะต้องเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน

ผลกระทบของการลดลงของประชากรที่กำลังเกิดขึ้นคือ แรงงานลดลงและสังคมสูงวัยที่เริ่มกดดันงบประมาณสวัสดิการทางสังคมของประเทศ ปัจจุบันจีนมีประชากรวัยแรงงาน (16-59 ปี) 875 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรจีนทั้งหมด และจำนวนนี้คาดว่าจะลดลง 35 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า จึงคาดว่าในเวลาอีกไม่นานแรงงานจีนจะไม่สามารถเกื้อหนุนคนที่เกษียณแล้ว

แรงงานจีนเกษียณอายุที่ 60 ปี สำหรับผู้ชาย และ 55 ปี สำหรับผู้หญิงทำงานสำนักงาน และ 50 สำหรับผู้หญิงทำงานในโรงงาน ปัจจุบันประชากรจีนอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 20 แล้ว คิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ ปัจจุบัน จีนมีผู้สูงอายุ ราว 280 ล้านคน จึงนับเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-age society) และกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) ที่สัดส่วนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 28 ในอีก 9 ปีข้างหน้า โดยจะมีผู้สูงอายุเกือบ 400 ล้านคน (ซึ่งรัฐบาลเคยดำริจะขยายอายุเกษียณแต่ก็ไม่ได้ทำ)

ปัญหาสังคมสูงวัยของจีนเรื่องใหญ่คือระบบบำนาญ เพราะขณะนี้จำนวนผู้เกษียณมากกว่าจำนวนผู้จ่ายเงินสมทบ และเงินสมทบเริ่มลดลงมา 10 ปีแล้ว ระบบบำนาญของจีนบริหารจัดการโดยจังหวัด และเป็นระบบ pay-as-you go คือจ่ายให้ผู้เกษียณด้วยเงินสมทบที่ได้รับเข้ามาจากคนที่ทำงานอยู่ และสถาบัน Chinese Academy of Social Sciences คำนวณว่ากองทุนบำนาญพื้นฐานของจีนจะหมดภายใน 10 ปี

ในอดีต คนที่ได้รับบำนาญมีแต่ผู้ที่เป็นลูกจ้างในตัวเมืองที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนแรงงานที่ทำงานในชนบทและเกษตรกรไม่มีบำนาญและต้องพึ่งพาบุตรหลานหรือเครือญาติ ในปี 2553 รัฐบาลจึงริเริ่มระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและได้ขยายครอบคลุมแรงงานที่ไม่เคยได้รับบำนาญส่วนใหญ่ แต่บำนาญพื้นฐานดังกล่าวน้อยมาก ในปี 2565 มีผู้อยู่ในระบบบำนาญพื้นฐานประมาณ 1 พันล้านคน เป็นประกันสังคมสำหรับลูกจ้างในเมือง 504 ล้านคน และที่เหลือเป็นประชาชนในเมืองและชนบท (statista 2024) โดยบำนาญสำหรับข้าราชการตกประมาณเดือนละ 3 หมื่นบาท สูงกว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้ประมาณเดือนละ 1.6 หมื่นบาท โดยข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องจ่าย ส่วนแรงงานในชนบทบำนาญน้อยกว่ามากและไม่ค่อยมีคนเข้าระบบ ขณะที่แรงงานจากชนบทที่ทำงานในเมือง ราว 150 ล้านคน ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมในเมือง

สำหรับนโยบายส่งเสริมการมีบุตรนั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนท่านหนึ่งบอกว่า แม้จีนอยากจะเอาอย่างญี่ปุ่นด้วยการลดค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรด้วยวิธีต่างๆ แต่จีนไม่มีเงินพอ

จะเห็นได้ว่าขณะนี้จีนไม่ได้เป็นประเทศที่มีประชากรมากเกือบที่สุดในโลก แต่กำลังเป็นประเทศที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลกซึ่งจะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ซึ่งจีนก็กำลังแก้ปัญหาอยู่

น่าสนใจครับ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงอยากรู้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่ยุคนี้กำลังรุ่งเรืองมากด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และ AI ตลอดจนกุศโลบายต่างๆ ในการพัฒนาประเทศ จะเอาอย่างไรต่อไปกับปัญหาเด็กเกิดน้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image