อีสานมหัศจรรย์ ที่รัฐบาล ‘เข้าไม่ถึง’ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

วัฒนธรรม SEA อยู่ในอีสาน และเป็นจุดขายสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องทบทวนและทำความเข้าใจใหม่

รายงานข่าวล่าสุดว่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน ISAN Insight Summit 2024 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ขอนแก่น ฮอลล์ เซ็นทรัล ขอนแก่น

มีการเสวนาเศรษฐกิจอีสานแห่งปี ในธีม ISAN Soft Power ขุมทรัพย์ขับเคลื่อน “อีสานใหม่” สู่สากล โดยมี น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ น.ส.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นพ. สุรพงษ์ ลืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, นาย ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิชาการ นักธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก

ในงานมีการสัมมนาจากนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญแต่ละอุตสาหกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์ เป็นวิทยากรให้ความรู้ เปิดมุมมองเกี่ยวกับโอกาสของ Isan Soft Power ในรูปแบบ 5F คือ FOOD, FASHION, FESTIVAL, FIGHTING, FILM เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “Strategic Move” ไปสู่ “อีสานใหม่” เพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของขาวอีสาน และสนับสนุนกลยุทธ์สำคัญของประเทศด้านซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ระดับโลก

Advertisement

(ที่มา : มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2567 หน้า 13)

อีสานมหัศจรรย์

ความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต คือมุ่งสร้างความมั่งคั่งเฉพาะหน้า โดยไม่ให้ความสำคัญอย่างลุ่มลึกต่อพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ทำให้การพัฒนาผิดพลาด “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ซ้ำมิหนำทำลายสมบัติศิลปวัฒนธรรมจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีหลักฐานรู้กันทั่วไปตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (ราว 65-66 ปีมาแล้ว) และหลังจากนั้นอีกนาน จึงไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำอีก

Advertisement

ดังนั้นต้องทบทวนข้อมูลอีสานเพื่อเข้าใจตรงกันว่าอีสานเป็นที่ราบสูง มีวัฒนธรรมอย่างน้อย 2 แบบทับซ้อนกัน เรียกง่ายๆ ว่ากลุ่มข้าวเจ้ากับกลุ่มข้าวเหนียว

ข้าวเจ้า วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล

หมายถึงกลุ่มกินข้าวเจ้า (ไม่กินข้าวเหนียว) เป็นอาหารหลัก ปลูกข้าวเจ้า (มีปลูกข้าวเหนียวแซมบ้างประปราย) นุ่งโจงกระเบน (ไม่นุ่งซิ่น) เล่นเพลงโคราช (ไม่หมอลำ)

พื้นที่กว้างๆ ทางใต้ของอีสาน พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ถึงทิวเขาพนมดงรัก

ทุ่งกุลาร้องไห้ปัจจุบัน เป็นแหล่งปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ “หอมมะลิ” มีคุณภาพดีที่สุด เป็นที่นิยมมาก และขายได้ราคาสูงมาก

แต่ย้อนกลับไป 2,500 ปีที่แล้ว ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแอ่งอารยธรรมสำคัญมากของอุษาคเนย์ (SEA) มีประชากรหนาแน่น และมีเทคโนโลยีสูง ผลิตเกลือและถลุงเหล็ก มีจุดขายหลายหลาก

แม่น้ำมูลเป็นสายหลัก มีต้นน้ำอยู่เขาใหญ่ (นครราชสีมา) ไหลไปทางตะวันออก ลงแม่น้ำโขง (อุบลราชธานี)

ลุ่มน้ำมูลเป็นจุดขาย ทั้งในประเทศและสากลโลก

(1.) ลุ่มน้ำมูลเป็นหลักแหล่งถิ่นฐานของชาวสยามดั้งเดิม เรียก “สยามกก” (จารึกเขมรเรียก “เสียมกุก” ที่ปราสาทนครวัด) เป็นต้นทางความเป็นไทยสมัย อโยธยา-อยุธยา เป็นจุดขายใหญ่ยิ่งของประวัติศาสตร์ไทย

ชาวสยามลุ่มน้ำมูลล้วนชำนาญการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม (พบหลักฐานในจดหมายเหตุจีน) สืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน

(2.) ลุ่มน้ำมูลเป็นมาตุภูมิกษัตริย์เขมรนครวัด-นครธม ราชวงศ์มหิธรมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ปราสาทพิมาย (นครราชสีมา) และปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์)

นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องใกล้ชิดกษัตริย์เขมรราชวงศ์จิตรเสน (มเหนทรวรรมัน)

ข้าวเหนียว วัฒนธรรม “นอก” ลุ่มน้ำมูล

หมายถึงกลุ่มกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ปลูกข้าวเหนียว (มีข้าวเจ้าบ้างประปราย)

แม่น้ำชีเป็นสายหลัก มีต้นน้ำอยู่เทือกเขาทางตะวันตกของอีสาน (ชัยภูมิ) ไหลขึ้นเหนือ แล้วโค้งไปทางตะวันออก รวมกับแม่น้ำมูล ลงแม่น้ำโขง (อุบลฯ)

วัฒนธรรมข้าวเหนียว (นอกลุ่มแม่น้ำมูล) มี “พลังลาว” ชาวอีสานสำคัญมาก คือข้าวเหนียวและหมอลำ

ข้าวเหนียว มี “กับข้าว” กินพร้อมข้าวเหนียว คือ ลาบ, ไก่ย่าง, ส้มตำ และอื่นๆ

[ส้มตำไม่ใช่อาหารดั้งเดิมของอีสาน เพราะมะละกอเป็นพืชจากอเมริกาใต้ ต่อมานักเดินเรือชาวสเปนนำเข้าถึงสยามราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์]

หมอลำ เป็นการละเล่นหรือการแสดงขับลำ พร้อมหมอแคนเป่าแคนคลอ

ปัจจุบันพัฒนาไปไกลหลายรูปแบบ เป็นที่นิยมมาก ได้แก่ หมอลำซิ่ง, หมอลำลูกทุ่ง, “หมอลำอินเตอร์” พัฒนาสู่โลกสากลไปนานแล้วโดยกลุ่มหมอลำอีสาน (รัฐไม่สนับสนุน)

เหตุที่หมอลำก้าวล้ำหน้ามาก (เมื่อเทียบกับดนตรีไทยเดิม) เพราะปลอดจาก “ความเป็นไทย” ดังนี้

(1.) อีสานถูกทอดทิ้งทางการเมืองจากรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างน้อยตั้งแต่หลังกรุงแตก 2310

(2.) ทำให้อีสานปลอดจากอำนาจวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา และปลอดการครอบงำจากดนตรีราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนั้นหมอลำหมอแคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด จึงไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่ “วัฒนธรรมป๊อป” ด้วยการปรับตัวเข้ากับโลกสากลที่เปลี่ยนไปไม่หยุดนิ่ง

ซึ่งต่างจากดนตรีไทยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลงทุกชนิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image