คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : จะ Breaking the cycle ก็อย่าไปเพลินหลงวงเวียนบางเขน

หลังจากที่พรรคก้าวไกลออกมาแถลงหลังจากลงมติไม่รับหลักการพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล และอาจมีการให้ “ศาล” พิจารณา น่าสงสัยว่าทำไมในครั้งแรกสื่อเข้าใจไปว่า พรรคก้าวไกลจะใช้กระบวนการทางศาลรัฐธรรมนูญ

จนทำให้ผู้ที่เป็นต้นตอผู้พูดคือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องออกมาโพสต์ชี้แจง ซึ่งขอคัดลอกมาแบบไม่ตัดทอนเพื่อความเป็นธรรมดังนี้

“ไปกันใหญ่แล้วววว… จากการแถลงข่าว มีนักข่าวถามว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อหากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำยังไง จะยื่นศาลมั้ย? ดิฉัน ผู้ซึ่งอภิปรายว่า ที่รัฐบาลทำอยู่มันผิด พ.ร.บ.วินัยฯ จึงตอบว่าความผิดยังไม่สำเร็จต้องรอผ่านวาระ 3 ก่อนถึงจะยื่นให้ศาล ซึ่งมันก็ต้องเป็นศาลปกครอง! ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และดิฉันเองก็ไม่ได้พูดคำว่าศาลรัฐธรรมนูญ!”

น.ส.ศิริกัญญาได้พูดคำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือเอ่ยถึงศาลใดหรือไม่ เมื่อได้ลองไปหาคลิปในจังหวะที่เป็นปัญหามาฟัง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่า น.ส.ศิริกัญญา “ไม่ได้พูด” ว่าจะยื่นคำร้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตรวจสอบเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตจริงๆ นั่นแหละ

Advertisement

แล้วทำไมสื่อไปเติมคำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เข้าให้ อันนี้ก็ข้อสังเกตที่ทำให้พอเข้าใจได้ว่าทำไมผู้ฟังที่เป็นนักข่าวการเมืองจะเข้าใจบริบทไปว่าผู้พูดนั้นหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีน้ำหนักชวนให้เข้าใจอย่างนั้นได้พอสมควร

เพราะในการแถลงข่าว น.ส.ศิริกัญญาใช้คำว่าจะไป “ร้องต่อศาล” ซึ่งการใช้คำว่า “ร้อง” นั้น เป็นรูปแบบของการใช้ในการเสนอเรื่องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นรูปแบบเฉพาะ เนื่องจากศาลอื่นรวมถึงศาลปกครองนั้น จะใช้คำว่าไป “ฟ้อง” หรือ “ยื่นคำฟ้อง” ต่อศาลปกครอง (คือถึงจะมีคำร้องฝ่ายเดียวบ้างก็เป็นเรื่อจำเพาะเจาะจงมากๆ) จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมคือ ปกติถ้าคนจะใช้คำกริยาที่หมายถึงการยื่นเรื่องหรือกรณีพิพาทต่อศาล สำหรับคนทั่วไป หรือคนไม่รู้กฎหมาย ส่วนใหญ่ก็จะใช้คำว่า “ไปฟ้อง” ศาล ไม่ใช่ “ไปร้อง” ศาล คือที่เคยเจอแต่คนพูดผิดเป็น “ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่เคยเจอใช้ผิดแบบ “ไปร้องศาลปกครอง” สักเท่าไร

เรื่องการใช้ถ้อยคำเรื่อง จะไป “ร้อง” หรือไป “ฟ้อง” นี้ อาจจะมีการใช้สับสนกันได้หากผู้พูดเป็นนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองบ้านๆ หรือประชาชนทั่วไป แต่เมื่อผู้พูดเป็น น.ส.ศิริกัญญา ที่เป็นดูฉลาดรอบรู้ไปเสียทุกเรื่องทั้งเป็นผู้อยู่ในแวดวงการเมืองทั้งจะเลือกใช้วิธีนี้เองก็ไม่น่าจะใช้ถ้อยคำที่ผิด

Advertisement

อีกประการหนึ่ง การใช้คำว่า “ไปร้อง” ถ้าพิจารณาตามบริบทว่าเป็นการ “ร้องศาลรัฐธรรมนูญ” ก็จะพอดีกับอีกเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องรอให้ผ่านวาระ 3 เสียก่อนจึงจะสามารถกระทำได้ (หรือที่ น.ส.ศิริกัญญาใช้คำว่าความผิดสำเร็จ) นั่นเพราะในตอนนั้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะมีสถานะสมบูรณ์เป็นร่างกฎหมายที่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สมาชิกรัฐสภามีอำนาจเข้าชื่อกันเพื่อให้ประธานสภาของตนหรือประธานรัฐสภาเสนอร่างกฎหมายนั้นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนั้นตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ อันเป็นอำนาจตามมาตรา 148 แห่งรัฐธรรมนูญ

เฉพาะเพียงการผ่าน “วาระ 3” นั้น นึกไม่ออกว่าจะยื่นคำร้องหรือยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้อย่างไร เพราะศาลปกครองมีอำนาจเฉพาะการกระทำของหน่วยงานทางปกครองที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่หมายถึงกฎหมายที่ตราขึ้นใช้บังคับแล้ว ไม่มีอำนาจตรวจสอบกระบวนการเชิงการเมืองของรัฐบาลต่อรัฐสภา หรือกระบวนการทางนิติบัญญัติโดยตรง (อ้างอิงตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 802/2551 กรณีผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมาตราใน พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ส่วนที่ว่าด้วยการรอนสิทธิ)

ดังนั้น ถ้าตั้งใจจะฟ้องศาลปกครองจริง ก็คงจะต้องไปฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายที่ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้แต่อย่างใด และน่าจะใช้คำว่า “รอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้” หรือ “รอให้ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้ว” อะไรแบบนี้หรือเปล่า

หรือถ้าจะดูกันแบบ “หาเรื่อง” อีกนิดหน่อย ก็จะเห็นว่า ในตอนที่ให้สัมภาษณ์นั้นท่อนที่กำลังจะพูดคำว่า “จะไปร้องศาล” นั้น น.ส.ศิริกัญญามีการหยุดชะงักไปจังหวะหนึ่ง โดยน้ำเสียงมีการกระตุก คือภาษากายเหมือนจะบอกเราว่า ตัวเธอก็รู้สึกว่ากำลังจะพูดบางสิ่งที่อันตรายหรือไม่น่าจะพูด เลยรีบกลืนคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ลงท้องไปได้ทัน ส่งผลให้สามารถดริฟต์ผ่านโค้งอันตรายของสนามนรกเขียวเนอร์เบิร์กริงกลับเข้าเส้นทางมาได้แบบยางไหม้

มิตรรักแฟนพรรคสีส้มอ่านถึงตรงนี้อาจจะบอกว่า น.ส.ศิริกัญญาแค่พูดผิด ใครเขาจะหมกมุ่นกฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลในระบบกฎหมายมหาชนระดับผมก็ไม่เป็นไร เพราะข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ มีแต่ผู้พูดเท่านั้นที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ผู้ติดตามการเมืองที่มีจิตใจอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยก็น่าจะเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิต่อศาลใด การไปลากเอาอำนาจศาลเข้ามาตัดสินปัญหาที่เป็นประเด็นทางการเมือง สำหรับพรรคที่อ้างว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายก้าวหน้านั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง

ต้องยืนยันหลักการก่อนว่า การที่ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายรัฐสภานั้นจะใช้สิทธิต่อศาลในฐานะของเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากนั้นไม่ใช่เรื่องที่กระทำไม่ได้เลยเสียทีเดียว เพราะดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า รัฐธรรมนูญเองก็เปิดช่องไว้ในมาตรา 148 เพราะแม้ตามหลักการรัฐบาลอาจจะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้ก็จริง แต่การดำเนินนโยบายนั้นต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเคารพสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน รวมถึงกฎหมายนั้นก็ต้องตราขึ้นโดยวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ลัดขั้นตอนหรือกระบวนการด้วย ดังนั้น การตรวจสอบร่างกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็จะเป็นการตรวจสอบที่ปัญหา “ข้อกฎหมาย” ในทางรัฐธรรมนูญ เช่น การลงมติของ ส.ส.นั้นถูกต้องหรือไม่ กฎหมายได้ตราขึ้นตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ได้ผ่านการเสนอ ลงมติ ผ่านกรรมาธิการอะไรกันตามวาระต่างๆ ครบถ้วน 3 วาระ 2 สภา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ หรือกรณีที่ขอให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนั้นมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่สามารถอธิบายกันได้ในทางทฤษฎี

ถึงอย่างนั้น ก็เคยมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า ข้ออ้างว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบางเรื่องก็ก้ำกึ่งจะถือว่าเป็นปัญหาทางการเมืองก็ได้ เช่นที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยเสนอร่างพระราชบัญญัติเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศหรือเงินกู้สองล้านล้าน แต่ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเป็นอันตกไป (อย่างไรก็ตามในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีปัญหาเรื่องกระบวนการตรา คือการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งก็ปรากฏหลักฐานเป็นคลิปว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วย ก็เลยวิจารณ์ได้ไม่เต็มปากเต็มคำ)

อีกทั้งถ้าเราไปศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและกระบวนการตุลาการของไทยในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงสองทศวรรษนี้ดู จะพบว่ามีการใช้ช่องทางขององค์กรตุลาการ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในการขัดขวางหรือใช้เพื่อความมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อจะหยุดยั้งการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลไม่ให้ประสบผลเพื่อให้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเมืองอยู่เสมอ หรือแม้แต่การล้มรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระยะยี่สิบปีหลังก็เกิดจากอำนาจตุลาการเสียมากกว่ากลไกของรัฐสภา เรื่องนี้คงไม่ต้องกล่าวกันให้มากความ พรรคก้าวไกลที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายจะ “ทำลายวงจร” Breaking the cycle อะไรพวกนี้ก็น่าจะรู้ดีพอๆ กัน

การเรียกหาอำนาจตุลาการ (ไม่ว่าจะศาลใด) ให้เข้ามากินแดนในเขตอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองนั้นคงไม่น่าจะหยุดลงได้โดยง่าย ตราบใดที่พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนยังกุมเสียงข้างมากในสภาและมีอำนาจรัฐ แต่พรรคก้าวไกลก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมหมุนวงจรนี้กับเขาด้วยอย่างนั้นหรือ

อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกลเองก็กำลังประสบกับวิบากกรรมที่อาจได้รับการลงโทษสูงสุดถึงยุบพรรคในคดีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเค้ามูลแห่งคดีก็มาจากการนำเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเองก็เชื่อ อย่างน้อยก็ในขณะที่นำเสนอนโยบายว่า เป็นการกระทำที่ชอบธรรม สามารถกระทำและขับเคลื่อนนโยบายนี้ได้

อย่าลืมว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะโดนยุบไปตั้งใหม่ แต่ถ้าจะดำเนินนโยบายต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระบบการคัดเลือกให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจแทนการเกณฑ์ทหาร การกระจายอำนาจด้วยการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นถ้วนทุกจังหวัดลักษณะเดียวกับกรุงเทพมหานคร (ขออนุญาตงดใช้คำว่า “เลือกตั้งผู้ว่า”) กฎหมายแรงงานที่รับรองคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานให้ดีขึ้น หรือแม้แต่นโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อเด็กและสตรีอย่างเช่นกฎหมายที่กำหนดให้มีห้องปั๊มนมในพื้นที่สาธารณะ ทั้งหมดล้วนมีช่องให้ถูกโจมตีด้วยกระบวนการศาลได้ทั้งสิ้น จะศาลไหนก็แล้วแต่การตั้งเรื่องอีกเช่นกัน

เอาอย่างเรื่องระบบรับราชการทหารโดยสมัครใจ ก็อาจถูกร้องว่าขัดต่อหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (5) การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นอาจถูกหาว่าขัดต่อหลักบูรณภาพแห่งดินแดนตามมาตรา 1 แถมอาจจะเผลอพ่วงข้อหาล้มล้างการปกครองรอบสองเข้ามาได้อีก ตราบใดที่ยังไปเห็นดีเห็นงาม หรืออย่างน้อยก็ยังคงมองการใช้มาตรการทางตุลาการมาใช้เป็นเครื่องมือตัดสินข้อพิพาทหรือความเห็นไม่ตรงกันในทางการเมือง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาการที่ผมเห็นเหมือนกับที่น.ส.ศิริกัญญาพยายามกลืนคำว่าอะไรสักคำลงคอนั้น แสดงว่าเธอรู้ตัวว่ากำลังจะพูดอะไรสักอย่างที่ทำให้เรื่องมันแย่ลง และเธอไม่คิดจะทำอะไรเช่นนั้นจริง กับทั้งในทางความเป็นจริงที่ว่า “ถ้าถึงวาระสามแล้วรัฐบาลไม่แก้ไข” ถึงจะไปร้องศาล (อะไรก็ไม่รู้) ก็อาจจะเบาใจได้ เพราะถึงอย่างไร กฎหมายงบประมาณนั้นกว่าจะไปถึงวาระสามนั้นต้องมีการแก้ไขกันพอสมควรแน่นอน และถ้าเป็นเช่นนั้น การนำไปร้องศาล (ศาลไหนก็ตาม) ก็จะไม่เกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ มิตรสหายท่านผู้อ่านในพรรคก้าวไกลที่กำลังอ่านอยู่ ซึ่งมั่นใจว่ามีแน่ๆ เพราะทุกครั้งที่เขียนอะไรในเชิงบวกถึงพรรคของท่าน ก็จะมีผู้นำไปแชร์หรือโพสต์อย่างชื่นชมให้ผมถูกนางแบกหรือสลิ่มจับไปแขวนประจานต่อเสียก็บ่อย เรื่องหลังนี่ไม่ว่ากัน แต่เรื่องประเด็นหลักนั้นอาจจะต้องขอร้องให้พิจารณารับเรื่องนี้ไว้ทบทวนหน่อย

ถ้าพวกท่านคิดจะ Breaking the cycle อุตส่าห์ไปคารวะรำลึกสรีรังคารคณะราษฎรที่วัดพระศรีมหาธาตุแล้ว ก็อย่าขับรถเพลินหลงที่วงเวียนบางเขน ขับมาทางแจ้งวัฒนะไปทางศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ส่วนจะเลี้ยวเข้าศาลปกครองหรือเลยไปทางอาคาร A ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่น่าไปทั้งนั้น เพราะแค่นี้รถก็ติดจะแย่อยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image