ของดีมีมาก แต่รู้จักไม่มากในคุณค่าของดี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ภาพจารึกศรีจนาศะ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากเว็บไซต์กรมศิลปากร)

การท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่ต้องเข้าใจตรงกันด้วยว่าประชาชนข้างบนหรือข้างล่าง? ในเมืองหรือบ้านนอก?

วัตถุดิบทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวมีจำนวนมาก ก็ต้องเข้าใจตรงกันด้วยว่า มีมากจริง แต่ไม่รู้เรื่องว่าแต่ละอย่างคืออะไร? มาจากไหน? มาอย่างไร? มาเมื่อไร? มาทำไม? แล้วจะขายใคร? ขายยังไง? เคยสำรวจตรวจสอบตนเองหรือยัง?

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่น เร่งทำแผนบูรณาการการท่องเที่ยวของเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนนั้น 

ในส่วนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีการทำงานบูรณาการร่วมกันมาอยู่แล้ว เพราะ วธ. ถือว่ามีวัตถุดิบจำนวนมากที่จะให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งสถานที่ ประเพณี โบราณสถาน เป็นต้น 

Advertisement

ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็นำวัตถุดิบดังกล่าวใช้ในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ 

(ที่มา : มติชน ฉบับวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 หน้า 11)

(1.) เป็นเรื่องจริงที่ว่า วธ. มีวัตถุดิบจำนวนมากเพื่อใช้ในกิจกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ สถานที่, ประเพณี, โบราณสถาน 

Advertisement

แต่ไม่มีคำอธิบายง่ายๆ ที่ให้ชาวบ้านทั่วไปรู้เรื่องวัตถุดิบจำนวนมากเหล่านั้น เพราะคำอธิบายของ วธ. รุ่มร่ามรุงรังด้วย “คำหลวง” หมายถึงศัพท์วิชาการชั้นสูง หรือ “ราชาศัพท์” สำหรับนักปราชญ์

เหล่านี้ไม่เหมาะกับกิจกรรมท่องเที่ยว

(2.) เป็นเรื่องจริงที่ว่าการท่องเที่ยวไทยใช้วัตถุดิบดังกล่าวเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ

แต่วัตถุดิบท่องเที่ยวยังมีอีกไม่น้อยที่ไกลหูไกลตา หรือถูกทำให้หดหายจากความทรงจำ เช่น เมืองอโยธยา, เมืองเสมา ฯลฯ

1.เมืองอโยธยา อ. เมืองฯ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองเก่าของอยุธยา และเก่าแก่กว่าสุโขทัย นอกจากนั้นยังเป็นเมืองเริ่มแรกของคนไทย เป็นเมืองเริ่มแรกของเถรวาท แบบลังกา (นับถือรามเกียรติ์)

มีนิทานความเป็นมาเพื่อใช้ “ขาย” การท่องเที่ยวได้ดีอย่างยิ่ง ได้แก่ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง-เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นต้น แต่ วธ. ไม่โปรโมต, ไม่อธิบาย, ไม่เคลื่อนไหว

2.เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ.นครราชสีมา กรมศิลปากร (วธ.) ให้นักโบราณคดีสำรวจและขุดแต่งไว้ดีมากตั้งแต่ พ.ศ. 2533 และ 2542 พบหลักฐานสำคัญมากๆ

แต่ วธ. ไม่พิมพ์หนังสือรายงานการขุดค้นขุดแต่ง, ไม่มีเอกสาร, ไม่ตีฆ้องร้องป่าวว่าสำคัญอย่างไร? เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยตรงไหน? ฯลฯ

เมืองเสมามีชื่อในจารึกว่า “ศรีจนาศะ” เป็นเมืองเก่าแก่มากราว พ.ศ. 1000 (1,500 ปีมาแล้ว) เป็น “เมืองแฝด” กับเมืองศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) ผังเมืองแบบเดียวกันวัฒนธรรมเดียวกัน แต่เมืองเสมามีหลักฐานสำคัญยืนยันเรื่องต้นทางความเป็นไทย ดังนี้

(1.) ศูนย์กลางของชาวสยามหลายชาติพันธุ์อยู่ปนกัน โดยพูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง ใช้สื่อสารระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ ซึ่งปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และชำนาญ ทอผ้าไหม

(2.) ศูนย์กลางของชาวสยามที่มีภาพสลักอยู่ปราสาทนครวัด “เสียมกุก” (พ.ศ. 1650)

(3.) ศูนย์กลางเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง (พ.ศ.1750) ได้พระแสงขรรค์ชัยศรีจากกษัตริย์เขมร (นครธม) แล้วเป็นมรดกตกทอดถึงเมืองอโยธยา-อยุธยา

(4.) ต้นตอเพลงโคราช, สำเนียงโคราช ซึ่งเป็นสำเนียงชุดหนึ่งของอโยธยา-อยุธยา

(5.) เป็นนครราชสีมาเมืองแรก (ก่อนย้ายไปอยู่ “เมืองใหม่” ตัวจังหวัดนครราชสีมาปัจจุบัน)

ทั้งหมด “ขาย” การท่องเที่ยวได้สบายมาก และมีการคมนาคมสะดวกมากตามถนนมิตรภาพ ก่อนเข้า “โคราชสีมา”

น่าประหลาด วธ. ไม่ไยดี แล้วปล่อยเมืองเสมาตามยถากรรม 

เสียโอกาสของชาวสูงเนิน, ชาวนครราชสีมา รวมทั้งคนไทยก็เสียโอกาสในการเข้าถึงหลักฐานประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image