สถานีคิดเลขที่ 12 : ฉากต่อ 200 ส.ว.

เดินหน้าจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับประเทศ ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี ในวันที่ 26 มิถุนายน

โดยมีผู้สมัคร ส.ว. ที่ผ่านด่านการเลือกระดับจังหวัด 2,995 คน เข้ามาชิงชัยในระดับประเทศ เพื่อให้ได้เป็น 200 ส.ว.ชุดใหม่ จาก 20 กลุ่มอาชีพ และสำรองอีก 100 คน

ไฮไลต์สำคัญ วันเลือก ส.ว.ระดับประเทศ เริ่มตั้งแต่ผู้สมัคร ส.ว. ทั้ง 2,995 คน ต้องเดินทางมารายตัวที่อาคาร อิมแพคฟอรั่ม ให้ทันก่อนเวลา 09.00 น.

หากมาสายแม้แต่นาทีเดียวจะต้องถูกตัดสิทธิ แพ้ฟาวล์ตั้งแต่แรก จึงอยู่ที่การบริหารจัดการของผู้สมัครแต่ละคน ต้องเตรียมตัวมาให้พร้อมทั้งเรื่องที่พักและการเดินทางมา สถานที่เลือก ส.ว.

Advertisement

แต่ฉากทัศน์ ที่หลายฝ่ายจับตา คือ ผลการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ ทั้ง 200 คนว่า หน้าตาออกมาแบบใด จากผู้สมัครที่มีชื่อเสียง บิ๊กเนม จากกลุ่มอาชีพต่างๆ

ที่มีทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. อดีต ส.ว. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการ ผู้แทนภาคประชาสังคม นักกิจกรรมทางสังคม

จะผ่านด่านมานั่งทำหน้าที่ วุฒิสมาชิก ของฝ่ายนิติบัญญัติ ออกมาในสัดส่วนใด หากดูจากที่มาของผู้สมัครแต่ละคน จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ

Advertisement

พบว่า มีทั้งกลุ่มที่ยึดโยงกับพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองท้องถิ่น กลุ่มที่มีทรัพยากร กลุ่มอิสระที่ยึดโยงกับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ว.

ท่ามกลางกระแสข่าว ทั้ง ฮั้ว บล็อกโหวต ขอคะแนน ลงสมัครแต่ไม่ได้หวังเป็น ส.ว. แต่ลงสมัครเพื่อมาเป็น โหวตเตอร์ เลือกบุคคลตามเป้าหมายที่มีการวางตัวมาไว้ตั้งแต่ต้น

ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้จัดการเลือก ส.ว. จะต้องดำเนินการให้การเลือก ส.ว. ออกมาสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ

แม้เลขาธิการ กกต. จะยอมรับว่า พบความเคลื่อนไหวในการทุจริตเลือก ส.ว. 4 รูปแบบ แม้จะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในการตรวจสอบ

เนื่องจากมีพฤติกรรม แบบ White Collar Crime หรือ อาชญากรรมคอปกขาว คือ ผู้กระทำเป็นผู้ที่มีความรู้ มีอำนาจ มีทุน ยิ่งถ้าเป็นการเมืองก็จะมีเครือข่ายมีผู้สนับสนุน

แต่ กกต. ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้วุฒิสมาชิก มาทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในห้วง 5 ปี นับจากนี้

เพราะ ส.ว.ทั้ง 200 คน หากออกมาในสัดส่วนที่ได้ผู้สมัครกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง มาทำหน้าที่ ส.ว.เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ย่อมจะส่งผลต่อฉากทัศน์และโครงสร้างทางการเมืองในอนาคต

เนื่องด้วย ส.ว. ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณาการออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอำนาจการแต่งตั้งองค์กรอิสระ อาทิ กกต. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งล้วนมีผลและนัยยะต่อทางการเมืองในทุกระดับ

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ภาคประชาชนหวังว่า จะได้ ส.ว.ที่มาจากกลุ่มอิสระที่ยึดโยงกับฝ่ายประชาธิปไตย ในสัดส่วนที่มากพอ อย่างน้อย 67 คน

เข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ซึ่งอยู่ที่ผู้สมัคร ส.ว.ทั้ง 2,995 คน จะเป็นผู้กำหนด ฉากทัศน์ ของ ส.ว.ทั้ง 200 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image