ชายหาดงาปะลี กองทัพอาระกัน และเสถียรภาพของ SAC โดย ลลิตา หาญวงษ์

ภาพที่เป็นที่ฮือฮาและถูกแชร์ต่อๆ กันมากมายในโซเชียลมีเดียของพม่าหลายวันที่ผ่านมาเป็นภาพของกองทัพอาระกันยกธงบนชายหาดแห่งหนึ่ง เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “โอ้ นี่มันภาพอะไรกันนี่ ธง (ของกองทัพอาระกัน) โบกสะบัดเหนือหาดงาปะลี”

หาดงาปะลีเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดในพม่า เทียบกับของไทยน่าจะเป็นพัทยา ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองตาน-ดเว (Thandwe) ในรัฐยะไข่ตอนใต้ ห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศตะวันตก ราว 400 กิโลเมตร แม้อาจจะไกลจากเมืองหลวงเก่า แต่นักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนที่งาปะลีส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางระดับบนและคนที่มีเงิน เพราะนอกจากจะต้องขึ้นเครื่องบินภายในประเทศไปลงที่สนามบินตาน-ดเวแล้ว ราคาค่าที่พักที่งาปะลี ถือว่าสูง เพราะเป็นแหล่งโรงแรมและรีสอร์ตของมหาเศรษฐีในพม่า

ภาพของกองทัพอาระกัน หรือ AA ที่ยึดสนามบินตาน-ดเวและหาดงาปะลีไว้ได้ ผู้เขียนมีข้อสังเกต 3 ประเด็น ประเด็นแรก นี่เป็นครั้งแรกที่กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐประหารสามารถยึดสนามบินพาณิชย์ไว้ได้นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2021 ประเด็นที่สอง กองกำลัง AA มีความน่าสนใจเพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่มีปฏิบัติการ 1027 อันลือลั่นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ยังเป็นหนึ่งในกองกำลังที่กำลังต่อสู้กับ SAC หรือรัฐบาลทหารพม่าอย่างดุเดือดที่สุด ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา AA ยึดได้เมืองสำคัญๆ ในรัฐยะไข่และรัฐฉิ่นตอนใต้ไปแล้วเกือบ 10 แห่ง แม้ยังไม่สามารถยึดเมืองหลวงอย่างซิตตเว (Sittwe) ได้อย่างเป็นทางการ แต่ AA ก็เข้าใกล้ชัยชนะและสามารถยึดพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ริมมหาสมุทรอินเดียได้หลายเมือง

ประเด็นที่สาม ความสำเร็จของ AA ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ชัดเจนกว่ากองกำลังอื่นๆ มาก เพราะ AA ได้รับการสนับสนุนจากจีน พื้นที่ที่ AA ควบคุมในปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐานที่จีนไปลงทุนไว้มากมาย โดยเฉพาะท่อก๊าซที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียที่เมืองเจ้าผิ่ว (Kyaukpyu) ส่งตรงขึ้นไปถึงมณฑลยูนนาน ซึ่งถือว่าเป็น “ไข่ในหิน” ที่จีนหวง และที่ผ่านมาทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่ที่ท่อก๊าซจีนพาดผ่าน การเติบโตของ AA แบบก้าวกระโดดสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

Advertisement

ต้องยอมรับว่าหัวใจของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ EROs (Ethnic Resistance Organisations) คือเงินและอาวุธ กองกำลังใดที่เข้าถึงทรัพยากรทั้งสองได้ก็มีโอกาสยืนระยะและต่อสู้กับกองทัพพม่าได้เข้มข้นมากกว่า บทเรียนจากพันธมิตรสามภราดรภาพทำให้เราเห็นว่าเมื่อกองกำลังได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธ (ในกรณีคือจากจีน) และมีเงินสนับสนุนจากธุรกิจทั้งบนดินและใต้ดิน ก็จะทำให้กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เข้มแข็งขึ้นมาอย่างชัดเจน จีนเองก็เข้าใจจุดนี้ดีและลงทุนค่อนข้างมากกับกองกำลังที่อยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของตนเอง

สนามบินตาน-ดเวเป็นหนึ่งในสนามบินพาณิชย์ 4 แห่งในรัฐยะไข่ การสู้รบใกล้หาดงาปะลี
และสนามบินตาน-ดเว เท่ากับกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวที่หาดงาปะลีได้ ทำให้รีสอร์ตและที่พักในหาดและพื้นที่รอบข้างจะได้รับผลกระทบ ในขณะนี้ ฝ่ายกองทัพพม่ากับ AA ไม่ได้ออกมาให้ข่าวที่ชัดเจนว่ามีการสู้รบในพื้นที่ใด และฝ่ายต่อต้านยึดสนามบินตาน-ดเวได้แล้วหรือไม่ แต่ผู้เขียนมองว่าเมื่อมีข่าวออกมาว่า AA ยึดพื้นที่รอบข้างและในบริเวณหาดงาปะลีได้แล้ว เท่ากับว่ากองทัพพม่าก็จะขาดเส้นทางลำเลียงอาวุธจากเขตอิระวดีในพม่าตอนล่างและรัฐฉานตอนล่างขึ้นไปส่งให้กองกำลังของตนเองในพื้นที่อื่นๆ ในรัฐยะไข่

มีคำถามต่อว่าการยึดสนามบินตาน-ดเวได้อาจไม่มีผลต่อกองทัพพม่าอย่างที่คิด เมื่อพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์ ตานดเวและงาปะลีล้อมรอบด้วยภูเขา มีถนนเข้าสู่พื้นที่นี้อยู่ 2 เส้น ทำให้การส่งกำลังเข้าไปที่ตาน-ดเวทางบกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกองทัพพม่าก็จะถูกฝ่ายต่อต้านซุ่มโจมตีจากภูเขา นอกจากนี้ การส่งกำลังเข้าไปในฤดูฝนก็ไม่เป็นประโยชน์กับกองทัพพม่านัก เพราะทัศนวิสัยจำกัด

Advertisement

การสู้รบในยะไข่ใต้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนัก เพราะกองทัพพม่าใช้การโจมตีทางอากาศในเวลากลางคืน ต่อเนื่องนับสัปดาห์เพื่อกันไม่ให้ AA ยึดพื้นที่ใกล้หาดงาปะลีและสนามบินตาน-ดเวได้ ในความเป็นจริง หาดงาปะลีด้วยตัวเองไม่ได้เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในทางทหาร แต่ในทางเศรษฐกิจ ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยว ตาน-ดเวกับงาปะลีมีความสำคัญ เพราะมีนักธุรกิจมากมายเข้าไปลงทุนสร้างโรงแรมและรีสอร์ต นักธุรกิจจำนวนมากมีสายสัมพันธ์กับกองทัพพม่าและ SAC แม้แต่ลูกชายของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ก็มีธุรกิจโรงแรมที่หาดงาปะลีเช่นกัน หาดงาปะลีมีโรงแรมรวมๆ กันกว่า 60 แห่ง โรงแรมขนาดใหญ่ที่สุดหลายแห่งเป็นการลงทุนของ “โครนี่” หรือนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพพม่า ที่ไม่ได้เพิ่งร่ำรวยขึ้นในยุคของ SAC แต่เริ่มสะสมทุนและสร้างคอนเน็กชั่น
ของตนเองมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารภายใต้ SLORC และ SPDC ตั้งแต่ปี 1988

เรียกได้ว่านักธุรกิจและมหาเศรษฐีชั้นนำในพม่าต่างต้องมาลงทุนที่งาปะลี แน่นอนว่านักธุรกิจกลุ่มนี้ล้วนมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย และผู้นำในกองทัพ นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดกองทัพพม่าพยายามรักษาฐานที่มั่นของตนเองที่หาดงาปะลีเอาไว้ แม้จะไม่ได้มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์เท่ากับพื้นที่อื่นๆ ในรัฐยะไข่ สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีที่แนวรบด้านตะวันตก ทำให้กองทัพพม่าต้องส่งกำลังเสริมจากปฏิบัติการอ่องเซยะ ที่ถูกส่งเข้าไปในเมืองเมียวดี เมื่อครั้งเกิดเหตุไม่สงบขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน มาช่วยกองกำลังในรัฐยะไข่รักษาที่มั่นรอบๆ หาดงาปะลี

การยึดหาดงาปะลีได้เท่ากับ AA มีอำนาจในการเจรจากับนักธุรกิจคน/กลุ่มสำคัญๆ ในพม่า แต่ท้ายที่สุด ผู้เขียนมองว่า AA จะไม่สามารถกดดันนักธุรกิจเหล่านี้ได้มากนัก เพราะทุกคนมีกิจการอื่นๆ การสูญเสียธุรกิจที่งาปะลีไปย่อมสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้ แต่ไม่ได้หมายความว่านักธุรกิจที่สนับสนุนกองทัพพม่าจะหันไปให้การสนับสนุนกองกำลังอย่าง AA

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image