ที่เห็นและเป็นไป – กระแสสั่นสะเทือนไทย

ที่เห็นและเป็นไป – กระแสสั่นสะเทือนไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 ปรากฏการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นระดับสั่นสะเทือนประเทศไทย

เปล่า! ไม่ใช่เรื่องราวที่ยิ่งนับวันยิ่งสะท้อนความเน่าเฟะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เหม็นคลุ้งขนาดนี้แล้วยังมองไม่เห็นผู้มีหน้าที่เข้าไปเก็บกวาด หาทางเคลียร์ขยะที่อุจาดตามาเนิ่นนานทั้งหลายนั้นให้พ้นไปจากความกระอักกระอ่วนชวนอาเจียนของชาวบ้านร้านตลาดที่ต้องทนรับรู้อย่างไม่รู้จะหลีกเลี่ยงได้กันเสียที

และไม่ใช่ปฏิบัติการของขบวนการกวาดล้างความเห็นต่างที่ถึงคิว “พรรคก้าวไกล” อีกครั้ง

Advertisement

ด้วยปรากฏการณ์อีหรอบนี้ ประชาชนรับรู้ด้วยประสบการณ์ว่าทำอะไรไม่ได้ นอกจากยอมรับชะตากรรมแล้วรอเวลาเมื่อถึงโอกาสที่เปิดให้แสดงออก

2 เรื่องที่สะท้านสะเทือนระดับต้องอ้าปากค้างกับผลที่เกิดขึ้นคือ หนึ่ง ผลการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน กับสอง MV ROCKSTAR ของลิซ่า-ลลิษา มโนบาล

ในเรื่องหลัง 07.00 น.เวลาในประเทศไทย มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวออนไลน์พร้อมกันทั่วโลก ทันทีทันใดนั้นยอดคนเข้าไปดูถล่มทลายขึ้นสู่หลักล้าน และขยายเป็นหลายล้านในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมๆ กับการพูดถึงในทุกช่องทางการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ อันเป็นการยืนยันของความสำเร็จล้นหลาม ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไปทั้งโลก

Advertisement

แต่ที่บอกว่าปรากฏการณ์นี้สั่นสะเทือนประเทศไทยคือ ทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นปรากฏการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ให้บทเรียนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดสำหรับ “ซอฟต์พาวเวอร์” ตั้งแต่การให้รับรู้ถึงนิยาม หรือความหมายของพลังสร้างสรรค์ชนิดนี้ ไปกระทั่งให้เห็นถึงสาระ รูปธรรมที่ขับเคลื่อนพลังให้ทั้งโลกได้สัมผัส รับรู้ วิธีการทำให้เกิดขึ้น และนำเสนอ

ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการเรียนรู้ว่า “การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์” หากติดตาม กระบวนการจัดการ MV ชุดนี้ของลิซ่าอย่างใส่ใจการเตรียมและนำเสนองานทุกขั้นตอน จะพบว่าเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่ากับในทุกมิติและขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนจัดการ ถ่ายทำ ค่อยโปรโมต เนื้อหาที่สร้างราคาให้กับอะไรต่ออะไรในไทยให้เป็นที่รับรู้ของชาวโลกอย่างมากมาย

หากจะพูดว่าอ่านตำราเล่มหนา ยังมองไม่เห็นและเข้าใจในศาสตร์นี้เท่ากับพินิจกระบวนการของ MV LISA อย่างพิเคราะห์

ที่ฝากไว้เป็นความหวังคือ ผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้จะใช้ความสั่นสะเทือนของปรากฏการณ์นี้ให้เห็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมได้หรือไม่

กลับไปที่เรื่องแรก “ผลการเลือก 200 ส.ว.ชุดใหม่”

หากจะสร้างหนังสักเรื่องที่ใช้ “การออกแบบเกมอำนาจ” มาสะท้อน “สันดานดิบของมนุษย์” โดยมีฉากประกอบเป็นความเหลวแหลกของการเมืองประเทศด้อยพัฒนา ที่นักการเมืองมุ่งไปที่ชัยชนะและการควบคุมอำนาจมากกว่าคุณภาพของสถาบันที่มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศ

การเลือกตั้ง ส.ว.เป็นเรื่องราวที่นำไปพล็อต และเขียนบทให้สะท้อนตามโครงเรื่องนั้นได้อย่างลึกซึ้งระดับรอรับรางวัลบทยอดเยี่ยมได้ง่ายๆ

แต่นั่นก็ว่ากันไป ในที่นี้อยากจะนำเสนอแบบให้ “มีความหวังในซากปรักหักพัง”

กติกาการเลือก ส.ว.ที่บางคนพูดเต็มปากเต็มคำว่า “อุบาทว์” นี้ และสร้างความเลวร้ายให้กับการเมืองไทยอย่างรุนแรงนี้ เมื่อเป็นที่รับรู้กันว่าที่สุดแล้วไม่มีหน้าไหนจะทำให้ผลออกมาดีขึ้นได้ เพราะ “การยอมจำนนต่อกติกาที่ถูกออกแบบไว้ด้วยอำนาจบาตรใหญ่” ได้หยั่งลึกเป็น “สำนึกของคนส่วนใหญ่” โดยเฉพาะ “ผู้เกี่ยวข้องกับอำนาจ” ที่สะสมค่านิยม “อยู่เป็น” ให้เป็นจิตใต้สำนึกทั้งหลาย

อาจจะความเป็นจริงเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้ทุกคน “อยู่อย่างมีความหวัง”

อาจหวังไม่ได้กับบทบาทเชิง “ปริมาณ” ของ ส.ว.อีหรอบนี้

แต่จำเป็นต้องหวัง และเรียกร้อง “ส.ว.ในเชิงคุณภาพ”

การ “ยกมือโหวต” อาจจะหวังไม่ได้ แต่บทบาทของ ส.ว.ยังมีเรื่อง “คุณภาพของการอภิปราย”

ความชอบธรรมในการผ่านข้อพิจารณาแต่ละเรื่อง ไม่ได้มีเฉพาะ “จำนวนเสียงที่โหวตให้” แต่ “เหตุผลที่อธิบายถึงว่าควรคิดอย่างไรกับแต่ละเรื่องราว” น่าจะเป็น “ความชอบธรรมอย่างแท้จริง” มากกว่า เพราะเป็น “ความชอบธรรมในความรู้สึก นึก คิดของประชาชน”

ใช้ “เหตุผลที่มีคุณภาพมากกว่า” สู้กับ “ปริมาณของเสียงโหวต”

ในระยะสั้นอาจจะสู้ไม่ไหว แต่น่าจะมีคำตอบชัดขึ้นว่าระหว่าง “ปริมาณของมือ” กับ “คุณภาพของเหตุผล” ในทางยาวในพัฒนาการของอำนาจประชาชนที่ปฏิเสธได้ยากขึ้น

ใครจะยึดครองชัยชนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image